เนื้อหาวันที่ : 2009-03-05 15:29:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2760 views

ก้าวต่อไปการแก้ปัญหามลพิษ "มาบตาพุด" หลัง "คำพิพากษา"

ศาลปกครองระยองมีคำตัดสินว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” และพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด รวม 5 ตำบล คือ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และ ต.ทับมา รวมทั้งท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

วันที่ 3 มี.ค.52 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ร่วมกับ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม (CAIN) มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และตัวแทนชาวบ้านผู้ฟ้องคดี จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังศาลพิพากษาคดีชาวบ้านมาบตาพุดฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมืองระยอง          

 

สืบเนื่องจากการที่ศาลปกครองระยองมีคำตัดสินว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” และพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด รวม 5 ตำบล คือ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และ ต.ทับมา รวมทั้งท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็น "เขตควบคุมมลพิษ" โดยมีผลภายใน 60 วันหลังศาลมีคำพิพากษา

.

"เขตพื้นที่ควบคุมมลพิษ" การเปิดพื้นที่สู่การผลักดันต่อ

นายสุรชัย ตรงงาม ผู้ประสานงานโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดี กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และเป็นคดีตัวอย่างที่ประชาชนมาบตาพุดได้รับผลกระทบ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยการเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพราะปัจจุบันนี้มาบตาพุดมีความรุนแรงเรื่องมลพิษ

.

จากคำพิพากษา ศาลได้นำผลการศึกษา วิจัยของหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลมาร่วมยืนยันว่าปัญหามลพิษในมาบตาพุดยังมีความรุนแรง แม้กระทั่งในปัจจุบัน และเข้าเงื่อนไขที่จะต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตรงนี้ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดี นอกจากการที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิแล้วยังได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ และมีองค์กรภาคประชาชนมาร่วมเป็นเครือข่ายในการช่วยเสนอข้อมูลต่างๆ จากหลายๆ ส่วน

.

แต่สุดท้าย ผลของคดีผู้ถูกฟ้องสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน ตามสิทธิที่มีและคงต้องรอว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และแม้ผลการพิพากษาจะกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศเขตควบคุมมลพิษภายใน 60 วัน แต่ผลของการอุทธรณ์ในคดีทางปกครองก็จะเป็นการทุเลาการบังคับ ซึ่งหมายความว่าหากมีการอุทธรณ์ผลการพิพากษาที่ต้องประกาศภายในระยะเวลาที่กำหนดก็จะยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงอยากให้มีการพูดคุยในจุดนี้

.

นายสุรชัยกล่าวต่อมาว่า การประกาศเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการเปิดพื้นที่ที่จะนำไปสู่การผลักดันมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคุ้มครองพื้นที่ มาตรการคุมครองสิ่งแวดล้อม หรือมาตรการในการประกาศค่ามาตรฐานการควบคุมมลพิษที่สูงกว่าพื้นที่อื่นเป็นพิเศษในเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นหนทางที่ทางประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ต้องร่วมกันทำต่อไป

.

ขจัดมลพิษอย่างมีส่วนร่วมพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการลดและขจัดมลพิษและตามที่กฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้อำนาจไว้หลายจุด ดังนั้นในตรงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกลไกใหม่ในการจัดการปัญหาในมาบตาพุด ซึ่งน่าจะมีการเปิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาร่วมเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการใช้กลไกใหม่นี้

.

นายศุภกิจกล่าวอธิบายต่อมาถึงกลไกลใหม่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นองค์กรหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ซึ่งจำเป็นต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ และมาทำบัญชีรายละเอียดปัญหา ผลกระทบต่างๆ แล้ววิเคราะห์ ประเมินผลกระทบและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการต่อไป

.

ส่วนที่ 2 ของกลไกใหม่ คือ การกำหนดค่ามาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดขึ้นเป็นพิเศษได้ เพื่อลดและขจัดมลพิษ โดยผู้ว่ารายการจังหวัดจะมีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดในเขตควบคุมมลพิษให้เข้มงวดกว่าเดิมได้ ส่วนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็มีอำนาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับเขตควบคุมมลพิษให้เข้มงวดขึ้นได้ ซึ่งเดิมไม่สามารถทำได้

.

ส่วนที่ 3 เมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีอำนาจในการดำเนินมาตรการในหลายเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษในมาบตาพุดและบางฉางโดยตรง เช่น สามารถกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ซึ่งแก้ปัญหาการวางผังเมืองที่ประกาศพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) ทับพื้นที่ชุมชน ร่วมทั้งการไม่มีพื้นที่กันชนระหว่างแหล่งอุตสาหกรรมกับชุมชน นอกจากนี้มีอำนาจห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น ซึ่งจะแก้ปัญหาการขยายอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงในการก่อมลพิษและการเกิดอุบัติเหตุ

.

"อยากจะเน้นว่าตรงนี้เป็นความท้าทายของสังคมไทย ของพื้นที่มาบตาพุด ของหน่วยงานส่วนต่างๆ ที่น่าจะมาเน้นกระบวนการพูดคุยทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าเฉพาะฝ่ายที่ดำเนินการอยู่ในนโยบายอุตสาหกรรม หรือฝ่ายกระทรวงจากกรุงเทพฯ เข้ามาดำเนินการ" นายศุภกิจกล่าว พร้อมเสริมว่าน่าจะเปิดกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน และชุมชน

.

นายศุภกิจกล่าวต่อมาว่า หากมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษและจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษน่าจะมีการมุ่งเน้นประเด็นที่สำคัญข้อหนึ่ง คือการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน ควรมีการประมวลผลอย่างเป็นระบบ ประเมินผลอย่างใกล้ชิด และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษ หน่วยงานรัฐควรชะลอโครงการอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นการเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่ ด้วยการยังไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่อนุมัติ หรือไม่อนุญาต จนกว่าปัญหามลพิษจะได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมแล้ว

.

ในด้านเศรษฐกิจ การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่ยังยืนของระยอง เพราะการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของระยองขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 79 และเป็นอุตสาหกรรมหนักที่นำเข้าปัจจัยในการผลิตสูง ใช้ทรัพยากรมาก สร้างมลพิษมาก แต่มีสัดส่วนการจ้างงานน้อย ดังนั้น การประกาศเขตควบคุมพิษจะเป็นโอกาสให้มีการลงทุดด้านเทคโนโลยีสะอาด การลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งหากมีการเลือกดำเนินงานตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานที่สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอยู่ปัจจุบันในมาบตาพุด รวมทั้งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอัตราที่มากกว่า

.

จากข้อมูลล่าสุด คณะกรรมกาส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ปี 2552 6 ยุทธศาสตร์ อาทิ จะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานทดแทน และเน้นการลงทุนที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิดของบีโอไอ สิ่งที่ชาวบ้านมาบตาพุดพยายามทำมาตลอด และการประกาศเขตควบคุมมลพิษมีความสอดคล้องกัน นอกจากนั้น ในพื้นที่ 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัดที่มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว จากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนจะประกาศ ปีที่ประกาศ และหลังจากประกาศแล้ว พบว่าไม่มีพื้นที่ใดเลยที่ความเติบโตของการลงทุนทางเศรษฐกิจลดลง

.

ก้าวที่ผ่าน และก้าวต่อไปการแก้ปัญหามลพิษ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่าได้มีการติดตามปัญหามลพิษที่มีอยู่มาโดยตลอด และเริ่มมีการนำเสนอปัญหาสู่รัฐบาลตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2549 ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาข้อมูลที่นำเสนอไม่ได้รับการยอมรับ และมีการโต้แย้ง นำเสนอข้อมูลในด้านตรงข้ามมาโดยตลอด

.

นายสุทธิกล่าวถึงเอกสารของส่วนราชการและเอกชนที่ศาลใช้อ้างอิง ดังนี้ 1.มลพิษ สุขภาพ และอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด โดยเดชรัต สุขกำเนิด, ศุภกิจ นันทะวรการ, วิภวา ชื่นจิต มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 1 มี.ค.2550 2.ผลตรวจความผิดปกติทางสารพันธุกรรมในเซลล์ของประชาชน (24 ก.พ.2550) โดย รศ.ดร.เรณู เวชรัตต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 3.รายงานโครงการจัดทำแผนแม่บทเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีศึกษา: ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย มิ.ย.2547

.

4.การศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดโรคระบาดทางเดินหายใจ และโรคผิวหนัง และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยนายสมชาย จากศรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย 5.รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร การจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่ จ.ระยอง พ.ศ.2550 - 2551ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษฯ 6.รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการพหุภาคีเพื่อกำกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่ จ.ระยอง พ.ศ.2550 – 2551

.

7.สรุปการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมรายงานสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย 8.ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมภาคผนวก สรุปผลการสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่องยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กรณีศึกษาใน จ.ระยอง 9.รายงานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

.

"เอกสาร 9 เอกสารในผลงานวิชาการเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดที่ศาลรับรองว่ามลพิษในพื้นที่ จ.ระยองมีแนวโน้มสูงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เราเคยพูดถึงและมีการโต้ตอบก็เป็นข้อมูลที่ถูกรับรองในทางกฎหมาย และเราจะอ้างอิงข้อมูลนี้เพื่อผลักดันไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป" นายสุทธิกล่าว

 

นายสุทธิกล่าวต่อมาว่า จะมีการผลักดันให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดใหม่ ให้เร่งประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษโดยด่วน โดยเห็นว่าไม่สมควรมีการอุทธรณ์ เนื่องจากในปัจจุบันมาตรฐานมลพิษ คุณภาพอากาศเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.ระยอง กำลังเป็นปัญหาหนักที่ประชาชนต้องเผชิญ

 

นอกจากนั้นจะมีการนำเสนอเรื่องนี้ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งทราบว่าได้มอบหมายให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายยกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ และในวันที่ 5 มี.ค.ที่จะถึงนี้จะเขาพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่วนวันที่ 6 มี.ค.จะเข้าพบคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลักดันในการที่จะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเร่งจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษอย่างมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาลจากทุกภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

.

"เมื่อให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วเราเชื่อว่านี่คือชัยชนะของภาคประชาชน แต่เมื่อประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วนั้นเป็นหน้าที่ที่จะทำให้ประชาชนนั้นเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น และจะเป็นดุลยพินิจที่จะทำให้หน่วยงานต่างๆ นั้นให้ความสำคัญว่า การพัฒนามันต้องควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ปลอดภัยของประชาชน มันถึงจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้อย่างแท้จริง" ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าว พร้อมย้ำว่าตัวชี้วัด การจัดทำแผน การมีส่วนร่วม การบังคับใช้ทางกฎหมายเป็นเรื่องจำเป็น

.

เตรียมฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ หากเข้ามูลความผิดต่อคำถามถึงการดำเนินการฟ้องร้องกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนก่อให้เกิดความเสียหายนั้น นายสุรชัยกล่าวว่า ในเบื้องต้นคดีนี้เป็นคดีปกครอง ศาลระยองทำการวินิจฉัยว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นกรกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายในทางปกครอง ส่วนจะเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ต้องมาดูข้อเท็จจริงในรายละเอียดของคำพิพากษาอีกครั้งเพราะการพิจารณาทางอาญาต้องมีหลักการเฉพาะอยู่ นอกจากนี้อาจต้องรอดูคำพิพากษาคดีถึงที่สุดด้วย เพราะคดีในต้องนี้ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่

.

ด้านนายสุทธิกล่าวว่าหากเข้ามูลความผิดทางกฎหมาย จะต้องให้เกิดการบังคับทั้งทางแพ่งและทางอาญากับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดที่ผ่านมาต่อไป

.

ในส่วนก้าวต่อไปต่อจากนี้สำหรับพื้นที่อื่นๆ ใน จ.ระยองที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเช่นกัน นายสุทธิกล่าวว่า พื้นที่มาบตาพุดมีปัญหาที่เห็นชัดเจนถือเป็นการนำร่อง เพื่อทำให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ ก่อนที่จะขยายและเรียนรู้ร่วมกันต่อไป ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ให้เกิดขึ้นได้ก่อน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีรูปแบบให้เห็น

.

นายศุภกิจกล่าวว่า เมื่อการดำเนินคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดแต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นทุกวัน จากปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่าชัดเจน ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถริเริ่มดำเนินการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเดิมในพื้นที่มาบตาพุดจะมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นหลักอยู่ แต่หากมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกได้ว่าใกล้ชิดประชาชนมากกว่าก็จะมีบทบาทมากขึ้นก็สามารดำเนินการได้

.

สำหรับส่วนอื่นๆ ของระยองที่อุตสาหกรรมกำลังขยายตัวเข้าไป ส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอเขตควบคุมมลพิษ คือการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ใช้อำนาจบังคับตามกฎหมาย เช่น เรื่องผังเมืองที่โรงงานขยายไปใกล้ชุมชนมีกรมโยธาธิการและผังเมืองดูแลอยู่ หรือการตรวจวัดมลพิษที่มีการปล่อยออกมามากเกินมาตรฐานหน่วยรัฐจำนวนมากก็มีอำนาจอยู่ในมือเพื่อการจัดการปัญหา

.

ราชการแจงที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหามลพิษพื้นที่มาบตาพุดอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กองนิติการ คพ.ได้ส่งรายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครอง ให้กับนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ.แล้ว เพื่อเตรียมนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดชุดใหม่ในเร็วๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คพ.ได้แก้ไขปัญหามลพิษพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่ามีความคืบหน้ามาก ทั้งในแง่ของฟื้นฟูคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ โดยได้ออกมาตรฐานการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ 9 ประเภท อาทิ เบนซีน บิวทาดีน เป็นต้น และมาตรฐานค่าเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เพิ่มอีก 19 รายการ อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

.

