เนื้อหาวันที่ : 2009-03-09 19:38:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1142 views

พาณิชย์ หารือสหรัฐฯ กล่อมใช้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าแบรนด์เนมสู่ตลาดโลก

พาณิชย์ รัฐบาลมาร์คษิโณมิกซ์ ฝัน เตรียมเดินทางไปอ้อนสหรัฐฯ เสนอโครงการ"ไทยแลนด์ โมเดล" เพื่อหาทางให้นักลงทุนสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าแบรนด์เนม และร่วมกันพัฒนาการผลิตและทำตลาดสินค้าแบรนด์เนมสู่ตลาดโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-17 มี.ค.นี้ จะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อพบปะกับภาครัฐบาลและเอกชนของสหรัฐฯ โดยจะใช้โอกาสนี้เสนอโครงการ"ไทยแลนด์ โมเดล" เพื่อหาทางให้นักลงทุนสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าแบรนด์เนม และร่วมกันพัฒนาการผลิตและทำตลาดสินค้าแบรนด์เนมสู่ตลาดโลก

 .

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์

 .

ที่ผ่านมา ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับสินค้าแบรนด์เนมสำคัญๆ ของสหรัฐฯ อยู่แล้ว เช่น แฟชั่น, เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องหนัง, อัญมณีและเครื่องประดับ โดยขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าแบรนด์เนมสำคัญของโลก และไม่ต้องการให้ไทยเป็นเพียงแค่ฐานการผลิต แต่ต้องการให้ประเทศที่เป็นเจ้าของแบรนด์เนมมาช่วยไทยในการพัฒนาในเรื่องการสร้างแบรนด์  ซึ่งจะมีการหารือแนวคิดในเรื่องนี้กับทางยุโรป และญี่ปุ่นต่อไปด้วย

 .

นอกจากนี้ จะเดินทางไปพบปะกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งไทยจะชี้แจงถึงแนวนโยบายในการดำเนินการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมีการดำเนินการอย่างเข้มงวด และรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญโดยมีคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

.

"จะชี้แจงให้ USTR เห็นถึงความจริงใจของไทยในการดำเนินการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาสถานะประเทศไทยภายใต้กฎหมายมาตรา 301 พิเศษ อย่างเป็นธรรม ส่วนภาคเอกชนสหรัฐฯ ก็จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะข้อมูลที่เอกชนสหรัฐฯ มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเก่า" รมช.พาณิชย์ กล่าว พร้อมกับไม่คาดหวังว่า USTR จะปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) โดยเชื่อว่าปีหน้าโอกาสที่ไทยจะถูกปรับลงมาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) เป็นไปได้สูง ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังทำงานอยู่    

.

ส่วนประเด็นปัญหาการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) จะมีการชี้แจงให้ USTR ทราบว่าการใช้ CL ยาของไทยที่ผ่านมาสอดคล้องกับกฎหมายของไทยและกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่ผู้ผลิตยาในสหรัฐฯ ให้ข้อมูลกับทาง USTR โดยไทยยืนยันและถือเป็นนโยบายว่าจะให้มีการหารือระหว่างเจ้าของสิทธิ์ กับหน่วยงานของรัฐก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ออกมา และยึดหลักความชัดเจน โปร่งใส

.

รมช.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ไทยจะขอความชัดเจนจาก USTR เรื่องการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ได้ยุติการเจรจามาแล้วกว่า 2 ปี ว่าสหรัฐฯ มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นการหยั่งท่าทีในเบื้องต้น

.

รวมไปถึงจะหารือให้สหรัฐฯ คงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับสินค้าไทย 3,400 รายการ ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.52 และคืนสิทธิ GSP สินค้าไทย 6 รายการ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, มะละกอแปรรูป, และทองแดงบริสุทธิ์ที่จะถูกตัดสิทธิ GSP เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% แต่สินค้าเหล่านี้ไม่มีผลิตในสหรัฐฯ และไม่มีประเทศอื่นส่งเข้าไปแข่งขัน