เนื้อหาวันที่ : 2009-03-12 11:19:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3834 views

ภาคอุตสาหกรรมกับความรับผิดชอบทางสังคม (CSR)

กระแส CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอุตสาหกรรมหรือองค์กร กำลังเป็นกระแสมาแรงที่ทุกองค์กรจะต้องรู้จักและตระหนักในความรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องมือที่จะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนแก่องค์กรธุรกิจโดยตรง

.

CSR หรือชื่อเต็ม Corporate Social Responsibility หมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอุตสาหกรรมหรือองค์กร ถูกนิยามขึ้นมาจากรากฐานว่า ชุมชนหรือสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ใช่จำกัดเฉพาะลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน หรือผู้ส่ง-ป้อนวัตถุดิบเท่านั้น

 

ซึ่งการดำเนินธุรกิจมักเกิดปัญหาทางสังคมหรือช่องว่างระหว่างความคาดหวังของสังคมกับปฏิบัติการทางสังคมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปัจจุบัน แม้ว่าการปฏิบัติการทางสังคมของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมมีการปรับขยายเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความคาดหวังของสังคม จึงยังผลให้เกิดช่องว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ          

.

CSR กำลังมาแรงเป็นกระแสไฟลามทุ่ง หรือคลื่นลูกใหม่ที่ทุกองค์กรจะต้องรู้จักและตระหนักในความรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับใดก็ตาม           

.

CSR ไม่ใช่การกระทำแบบเศรษฐีใจบุญระดับต่างๆ ที่บริจาคเงินส่วนตัวหลายพันหลายหมื่นล้าน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือตั้งกองทุนสาธารณกุศลต่างๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน                

.

CSR จึงเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนแก่องค์กรธุรกิจโดยตรง เพราะธุรกิจต้องรับรู้ว่าการที่สังคมหลากหลายมากขึ้น ผู้บริโภคและกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมมีความรู้ และยังมีความจำเป็นในการดำรงชีพต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพอนามัยการศึกษา ความปลอดภัย แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

.

ตลอดจนจริยธรรมต่างๆ ที่มีการสื่อสารกันอย่างทั่วถึงและแพร่หลายอย่างีวดเร็วในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นระบบกติกาต่างๆ ก็เริ่มมีลักษณะการควบคุมข้ามพรมแดนในรูปสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือข้อกำหนดในเรื่องการส่งออกและนำเข้ามากขึ้นภายใต้กรอบกติกาการค้าต่างๆ         

.

การทำ CSR เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อยอดจากพื้นฐานความรับผิดชอบทั่วไปที่องค์กรธุรกิจควรมี 4 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ 2.กฎหมาย 3.จริยธรรม 4.สาธารณกุศล ซึ่งสิ่งที่สังคมต้องการจากองค์กรคือความรับผิดชอบขององค์กรในด้านเศรษฐกิจและกฎหมาย ส่วนด้านจริยธรรมและสาธารณกุศลเป้นสิ่งที่สังคมคาดหวังจะได้รับจากองค์กร ดังนั้น การทำ CSR ของแต่ละองค์กรจะต้องเริ่มจาความรับผิดชอบให้ครบทั้ง 4 ด้านข้างต้น

.

องค์ประกอบหลักของ CSR มีหลัก 4 ประการ ดังนี้

1.สังคม ได้แก่ พื้นที่ที่องค์กรแสดงความรับผิดชอบ แบ่งเป็นสังคมภายในองค์กร (เจ้าของ ผู้ถือหุ้น พนักงาน) สังคมใกล้องค์กร (คู่ค้า ลูกค้า ภาครัฐ) สังคมในวงกว้าง (สังคม ชุมชน คู่แข่ง) การแบ่งมิติทางสังคมขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร ได้แก่ ผู้ประกอบการ พนักงาน ลูกค้า ภาครัฐ ชุมชน คู่แข่งทางธุรกิจ องค์กรสาธารณกุศล

3.ประเด็นของสังคม ได้แก่ สิ่งที่สังคมให้ความสนใจสามารถจัดแบ่งได้ตามมาตรฐานหรือแนวทางที่สังคมทำอยู่

