เนื้อหาวันที่ : 2009-03-06 10:51:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2178 views

การเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อมในกรอบองค์การการค้าโลก

เมื่อเอ่ยถึงองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) หลายคนคงนึกถึงการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในการเจรจาในกรอบ WTO นั้นไม่ได้มีการเจรจาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเพียงอย่างเดียว การดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นการเจรจาที่อยู่ในความสนใจของประเทศสมาชิกเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเอ่ยถึงองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) หลายคนคงนึกถึงการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศในกรอบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่มีจำนวนมากถึง 151 ประเทศ โดยในปัจจุบัน WTO กำลังอยู่ในช่วงของการเจรจารอบโดฮา (Doha Round) ซี่งสมาชิกกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องรูปแบบของลดภาษีขอบเขตสินค้า และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาในกรอบ WTO นั้นไม่ได้มีการเจรจาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเจรจาเรื่องอื่นๆ ที่สมาชิกเห็นว่าเกี่ยวข้อง อยู่ในความสนใจ และน่าจะนำมาหารือในกรอบ WTO ซึ่งรวมถึงเรื่องของการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) เรื่องการลด/เลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับสินค้า/บริการสิ่งแวดล้อม ตาม Paragraph 31 (iii)

 

“With a view to enhancing the mutual supportiveness of trade and environment, we agree to negotiations, without prejudging their outcome, on the reduction or, as appropriate, elimination of tariff and non-tariff barriers to environmental goods and non-tariff barriers to environmental goods and services”

 

โดยกำหนดให้ที่คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม (Committee on Trade and Environment : CTE) จะต้องระบุรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอให้ Negotiating Group on Market Access : NGMA เจรจาจัดทำสูตรการลดภาษีต่อไป และหวังว่าการเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อมจะมีส่วนช่วยลดและบรรเทาปัญหาวิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องของการบริการสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้กลุ่มเจรจาการค้าบริการเป็นผู้ดำเนินการ

 

จากมติดังกล่าวข้างต้น มีผลให้ประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาลด/เลิกมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก WTO ยังไม่เคยมีการกำหนดคำนิยามหรือคำจำกัดความของสินค้าสิ่งแวดล้อมมาก่อน ช่วงแรกของการเจรจาจึงเป็นเรื่องของการหาคำจำกัดความของสินค้าสิ่งแวดล้อม ในช่วงแรกของการเจรจานั้น ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของคำจำกัดความหรือคำนิยามของสินค้าสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิกหลายประเทศได้พยายามเสนอข้อเสนอเพื่อหาทางออก

 

 อาทิ 1) เสนอให้เปลี่ยนจากการกำหนดคำนิยามสินค้าสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ในการกำหนดสินค้าสิ่งแวดล้อมไปเป็นการพิจารณาในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ (end use) โดยดูว่าสินค้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์นำใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และหากมีวัตถุประสงค์นำไปใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมจริง สินค้าดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้เพื่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

 

2) เสนอให้สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Production Processing Methods : PPMS) เป็นสินค้าสิ่งแวดล้อม และ 3) เสนอให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Preferably Products : EPPs) เป็นสินค้าสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่สามารถผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าไปได้เท่าใดนัก

 

ในช่วงปี 2548-2549 ถือเป็นช่วงที่การเจรจาเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยสมาชิกได้มีการเสนอแนวทางในการจัดทำสินค้าสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ทางหลักๆ ได้แก่

 

1. แนวทางแบบ List Approach ซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีนไทเป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ กาตาร์ และบราซิล ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าวจะให้แต่ละประเทศเสนอรายการสินค้าที่เห็นว่าเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า “List Approach” จากนั้นจึงนำรายการสินค้าทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ประเทศเหล่านี้เสนอมานั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว (Single use) เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ กระดาษกรอง เครื่องกรองน้ำ และเครื่องบด/ย่อยวัสดุ รวมถึงมีรายการที่ไม่ใช่สินค้าสิ่งแวดล้อมจริงๆ เช่น เครื่องซักผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เรือยาง และจักรยาน

 

