เนื้อหาวันที่ : 2006-09-26 10:45:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1222 views

DCAP พร้อมเต็มที่สำหรับการผลิตไฟฟ้า-น้ำเย็นป้อน สุวรรณภูมิ

กฟผ.-ปตท.- กฟน. ร่วมกันยืนยันความพร้อมของ DCAP ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งทางด้านการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่มีระบบป้องกันการเกิดไฟฟ้าตก และไฟฟ้าดับ

.

สำนักข่าวไทยรายงาน กฟผ.-ปตท.- กฟน. ร่วมกันยืนยันความพร้อมของ DCAP ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งทางด้านการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่มีระบบป้องกันการเกิดไฟฟ้าตก และไฟฟ้าดับ

.

นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (District Cooling System and Power Plant : DCAP) แถลงข่าวถึงความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549

.

นายไกรสีห์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่ กฟผ. นำมาติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้า Combine Heat Power (CHP) ประกอบด้วยเครื่องกังหันแก๊ส ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง เป็นเครื่องที่บริษัท DCAP ซื้อจาก กฟผ. ซึ่งได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่ทั้งหมด อายุการใช้งานอีกไม่น้อยกว่า 25 ปี กับงานติดตั้งระบบผลิตไอน้ำที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าได้อีก 12 เมกะวัตต์ และระบบผลิตน้ำเย็นเพื่อใช้ในระบบปรับอากาศของอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบินของท่าอากาศยานและอาคารครัวการบินไทย โดย กฟผ. ได้จัดทีมงานวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตและบำรุงรักษาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

.

สำหรับด้านเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัท DCAP นายประเสริฐ กล่าวว่า ปตท. มีความพร้อมที่จะจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับทางบริษัท DCAP ตามสัญญาตลอด 25 ปี รวมทั้งยังมีความพร้อมที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในโครงการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการ DCAP ส่วนขยาย โครงการติดตั้งสถานีบริการ NGV และโครงการอื่น ๆ รองรับการขยายตัวของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ปตท. จะจัดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซฯ ขนาด 8 นิ้ว ความยาว 2 กิโลเมตร ซึ่งมีความสามารถในการขนส่งก๊าซธรรมชาติได้สูงสุดถึง 25 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่การผลิตของบริษัท DCAP ในปัจจุบันใช้ก๊าซฯ อยู่ระหว่าง 7-14 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปตท. จึงมีความสามารถที่จะขยายกำลังการส่งก๊าซฯ ได้อีกอย่างไม่มีปัญหา

.

ทางด้านผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยว่า ระบบไฟฟ้าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินอกเหนือจากการรับไฟฟ้าจากบริษัท DCAP แล้ว กฟน. ยังเตรียมพร้อมเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยดำเนินการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบไฟฟ้าแรงดัน 115,000 โวลท์ หรือ 115 กิโลโวลท์ 2 วงจร จากสถานีไฟฟ้าต้นทางอ่อนนุช และสถานีไฟฟ้าต้นทางหนองจอก ซึ่งรับกระแสไฟฟ้าจาก กฟผ. โดยสายส่งแต่ละวงจรมีขีดความสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 150 เมกะวัตต์ และหากกระแสไฟฟ้าจากวงจรใดขัดข้อง ภายในสนามบินก็ยังมีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากอีกวงจรหนึ่งจะทำงานทันที ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาไฟดับหรือไฟตก เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้ามายังสถานีย่อยสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

.

ผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยต่อไปว่า กฟน.ได้มีการประสานการจ่ายไฟฟ้าให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันระหว่างบริษัท DCAP กฟผ. และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มาโดยตลอด รวมถึงจัดทำแผนซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในสถานีต้นทางทั้ง 2 แห่ง และตลอดแนวสายส่งที่จ่ายไฟให้ท่าอากาศยานตั้งแต่สถานีต้นทางถึงสถานีย่อยสุวรรณภูมิ

.

พร้อมกันนี้ยังนำระบบคอมพิวเตอร์ SCADA เข้ามาใช้ในการควบคุมระบบไฟฟ้า ทำให้มีการจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วหากเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ขณะนี้บริษัท DCAP มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหากในอนาคตมีการขยายงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งสามหน่วยงานก็พร้อมร่วมมือขยายกำลังผลิตเพื่อรองรับได้ต่อไป.