เนื้อหาวันที่ : 2009-03-03 15:25:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1922 views

อาเซียน : การดิ้นรนบนเวทีโลก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่ไม่เคยเป็นตัวแสดงหลักในเกมอำนาจโลกเลยนับจากยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ การร่วมตัวกันของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนามอาเซียนเป็นความพยายามอย่างหนึ่งของชาติในภูมิภาคนี้ที่จะเสริมสร้างอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจในระดับโลก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่ไม่เคยเป็นตัวแสดงหลักในเกมอำนาจโลกเลยนับจากยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ การร่วมตัวกันของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนามอาเซียนเป็นความพยายามอย่างหนึ่งของชาติในภูมิภาคนี้ที่จะเสริมสร้างอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจในระดับโลก 

.

ในยุคสงครามเย็น ภูมิภาคนี้ถูกแบ่งให้เป็น 2 ค่าย ตามบรรยากาศการเมืองโลก แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยม ในช่วงทศวรรษที่ 90 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน บทหนทางเสรีนิยมเดียวกัน ซึ่งประเทศเหล่านี้ถูกปฏิบัติในฐานที่เป็นชายขอบแดนของอำนาจต่อรองเช่นเดิม

.

แม้ว่าความพยายามของอาเซียนจะต้องการสร้างเสริมอำนาจการต่อรองให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก แต่ทว่า ก็ไม่เคยก้าวข้ามความเป็นชายขอบไปได้ เมื่อพิจารณาจากการพยายามสร้างข้อตกลงการค้ากับประเทศกึ่งชายขอบที่เริ่มขยับเข้าใกล้ความเป็นศูนย์กลางในการต่อรองอย่าง จีน อินเดีย เกาหลีใต้

.

การเจรจาการค้าก็ยังคงสถานะเดิมๆ นั่นคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่เป็นฐานในการส่งออกวัตถุดิบ การ แสวงประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม และแรงงานราคาถูก ขณะที่นำเข้าสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าจากประเทศคู่ค้า อย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อียู ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

.

ประเทศชายขอบเหล่านี้มีฐานเป็นเพียงศูนย์กลางของวัตถุดิบทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งรีดเค้นมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วง และแน่นอนรวมถึงแรงงานราคาถูกด้วย

.

ดังนั้นแล้ว หากย้อนหลังไปเพียงช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงสามารถมองเห็นการแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน เป็นไปในทิศทางที่ขุดค้น ฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในภูมิภาคของตนออกมาอย่างเต็มที่ ดังกรณีที่ประเทศลาวประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย พร้อมด้วยการเปิดรับการสนับสนุนการลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมาก ไทยประกาศตัวเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ขณะที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้านอย่างหนักหน่วง มาเลเซียปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลว่า เรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องของประเทศพัฒนาแล้วที่สร้างมาตรฐานสูงเกินไป

.

กำเนิดอาเซียน

อาเซียนเกิดจากการบรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 ตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ที่กรุงเทพฯ มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นความร่วมมือระหว่างชติประชาคม ซึ่งเมื่อแรกตั้งประกอบด้วย 5 ชาติคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จากนั้น บรูไนได้ผนวกเข้ามาเมื่อปี 1984 เวียดนาม 1995 ลาวและพม่าในปี 1997 และกัมพูชาในปี 1999

.

วัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค 2.รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค และ 3. ใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค

.
กลไกการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน

1. การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit Meeing) หรือการประชุมระดับผู้นำของ อาเซียน เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของอาเซียน กำหนดให้มีการประชุมปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือและริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆของอาเซียน

2. การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน

2.1 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) กำหนดให้มีการประชุมอย่างเป็นทางการปีละครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้ง พิจารณาการขยายกรอบ/ริเริ่มความร่วมมือใหม่ๆ

2.2 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) กำหนดให้มีการประชุมปีละครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางและแก้ไขปัญหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน หรือเป็นพิเศษ

3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Officials Economic Meeting: SEOM) ประชุมปีละ 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย (ประมาณ 3 เดือนครั้ง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดการดำเนินงาน/การขยาย/การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในทุกด้าน และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆ

.
4. การประชุมคณะกรรมการ/คณะทำงานที่แต่งตั้งโดย SEOM เช่น

4.1 คณะกรรมการประสานงานการดำเนินการภายใต้ความตกลง CEPT (CCCA) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการลดภาษีและยกเลิกข้อกีดกันทางการค้าให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ภายใต้อาฟต้า และความตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง

