เนื้อหาวันที่ : 2009-03-03 15:00:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2126 views

อุตสาหกรรมเกษตรระบบทำลายโลก

นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเรียกร้องให้ประชากรโลกหวนกลับไปพัฒนาระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ปกป้องบรรยากาศโลก แทนการพึ่งพาอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำลายสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างร้ายกาจดังเช่นทุกวันนี้

อัจฉรา รักยุติธรรม/โลคัลทอล์ค-ประชาธรรม

.

นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเรียกร้องให้ประชากรโลกหวนกลับไปพัฒนาระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ปกป้องบรรยากาศโลก แทนการพึ่งพาอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำลายสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างร้ายกาจดังเช่นทุกวันนี้

.

Edward Goldsmith เขียนบทความใน The Ecologist ระบุว่าอุตสาหกรรมเกษตรจะต้องรับผิดชอบต่อการแพร่กระจายคาร์บอนไดออกไซด์ 25% มีเทน 60% ไนตรัสออกไซด์ 80% ที่แพร่กระจายอยู่ในโลก ซึ่งก๊าซเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

.
แหล่งผลิตก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศ

ไนตรัสออกไซด์: ในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ป่าฝนเขตร้อนได้ถูกแผ้วถางทำลายในระดับที่น่าเป็นห่วง เพื่อการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อส่งออก หรือเป็นการแผ้วถางพื้นที่ให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การกระทำเหล่านี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของไนตรัสออกไซด์นับล้านตัน ปุ๋ยในโตรเจนซึ่งใช้ในการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายไนตรัสออกไซด์ 10% ของการแพร่กระจายไนตรัสออกไซด์ในโลกในแต่ละปี

.

ขณะที่การเกษตรทางเลือกที่มีอายุเก่าแก่นานนับศตวรรษ ใช้หญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก และปุ๋ยจากฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ ซึ่งบำรุงดินและทำให้พืชผลงอกงาม มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์: การแพร่กระจายของมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะการทำนาที่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าการปลูกข้าวอินทรีย์โดยอาศัยน้ำฝนทำให้เกิดการแพร่กระจายของมีเทนน้อยกว่าอย่างมาก

.

การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายของมีเทน โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ที่ให้อาหารด้วยธัญพืชที่ให้โปรตีนสูงจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนมากกว่าการให้อาหารสัตว์ด้วยหญ้า

.
คาร์บอนไดออกไซด์: คาร์บอนไดออกไซด์ที่แพร่กระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณมากเกิดมาจากการแพร่กระจายคาร์บอนในดิน การเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่เป็นตัวการของการแพร่กระจายแบบนี้ด้วยการทำให้เกิดการทำลายป่า การทำให้ห้วยหนองคลองบึงตามธรรมชาติแห้งเหือด การไถเปิดหน้าดินในระดับลึก การใช้เครื่องจักรการเกษตรที่ทำให้หน้าดินอัดแน่น การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ทำลายโครงสร้างดิน การใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการกลายเป็นทะเลทราย และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่
.

การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ฟางหรือหญ้า และพืชคุลมดินเช่นเปลือกไม้ ฟาง หรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งจะย่อยสลายกลับลงไปในดิน ไม่เพียงแต่ช่วยลดไนตรัสออกไซด์ แต่ยังช่วยป้องกันการสูญเสียคาร์บอนจากดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปุ๋ยเหล่านี้ยังช่วยลดเชื้อโรคในดินและเพิ่มผลผลิต องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ [Food and Agriculture Organization] FAO ระบุว่าระบบวนเกษตร ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ร่วมกับพืชอื่นๆ ช่วยให้ดินดูดซับคาร์บอนได้ในปริมาณมากที่สุด

.

การใช้เครื่องจักรกลที่อาศัยเชื้อเพลิงในระบบอุตสาหกรรมการเกษตรยังเพิ่มการแพร่กระจายคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากอีกด้วย การศึกษาในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้มีข้อสรุปว่าระบบการเกษตรที่ไม่ใช้เครื่องจักรกล หรือการเกษตรแบบดั้งเดิมในประเทศอังกฤษ และเยอรมันใช้พลังงานจากฟอสซิลน้อยกว่าการผลิตเชิงอุตสาหกรรมถึงเจ็ดเท่า

.

ระบบการชลประทานสมัยใหม่เองก็ใช้พลังงานอย่างสูง การใช้ปั๊มน้ำเพื่อดูดน้ำขึ้นมาจากระดับที่ลึกกว่าสามสิบเมตร จำเป็นต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลมากถึงสามเท่าของการปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำฝน พื้นที่การเกษตรที่พึ่งพาระบบชลประทานตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ปลูกพืชพันธุ์ผสม หรือพืชปรับปรุงพันธุ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องการน้ำมากเช่นเดียวกับการต้องการสารเคมี

.

ในทางตรงกันข้าม เกษตรกรท้องถิ่นได้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์สืบต่อกันมา เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในท้องถิ่น พืชเหล่านี้มีรากที่สามารถหยั่งลึกเข้าไปในดินเพื่อหาความชุ่มชื้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์เชิงการค้าที่มีรากสั้นไม่ได้ไม่สามารถทำได้

.