4.แนวทางในการทำ CSR มี 7 แนวทาง ได้แก่

  • การส่งเสริมประเด็นทางสังคมและองค์กรสาธารณกุศลให้เป็นที่รู้จัก (Cause Promotion)
  • การส่งเสริมสังคมจากการทำตลาด (Cause-Related Marketing)
  • การตลาดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคม (Corporate-Social Market) ในด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การบริจาคหรือการให้ (Corporate Philanthropy) เป็นการให้อย่างมีกลยุทธ์ หรือส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กร
  • อาสาสมัครชุมชน (Community Volunteering)
  • การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsible Business Practices)
  • แนวทางอื่นๆ เพื่อเทิดทูนสถาบันศาสนา เช่น ราชาชาตินิยม-ทำดีให้พ่อดู/ทำดีเพื่อพ่อหรือ CSR ทางศาสนา เช่น เลิกเหล้าเข้าพรรษา/เลิกเหล้าเลิกจน/กฐินปลอดเหล้า เป็นต้น
ความสำคัญและประโยชน์ของ SCR

UNIDO มีบทบาทกระตุ้นองค์กรธุรกิจในการทำ CSR อย่างจริงจัง โดยยกเหตุผลในด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน และการทำ CSR มีข้อดี 9 ประการคือ

  1. การบริหารความน่าเชื่อถือ
  2. การบริหารความเสี่ยงที่ยากจะคาดเดา
  3. การคัดเลือกพนักงานใหม่เข้าทำงาน
  4. ความสัมพันธ์กับนักลงทุน และการเข้าถึงแหล่งทุน
  5. การเรียนรู้และนวัตกรรม
  6. ความสามารถกำหนดตำแหน่งการแข่งขันในตลาด
  7. ประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้น
  8. การยอมรับของสังคม
  9. มีโอกาสทำธุรกิจมากขึ้น            
ข้อควรพิจารณา

ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติมีส่วนทำให้ CSR เป็นเครื่องมือสำคัญผ่านเครือข่าย Supply Chain จนกลายเป็นมาตรฐานของธุรกิจ CSR ถูกออกแบบมาสำหรับกระตุ้นการแข่งขันและการทำกำไร และ CSR จะดีแค่ไหนก็ไม่ควรเป็นของฟุ่มเฟือยทางธุรกิจ แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันบนกรอบกติกาการค้าเสรี (FTA) ที่จะมีเงื่อนไข CSR มาเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย เพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าก็มักจะมีมาตรการ NTBs ต่างๆ มาเป็นค่ากำหนดเงื่อนไขสกัดการแข่งขัน           

.

แนวทางการจัดทำ CSR

ในทุกองค์กรสามารถทำ CSR ได้ตามความเหมาะสมกับสถานภาพ โดยเริ่มจากการพิจารณาถึงผลกระทบของสิ่งที่องค์กรกำลังขับเคลื่อนอยู่ว่าส่งผลกระทบกับพื้นที่ไหน ใครบ้างมีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นทางสังคมคืออะไร จะใช้แนวทางใดในการทำ CSR เพื่อกำหนดแผนการทำ CSR ขององค์กรได้อย่างเป็นระบบ เกิดความเชื่อมโยงทุกฝ่าย

.

สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและเป้าหมายธุรกิจขององค์กรได้ (Win-Win Approach) และต้องตามดูกันว่าภาครัฐจะกำหนดแนวทางการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอย่างไรบ้าง หรือภาคธุรกิจเองจะพัฒนา CSR จากแรงกดดันจากภายนอกอันเนื่องมาจากมาตรฐานต่างๆ ที่คู่ค้าสรรหามาใช้ (บีบ)

.

หรือจะเป็นเพราะความเข้าใจของภาคธุรกิจที่มองเห็นว่าการทำบุญทางสังคมด้วย CSR อย่างสมัครใจและมีแรงศรัทธาที่แท้จริงเป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนักภายใต้จิตสำนักรับผิดชอบต่อสังคมที่ดี และภาครัฐต้องกำหนดแนวทางพัฒนารองรับ ซึ่งน่าจะได้เห็นภายในอนาคตอันใกล้