4.2 คณะทำงานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (Working Group on Industrial Cooperation: WGIC) ประชุมปีละ 3 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO)

4.3 คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment: CCI) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน และความร่วมมือด้านการลงทุนต่างๆ

4.4 คณะทำงานระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์อาเซียน (e-ASEAN Task Force: EATF) และคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์อาเซียน (e-ASEAN Working Group: EAWG) ประชุมปีละ 3 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลง e-ASEAN

4.5 คณะกรรมการประสานงานด้านบริการ (Coordinating Committee on Services: CCS) ประชุมปีละ 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการในอาเซียน และความร่วมมือด้านบริการอื่น

5. สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เป็นหน่วยประสานงานและเสริมสร้างการดำเนินการตามนโยบาย โครงการและกิจกรรมขององค์กรต่างๆของอาเซียน รวมทั้งทำหน้าที่เลขานุการในการประชุมอาเซียน

.

ทั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนในปี 2020 ในส่วนเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้อาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันในตลาดโลกในทุก ๆ ด้าน โดยมีวิสัยทัศน์ว่า "อาเซียนปี 2020 เป็นหุ้นส่วนร่วมกันในการพัฒนาอย่างมีพลวัตร" (ASEAN 2020: Partnership in Dynamic Development)"

.

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน คนปัจจุบัน กล่าวเมื่อวันที่ 12 เดือนกันยายน ปี 2007 ว่า แม้ว่าอาเซียนจะมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 10 ประเทศ แต่ในความจริงแล้วอาเซียนนั้นหลอมรวมกับโลกทั้งหมด รวมไปถึงชาติมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และเอเปก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ชาติอาเซียนเอง ก็ต้องเร่งปรับแก้กฎหมาย วางแนวนโยบาย และระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประเทศเหล่านั้น

.

สิ่งที่ต้องตั้งเป็นข้อสงวนไว้สำหรับชาติอาเซียนก็คือ ว่า ผลิตภัณฑ์จากอาเซียน คือสินค้าเกษตร ประมง ไม้ สิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเลกโทรนิกส์ ไอที บริการด้านสุขภาพ และการขนส่งซึ่งเป็นสินค้าหลักของชาติอาเซียนนั้น ง่ายต่อการถูกกีดกันทั้งโดยรูปแบบของภาษีและข้อกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

.
ความหลากหลายบนสถานะของชายขอบเศรษฐกิจโลก

ประชากรในอาเซียน ปัจจุบันมีราว 570 ล้านคน ผู้คนนับถือ อิสลาม พุทธ คริสต์ ฮินดู มีความแตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจอย่างสุดโต่ง นั่นคือ ลาวและพม่าเป็นประเทศที่ประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดคือ 209 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยสูงสุด คือประชากรมีรายได้เฉลี่ย 50,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

.

นอกเหนือจากความแตกต่างด้านรายได้ของประชากรแล้ว อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ถูกจับตามองและตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ถูกต้อง รวมไปถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน ปัญหาคอร์รัปชั่น และการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีจุดอ่อนในเรื่องเหล่านี้อย่างไม่มีข้อยกเว้น

.

บางตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ถูกต้อง ปรากฏในรายงานของ UNDP ในปีที่ผ่านมาว่า ประเทศมาเลเซียคือประเทศที่ผลิตสารคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศในเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในโลก ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ผลิตสารคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในอาเซียน ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองที่ดีจากรัฐบาลทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย ซึ่งในยุคของผู้นำชื่อมหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งกล่าวท้าทายมาตรฐานแบบ ตะวันตก' ว่า รอให้มาเลเซียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราจึงจะมาพูดเรื่องแบบนี้กัน

.

ปัญหาการคอร์รัปชั่น จากรายงานขององค์กร transparency international จากแผนภูมิภาพด้านล่าง สีแดงเป็นความหมายของคอร์รัปชั่นในระดับสูง เราจะเห็นสีแดงในเฉดที่ต่างกันในภูมิภาคนี้

ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Perceptions_Index

.

ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพ ตามรายงานขององค์กร freedom House พื้นที่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดมีเสรีภาพเพียงบางส่วน ฟิลิปินส์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่อันตรายสำหรับผู้สื่อข่าวและนักกิจกรรมทางสังคม

.

ประเทศไทย ถูกบันทึกว่า เสรีภาพดิ่งลงอย่างหนักหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2005 เป็นต้นมา จากเดิมที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพตั้งแต่ 1998 ถึงปี 2005 หลังการรัฐประหารในปี 2005 ไทยถูกจัดให้อยู่ในข่ายมีเสรีภาพบางส่วน กัมพูชา และมาเลเซียมีเสรีภาพบางส่วน และอยู่กฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นและกีดขวางการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มงวด

.