ระบบชลประทานใช้น้ำมากกว่า 70% ของปริมาณน้ำที่ใช้กันในทั่วโลก และการใช้น้ำในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นสองเท่าในอีกสิบสองปี การขาดแคลนน้ำเป็นแรงกดดันที่จะทำให้เกิดการแปลงระบบกรรมสิทธ์ของน้ำให้เป็นของเอกชน (privatization) ซึ่งจะทำให้มีราคาค่าใช้น้ำสูงขึ้นจนกระทั่งเกษตรกรไม่มีกำลังที่จะจ่ายได้

.

ก่อนหน้ายุคเกษตรอุตสาหกรรม หลายภูมิภาคได้พัฒนาระบบการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตอาหารยังคงใช้ระบบนั้นเช่น ใช้น้ำฝน ใช้ระบบชลประทานไหลเวียนต่ำ และวิธีการอื่นๆ ที่ใช้ต้นทุนและเทคโนโลยีต่ำ ซึ่งทำให้มีผลผลิตอาหารสูง และอนุรักษ์ลุ่มน้ำ

.

การเกษตรอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในการขนส่ง การบรรจุหีบห่อ และการถนอมผลผลิตเพื่อการขนส่งทางไกล หนึ่งในแปดส่วนของปริมาณน้ำมันที่ใช้กันอยู่ในโลก เป็นน้ำมันที่ใช้ไปเพื่อการขนส่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขนส่งอาหาร

.

การขนส่งอาหารที่สิ้นเปลืองและไม่จำเป็นเช่นนั้นถูกเรียกว่า "the great food swap" หรือการแลกเปลี่ยนอาหารขนานใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายหนึ่งก็มีการส่งธัญพืชจากอเมริกาไปยังอินเดีย และอีกด้านหนึ่งก็ส่งธัญพืชจากอินเดียไปยังอเมริกา การซื้อขายทางไกลแบบนี้สร้างผลกำไรให้แก่องค์กรธุรกิจที่จำหน่ายธัญพืชเท่านั้น แต่กลับทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก

.

การผลิตและการกระจายอาหารในท้องถิ่นเป็นคำตอบหนึ่งในการลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการขนส่ง ถ้าระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมประสบความสำเร็จในการจัดหาอาหารและเส้นใยต่างๆ ให้แก่คนนับล้านมานานหลายศตวรรษ เหตุใดเราจึงเปลี่ยนรูประบบการเกษตรแบบนั้นไปสู่ระบบการผลิตอาหารที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ?

.
ระบบแห่งการทำลายเกษตรพื้นบ้าน

เราได้ทำลายระบบการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตรอันสิ้นเปลือง ทำให้โลกตกอยู่ในอันตราย ที่สำคัญองค์กรธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้ผลิตอาหารเพื่อคนในท้องถิ่น แต่กลับเน้นการผลิตอาหารที่มีราคาสูง หรือเป็นสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือย เช่น ดอกไม้ ต้นไม้กระถาง เนื้อวัว กุ้ง ฝ้าย กาแฟ ฯลฯ เพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่มีการบริโภคเกินขนาดอยู่แล้ว

.

ส่วนคนท้องถิ่นที่เคยอยู่อาศัยและผลิตอาหารเลี้ยงตนเองก็กำลังถูกทำให้ต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานอย่างรวดเร็ว ระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักรกลเป็นหลัก ไม่ได้ช่วยให้แรงงานระดับล่างมีงานทำ ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ประชาชนผู้ที่เคยเลี้ยงตนเองต้องกลายมาเป็นคนไร้ที่ดิน ไร้เงิน ไร้บ้าน ตกอยู่ในภาวะพึ่งพา และหิวโหย

.

นอกจากการสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อส่งออกได้ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขนานใหญ่ โดยการเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออกและใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณสูง

.

ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ที่ซึ่งมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่มาก ครั้งหนึ่งเคยมีการปลูกข้าวนับพันสายพันธุ์ ปัจจุบัน มีการปลูกเพียงบางสายพันธุ์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ สูญหายไป ประเทศเม็กซิโกได้สูญเสียสายพันธุ์ข้าวโพดพื้นเมืองไปถึง 75% ข้อมูลจาก FAO ระบุว่า โลกได้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปมากถึง 75% ของความหลากหลายของพืช เพราะโลกาภิวัตน์ของอุตสาหกรรมการเกษตร

.

ด้วยเหตุนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกว่า เราจำเป็นที่จะต้องเลิกพึ่งพาอาหารที่ผลิตจากการระบบเกษตรอุตสาหกรรมเสียที เพราะระบบนี้ทำให้มีการใช้สารเคมี น้ำ และเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในปริมาณสูง ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ

.

เราควรที่จะหันกลับไปพึ่งพาระบบการผลิตในท้องถิ่นแบบดั้งเดิมที่มีความยั่งยืนแทน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศโลก แต่ยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางอาหาร อนุรักษ์สัตว์ป่า และพืชพรรณอื่นๆ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องดิน น้ำ และสภาวะอากาศของโลก

.

ข้อมูลจาก Cavangh J., and Mader, J. (editors) (2004). Alternative to Economic Globalization: A Better world is Possible. San Francisco: Berrett-Koehlers Publisher, INC.

.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม