เนื้อหาวันที่ : 2009-03-06 18:21:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1268 views

ภาคเอกชนเตรียมใช้ช่อง กรอ.เสนอรัฐอุทธรณ์คำสั่งเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด

ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเสนอรัฐบาลอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยองที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษพื้นที่มาบตาพุด เพื่อชะลอการบังคับ หลังกระทบลงทุน เสนอให้ศึกษาแผนควบคุมมลพิษที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเตรียมใช้ช่องทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) เสนอให้รัฐบาลอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองจังหวัดระยองที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อชะลอการบังคับใช้ตามคำสั่งทันที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน พร้อมทั้งเสนอให้มีการศึกษาแผนควบคุมมลพิษที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

 .

"จะมีการนำผลการหารือในครั้งนี้ไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ในวันจันทร์นี้ เพื่อเตรียมนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อร่วมหารือกันอีกครั้ง" นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลัง กกร.ร่วมหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) 

 .

รองประธาน ส.อ.ท.ยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ชะลอการบังคับใช้ตามคำสั่งของศาลปกครอง หรือให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีการอุทรณ์ เพื่อให้มีระยะเวลาในการตั้งคณะกรรมการศึกษาถึงปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดในระดับประเทศก่อน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาเกี่ยวกับมลพิษซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะได้วางแผนและตัดสินใจดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ 

.
"หากผลการศึกษาออกมาว่า ระดับมลพิษที่มาบตาพุดแย่มาก คงจะไม่มีการให้ภาคอุตสาหกรรมขยายการลงทุนต่อไป แต่หากผลเป็นไปในทิศทางตรงข้าม คือ ระดับมลพิษลดลง จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดีมากขึ้นและสามารถขยายการลงทุนได้" นายพยุงศักดิ์ กล่าว 
.

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง ส่วนมากจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งบริษัทร่วมทุน 

.

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง ปี 50-54 ซึ่งมีโครงการย่อยถึง 70 โครงการ ทั้งโครงการระยะสั้น 1 ปี และโครงการระยะยาวไปจนถึงปี 54 โดยฝ่ายโรงงานและผู้เกี่ยวข้องมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมถึง 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ระดับมลพิษต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ทางการกำหนด และการลงทุนแต่ละครั้งของนักลงทุนได้พิจารณาถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม หากเป็นไปได้จะดูว่าเทคโนโลยีสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ามาตรฐานด้วย 

.

ด้านนางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้จัดทำแผนลดมลพิษก่อนดำเนินโครงการแล้ว ซึ่ง กนอ.จะนำผลการหารือในครั้งนี้ไปเสนอในระดับกระทรวง และยอมรับว่าหากเรื่องดังกล่าวไม่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยในส่วนของ กนอ.จะดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายและแผนควบคุมมลพิษต่อไป