เนื้อหาวันที่ : 2009-03-05 14:26:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2480 views

นักวิจัย มข. โชว์ เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โชว์ผลงานวิจัยเด่น "เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง" จะสามารถบอกได้ว่าการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น กิจกรรมใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อหมอนรองกระดูกสันหลังและลำสันหลังได้

                                              
.

ทีมนักวิจัย เรื่อง เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง นำโดย รศ.ดร. รุ้งทิพย์  พันธุเมธากุล  สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยปวดหลัง ปวดคอและปวดข้ออื่นๆ อาจารย์วิชัย เปรมชัยสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ดร.วรินทร์  สุวรรณวิสูตร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คุณวัชเรนทร์ แสงสุวรรณ Programmer ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยต่อสื่อมวลชนและผู้ร่วมงาน

.

รศ.ดร.รุ้งทิพย์  พันธุเมธากุล   หัวหน้าทีมนักวิจัย เผยว่า อาการปวดหลัง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากในกลุ่มวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ผู้ที่ต้องนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ  การยกสิ่งของหนักๆ รวมถึงการออกกำลังกายในบางท่าที่ไม่เหมาะสมกับวัยและสภาพของร่างกายก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ การหาแนวทางป้องกันเพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือนถึงพฤติกรรมที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดหลังและเป็นอันตรายต่อหลัง จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

.

เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง สร้างขึ้นเพื่อต้องการวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง (ความสูงที่หายไป) หลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนทั่วไป หรือกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคปวดหลัง  เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้ ในการให้ความรู้แก่ประชาชน ว่าพฤติกรรมใดในชีวิตประจำวัน จะมีผลเสียต่อสุขภาพจนเป็นอันตรายต่อหลัง อย่างเช่น หากต้องการทราบว่าการนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ของกลุ่มตัวอย่างวัยทำงาน จำนวน 100 คน จะทำให้การยุบตัวของลำสันหลังเป็นปริมาณเท่าไร          

.

อันดับแรก จะทำการวัดปริมาณการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งของอาสาสมัคร จากนั้นให้อาสาสมัครนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ในเวลา 1 ชั่วโมง แล้วทำการวัดปริมาณการยุบตัวของลำสันหลังของอาสาสมัครอีกครั้งด้วยเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งที่สร้างขึ้น ซึ่งหากผลการวัดที่ได้ มีความแตกต่างกันมาก ก็จะสามารถบอกได้ว่า พฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน 1 ชั่วโมง  มีผลทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังและโครงสร้างรอบๆ เกิดการยุบตัวซึ่งอาจเป็นผลเสียก่อให้เกิดอาการปวดหลังที่รุนแรงตามมาได้ในภายหลัง

.

เครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่ง แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ทำการวัดการยุบตัวของลำสันหลัง ออกแบบโดย ดร.วรินทร์  สุวรรณวิสูตร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นส่วนที่ทำการวัดการยุบตัวของลำสันหลัง โดยมีอุปกรณ์ที่สามารถวัดการยุบตัวของลำสันหลังได้ละเอียดถึง 1 ไมโครเมตร และจะทำการวัดค่าทุกๆ 1 ส่วน 200 วินาที จากนั้นจะทำการส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ที่มีซอร์ฟแวร์ประมวลผลของข้อมูล โดยแสดงผลออกมาทั้งในรูปของกราฟ และตัวเลข

.

ส่วนที่ 2 คือระบบควบคุมท่าทาง (postural control system) ออกแบบ โดย อาจารย์วิชัย  เปรมชัยสวัสดิ์  ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมท่าทางของผู้ถูกวัดให้อยู่ในท่ามาตรฐานในขณะที่ทำการวัด โดยมีตัวเซ็นเซอร์ จำนวน 4 ตัว  ที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า วางอยู่ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณคอ จนถึงหลังส่วนล่าง โดยระบบเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณเตือนอาสาสมัครทุกครั้ง เมื่ออาสาสมัครมีการขยับตัว หรือมีการเคลื่อนไหวตัวในขณะที่ทำการวัด ระบบควบคุมท่าทางนี้จะช่วยทำให้ค่าที่วัดได้เป็นค่าที่ถูกต้อง และแม่นยำยิ่งขึ้น

.

รศ.ดร. รุ้งทิพย์  พันธุเมธากุล เผยต่อว่า  ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือชิ้นนี้ ถือว่าคืบหน้ากว่า 90 % เหลือเพียงความพร้อมของวัสดุบางส่วนเท่านั้น ส่วนระบบการวัดและประมวลผล มีความน่าเชื่อถือ 100 % และหากเปรียบเทียบต้นทุนในการสร้างเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งเครื่องนี้ (Thai version) กับเครื่องที่นำเข้าจากต่างๆ ประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึง 500,000 บาท  แต่เครื่องที่สร้างขึ้นโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเครื่องนี้มีต้นทุนเพียง 100,000 กว่าบาทเท่านั้น อีกทั้งยังมีค่าความถูกต้อง (accuracy) ดีกว่าเครื่องของต่างประเทศมากทีเดียว (เครื่องของต่างประเทศมีค่า accuracy อยู่ที่ ±0.01 มิลลิเมตร แต่เครื่องที่ผลิตโดยคนไทยเครื่องนี้มีค่า accuracy อยู่ที่ ±0.006 มิลลิเมตร)

.

จากการทำงานของเครื่องวัดการยุบตัวของลำสันหลังในแนวดิ่งนี้ จะสามารถบอกได้ว่าการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น กิจกรรมใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อหมอนรองกระดูกสันหลังและลำสันหลังได้ โดยมีทฤษฎีว่า กิจกรรมใดก็ตามที่ทำแล้วก่อให้เกิดการยุบตัวของลำสันหลังมากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กิจกรรมนั้นน่าจะเป็นอันตรายต่อลำสันหลังเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนควรจะหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนั้น มิเช่นนั้นโรคที่ตามมาอาจไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดาเท่านั้น แต่อาจลุกลามกลายเป็นอาการชา และอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ที่มีผลมาจากหมอนรองกระดูสันหลังยื่นหรือปลิ้นทับเส้นประสาทได้นั่นเอง