บทบาทอย่างสูงของกองทัพ ในพม่าและไทย และฟิลิปปินส์ที่ส่งผลต่อความผันผวนของการเมืองภายใน การรัฐประหารยังเป็นสิ่งที่เกิดได้ง่ายในประเทศเหล่านี้ ขณะที่อินโดนีเซียส่งสัญญาณว่า ดูเหมือนจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์ดังกล่าว แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

.
อาเซียนกับปัญหาของตัวเอง

ชาติอาเซียนมีฝันร่วมกันที่ไปสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 ประเทศมาเลเซียยังกล้าประกาศยืนยัน ขณะที่ประเทศไทยกำลังสะบักสะบอมจากการเมืองภายใน ทำให้ฝันนั้นดูลางเลือนลง เวียดนามกำลังบอบช้ำกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งออกฤทธิ์เมื่อปีที่ผ่านมา และเผชิญกับคนตกงานเป็นจำนวนหลักล้าน ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานจำนวนมาก ขณะนี้กำลังเผชิญกับคนว่างงานถึง 11 ล้านคน

.
กัมพูชาและลาวยังคงประกาศการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทองคำและน้ำมัน เหมือนเป็นเสียงเชิญชวนให้ประเทศร่ำรวยเข้าไปลงทุน
.

ทั้งหมดนี้ ถูกทำให้แย่ลงไปอีก จากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ชาติศูนย์กลางอำนาจของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม อย่างสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับคนว่างงานจำนวนหลายสิบล้านคน สหภาพยุโรปเผชิญปัญหาเดียวกัน ญี่ปุ่นทยอยปลดพนักงาน และลดการผลิต รวมถึงหยุดการผลิตในบางบริษัท บริษัทชั้นนำของโลกอย่างโตโยต้าประกาศภาวะขาดทุน

.

"ในฐานะประธานอาเซียน ผมจะทำทุกวิถีทางให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ รอยยิ้มและโอกาส จะดำเนินการทุกวิถีทางให้บรรลุวิสัยทัศน์และความใฝ่ฝันของผู้ก่อตั้งที่จะสร้างประชาคมอาเซียนขึ้นด้วยสังคมที่แบ่งปัน และมีความห่วงใยซึ่งกันและกัน" คำกล่าวขอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยฉายซ้ำจนจำกันได้ขึ้นใจ แต่มันจะเป็นจริงได้อย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าประเทศไทยและอาเซียนจะมีมาตรการใดออกมาเพื่อทำให้ไทยและอาเซียนได้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว

.

นอกเหนือจากภาวะชายขอบทางเศรษฐกิจ อาเซียนก็มีปัญหาในตัวของเองอยู่ในทุกประเทศ และยังมีปัญหาระหว่างกันอย่างไม่จบสิ้น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย กำลังเผชิญปัญหาคนตกงานเป็นปัญหาหลัก ขณะที่พม่าและ ลาว ยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

.

ในด้านความสัมพันธ์ ด้วยภาวะ การเมืองภายในที่ร้อนระอุต่อเนื่องยาวนานของไทยกว่า 3 ปี ได้เปิดปมขัดแย้งใหม่ๆ กับกัมพูชา ว่าด้วยปัญหาเส้นเขตแดน ซึ่งขณะนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เขาพระวิหาร ซึ่งเคยเกือบจะเป็นพื้นที่การพัฒนาร่วม แต่ต้องปิดตัวลงและถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนาโดยเจ้าหน้าที่ทหารจากทั้ง 2 ประเทศ

.
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังคงขัดแย้งกันเรื่องเส้นเขตแดน และการกำหนดว่าเกาะใดเป็นของใคร ทั้งนี้ ขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติที่ค้นพบเป็นสำคัญ
.

ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มโจทย์ใหม่และยากมากขึ้น ประเทศอาเซียนก็ยังคงมีโจทย์เก่าที่ไม่คลี่คลาย ทั้งความไม่เป็นประชาธิปไตย การฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน และปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาที่ถูกรายงานซ้ำโดยหน่วยงานและองค์กรระดับนานาชาติ สะท้อนภาพว่า ชาติอาเซียนยังคงดิ้นรนต่อสู้อยู่ในวงวนเดิม ๆ ของตนเอง

.
อ้างอิง
ที่มา : ประชาไทดอทคอม http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1777