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมระบุว่า หากพื้นที่ใดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เบื้องต้นได้มอบอำนาจให้ท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้จัดทำแผนแก้ไขสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยสามารถของบประมาณภาครัฐสนับสนุนได้ แต่หากปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รุนแรงมาก ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ มีอำนาจกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาได้

.

"หลังศาลปกครองระยองมีคำสั่งดังกล่าว คาดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง คงใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่ง โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมโรงงาน กนอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวง ทส.เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว

.

ภาคอุตสาหกรรมไม่หวั่นประกาศ “เขตควบคุมมลพิษ” แต่เกรงกระทบการท่องเที่ยว-การลงทุน

ในส่วนภาคอุตสาหกรรมเว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงคำตัดสินของศาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องพิจารณาดูว่าคำตัดสินดังกล่าวจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งเห็นว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก และทุกเรื่องสามารถเจรจากันได้

.

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้บริหาร บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ที่ตั้งอยู่ใน ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลว่าคำสั่งศาลฯ ในครั้งนี้ จะมีปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ๆ ในเขตมาบตาพุด และ จ.ระยอง ทำตามมาตรฐานมลพิษอย่างเข้มงวด แต่การประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ อาจส่งผลต่อความรู้สึกทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อ จ.ระยอง และจะทำให้ภาพพจน์ของ จ.ระยองเสียไป อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว และพืชผักผลไม้จากพื้นที่ดังกล่าว เพราะคนอาจกลัวที่จะมาเที่ยว หรือซื้อผลไม้ใน จ.ระยอง

.

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนในเขต จ.ระยองเข้มงวดมานานแล้ว ส่วนการลงทุนใหม่ๆ ดำเนินตามแผนควบคุมมลพิษทุกโครงการ ซึ่งการมาประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ อาจกระทบต่อการลงทุนที่ยังไม่เริ่มต้นที่อาจทำให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน ส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากโครงการเดิมคงต้องพิจารณากันใหม่ เพราะการลงทุนหลังจากนี้ไป ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาที่มากขึ้น อาจจะส่งผล กระทบต่อภาพรวมของการลงทุน เพราะในเขตมาบตาพุดถือเป็นหัวใจหลักในการลงทุนของประเทศ หวังว่าผู้ที่เป็นจำเลย คือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาล

.

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประ เทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้บริหารบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ใน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่า กำลังศึกษาคำตัดสินของศาลฯ ที่ออกมาว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างไรบ้าง และต้องดูในเรื่องของกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม ก่อนหน้านี้การลงทุนใหม่ๆ ในเขตมาบตาพุดต้องลดมลพิษในเขตดังกล่าวให้ได้ก่อนจึงจะลงทุนได้ หากลดมลพิษได้ 100% จะสามารถลงทุนได้เพียง 80% โครงการที่จะลงทุนต้องผ่านแผนการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

.

นายชายน้อย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ได้ลงทุนปรับลดมลพิษที่มาบตาพุดไปมากแล้ว และดำเนินตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ก็คงต้องติดตามว่าหลังประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว จะมีกฎระเบียบใหม่ๆ อะไรที่ต้องปฏิบัติตามเพิ่มอีก ขณะนี้ฝ่ายเอกชนกำลังเตรียมข้อมูลให้พร้อม หากภาครัฐจะเรียกไปหารือถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องของการอุทธรณ์คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการพิจารณา

 

นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาคงต้องว่ากันไปตามนั้น เอกชนพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำตัดสิน โครงการใหญ่คงไม่มีปัญหาเพราะดูแลในเรื่องการควบคุมมลพิษให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงว่าคำตัดสินของศาลจะกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะนอกจากในเรื่องอุตสาหกรรมแล้ว จ.ระยองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง

.

นายศุภชัย กล่าวว่า ต้องขอดูก่อนว่าจะมีกฎระเบียบอะไรออกมาให้ต้องปฏิบัติตามเพิ่มเติมหรือไม่ ในส่วนตัวคิดว่าผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้ควรอุทธรณ์ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ อาทิ ฝ่ายราชการ เอกชน และผู้กำกับดูแล ได้ชี้แจงข้อมูล แต่การอุทธรณ์คงไม่ใช่หน้าที่ของเอกชน ซึ่งเอกชนยินดีที่จะทำตามคำสั่งศาล คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ลงทุนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากันพอสมควร เพราะโครงการลงทุนใหญ่ๆ ระดับหมื่นล้านคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะถูกปิดจากปัญหามลพิษ

.

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การประกาศเขตควบคุมจะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ขณะนี้เองประเทศเพื่อนบ้านของไทย พยายามดึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปลงทุนยังประเทศของตน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะต้องชะลอออกไป หรือย้ายฐานไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

.

ที่มา : ประชาไทดอทคอม