2. แนวทางแบบ Project Approach ซึ่งเสนอโดยอินเดีย เป็นแนวทางที่ให้สิทธิพิเศษกับโครงการที่เข้ามาลงทุนด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าที่นำเข้ามาภายใต้โครงการเหล่านี้จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยมีคณะกรรมการ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายของประเทศนั้นๆ (Designated National Authority : DNA) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการต่างๆ ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางแบบ Project Approach นี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับมากนักโดยเฉพาะจากประเทศที่สนับสนุนแนวทางแบบ List Approach เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการตามแนวทางแบบ Project Approach อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องของความโปร่งใส (Transparency) และไม่สามารถคาดการณ์ (Predictability) การตัดสินใจของ DNA ได้

 

อย่างไรก็ตาม จากการที่แนวทางแบบ List Approach และ Project Approach มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้สมาชิกยังคงไม่สามารถตกลงและหาฉันทามติกันได้ ทำให้ล่าสุด (เดือนพฤศจิกายน 2550) ได้มีสมาชิกเสนอข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น อินเดียเสนอเอกสารเพิ่มเติมเรียกว่าแนวทาง Integrated Approach โดยหวังว่าจะสามารถหา middle ground ระหว่าง List Approach และ Project Approach ได้

 

ซึ่งเสนอให้มีการหารือและตกลงในเรื่องกิจกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental activities) ที่สมาชิกให้ความสำคัญ เช่น การควบคุมมลพิษและการบำบัดน้ำเสีย หลังจากนั้นให้ทำเป็น environmental activities list และให้ยื่นรายชื่อหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน (entities) ที่ดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และอาจมีการเจรจาใน list of entities ก่อนที่จะแจ้งต่อ WTO รวมทั้งรายการสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดจะได้รับการลดภาษีนำเข้า

 

โดยประเทศพัฒนาแล้วอาจลดภาษีเป็นร้อยละ 0 และประเทศกำลังพัฒนาลดภาษีน้อยกว่า รวมถึงเสนอให้จัดตั้งระบบ Post-Audit เพื่อตรวจสอบการใช้สินค้าว่าได้มีการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ในส่วนของบราซิลเสนอแนวทางใหม่ที่เรียกว่า Request-Offer Approach ซึ่งสมาชิกจะมีการเจรจาในส่วนของรายการสินค้าระหว่างกัน โดยอาจเป็นในรูปของทวิภาคและพหุภาคี และมีการจำกัดจำนวนรอบของการเจรจา

 

ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้บราซิลได้เสนอให้สินค้าสิ่งแวดล้อมครอบคลุมไปถึง Bio-fuels และสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) และให้สมาชิก WTO นำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ในการ certify สินค้าเกษตรอินทรีย์ในอนาคต ซึ่งจะแก้ไขปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barriers : NTBs) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

 

นอกจากข้อเสนอของอินเดียและบราซิลแล้ว ยังมีข้อเสนอของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุม WTO ให้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากสินค้า 43 ชนิดที่ธนาคารโลกกำหนดให้เป็นสินค้าที่เป้นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้เสนอนโยบานเศรษฐกิจด้านอื่นที่ครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม

 

เช่น การเก็บภาษี carbon tax หรือ climate tariff สำหรับสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีพิธีสารเกียวโต เพื่อไม่ให้สินค้าที่ผลิตใน EU เสียเปรียบจากการที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าที่ใช้วิธีการผลิตหรือใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

และการทบทวนกฎเกณฑ์ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right : IPR) เพื่อทำให้การค้าเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสะดวกขึ้น เป็นต้น แม้จะมีความพยายามมากมายจากประเทศสมาชิกที่จะหาทางออกในเรื่องของการเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อม แต่จนถึงปัจจุบันสมาชิกก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใช้แนวทางอื่นๆ อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2551 นี้ การเจรจาน่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเจรจาที่จะชัดเจนขึ้นในอนาคต

 

ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้มีการนำประเด็นเรื่องสินค้าสิ่งแวดล้อมเข้าหารือกันอย่างจริงจังเช่นกัน โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้แทนไทยในการเจรจาการค้าในกรอบ WTO ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องสินค้าสิ่งแวดล้อมของไทย

 

โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุจสาหกรรมได้ดำเนินการจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการิจารณาว่า ข้อเสนอแนวทางการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมแนวทางไหนจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทิศทางการเจรจาเปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อมในกรอบ WTO จะเป็นไปในแนวทางหรือทิศทางใด