เนื้อหาวันที่ : 2009-01-26 14:51:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2602 views

ความจริงที่เหมืองทองพิจิตรกับการละเมิดสิทธิชุมชน

กลุ่มชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการอนุญาตทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน เรียกร้องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของพวกเขาเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน

ศรีสุวรรณ จรรยา

กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ

.

ตามที่ชาวบ้านในเขตรอยต่อ 3 จังหวัดระหว่างพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการอนุมัติใบประทานบัตรเหมืองแร่เฟส 2 จำนวน 5 แปลงในเขตจังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 1,309 ไร่เศษ และ 4 แปลงในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์รวมเนื้อที่ 1,156 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เลขที่26917/15804, 26920/15807, 26922/15805, 26921/15806 และ 26923/15808

.

ซึ่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (ในขณะนั้น) ลงนามอนุมติให้แก่บริษัทไทยสัญชาติออสเตรเลีย ที่ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อการสำรวจแร่ทองคำ – ประทานบัตร เมื่อปี 2536 ไปแล้ว 14 แปลง บนเนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่นั้น เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของสภาทนายความ จึงได้ถือโอกาสเดินทางไปสำรวจสถานที่ดังกล่าวเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง

.

และเมื่อลงไปในพื้นที่ก็พบความจริงหลายอย่างที่ไม่อาจนิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการแผ้วถางป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผืนดินที่สูญหาย ภูเขาที่ถูกทำลายจนเกือบหมด ฝุ่นละอองคลุ้งกระจาย รวมทั้งปัญหาการแพร่กระจายของสารพิษไซยาไนต์ และสารพิษอื่นๆ ในบริเวณแหล่งน้ำที่อยู่โดยรอบ ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการกระทบสิทธิของประชาชน หรือของชุมชนโดยตรง

.

ล่าสุด กลุ่มชาวบ้านได้เดินทางมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ เพื่อขอให้สภาทนายความยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองและศาลยุติธรรม กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้ประทานบัตรเหมืองทองเฟส 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายฉบับ หลายมาตรา รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ

.

โดยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินดังกล่าวได้มีการรวบรวมรายชื่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เดือดร้อน และที่เจ็บป่วยในพื้นที่มามอบให้กับสภาทนายความเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประทานบัตรที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ทั้งหมดแล้วกว่า 65 ราย เนื่องจากมีกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม และขัดต่อกฎหมาย โดยสภาทนายความได้มอบหมายให้คณะทำงานลงพื้นที่ไต่สวนข้อเท็จจริง จนได้ข้อสรุปเป็นที่ประจักษ์และเห็นถึงสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของชาวบ้านแล้ว

.

เดิมทีนั้นผู้แทนชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองจะร่วมลงชื่อฟ้องมากกว่านี้ แต่พอทางเหมืองรู้ข่าวการเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็ได้ใช้ความพยายาม ใช้กลวิธีหลายอย่างในการลดแรงคัดค้าน เช่น ให้คนในพื้นที่จำนวนหนึ่งเข้าทำงานและขู่ว่าจะเลิกจ้างหากร้องเรียนกับบริษัท ความกังวลเรื่องตกงานไม่เพียงจะส่งผลถึงเจ้าตัว ยังรวมไปถึงญาติของผู้ที่เข้าไปทำงานในเหมืองด้วย หรือไม่ก็ให้ความหวังว่าจะรับซื้อที่ดินจากชาวบ้านในเร็ววันนี้ เป็นต้น

.

"คนที่นี่รู้กันดีว่ามันมีผลกระทบจริง ๆ แรกเริ่มที่ชาวบ้านยินยอมให้เปิดเหมืองในปี 2544 เพราะเชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทบอกว่าเหมืองจะทำให้เกิดการสร้างงานให้แก่ทุกคนในชุมชน จะดูแลเรื่องอนามัยและสวัสดิการ เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองขุดแร่ขึ้นมาทั้งหมดแล้ว ก็จะเอาดินกลบปลูกต้นไม้ให้คืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ แต่พอเปิดเหมือง ก็รู้ซึ้งว่าความจริงคืออะไร"

.

เช่น ชาวบ้านหมู่ 9 เขาหม้อ พบว่าบริษัทไม่ให้ตำแหน่งงานกับทุกคน และหมู่บ้านไม่เคยได้รับการดูแลช่วยเหลือจากทางบริษัท แต่กลับมีผลกระทบต่อประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นน้ำบาดาลปนเปื้อน ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องเจอปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เสียงจากการระเบิดเหมือง จากนั้นมาชาวบ้านก็เริ่มต่อต้านการทำเหมือง เพราะสิ่งที่สัญญาไว้ไม่เป็นจริง เหลือแต่มลพิษที่ทิ้งไว้กับบ้านของเรา” ตัวแทนชาวบ้านให้ข้อมูล

.

เมื่อราวปี 2550 เคยมีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนออกมาประท้วงที่หน้าเหมืองเพราะปัญหาเรื่องน้ำในแหล่งน้ำรอบพื้นที่โครงการ เนื่องจากน้ำมีสารพิษเจือปนไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ชาวบ้านก็พยายามเจรจากับเหมืองให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ช่วงหนึ่งบริษัทเจ้าของเหมืองก็ได้เอาน้ำดื่มลงมาแจกให้ชาวบ้านแต่ไม่ถึง 3 เดือน ทางบริษัทก็ยืนยันว่าตัวอย่างน้ำจากแหล่งธรรมชาติไม่พบการปนเปื้อน ทางบริษัทก็ยกเลิกการแจกน้ำตั้งแต่บัดนั้นจนถึงทุกวันนี้ชาวบ้านต้องรับภาระในการซื้อน้ำกินน้ำ น้ำใช้เอง เพราะน้ำจากแหล่งธรรมชาติชาวบ้านไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปแล้ว

.

ในขณะนี้เมื่อประทานบัตรออกมาแล้ว บริษัทก็เริ่มระเบิดเขาเปิดหน้าดินตลอด 24 ชั่วโมงชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องเสียงดัง ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือถึงอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 เชียงใหม่ จนเมื่อวันที่ 23-26 พ.ย.2551 ที่ผ่านมา ก็ได้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจให้ โดยเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าเสียงดังเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้จริง ส่วนผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจะออกมาประมาณเดือนมกราคม 2552 นี้

.

นอกจากนั้น ยังพบความจริงว่าโรงเรียนบ้านเขาหม้อ ที่อยู่ติดกันกับบริเวณเหมือง ปัจจุบันได้กลายเป็นโรงเรียนร้างไปแล้ว ไม่มีเด็กนักเรียนมาเรียน เพราะครูขอย้ายหนีกันไปหมด เพราะไม่อาจทนสอนอยู่ภายใต้ภาวะมลพิษและแรงกดดันต่างๆ เพื่อให้ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น ทำให้นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่จำต้องย้ายตัวเองไปเรียนที่อื่นที่แสนไกล โดยต้องเดินทางไปเรียนระยะทางที่ไกลมากขึ้น

.

ในขณะที่หน่วยงานการศึกษาในจังหวัดก็เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา รวมทั้งวัดที่อยู่ใกล้โรงเรียนก็ถูกกดดัน จนพระเณรต้องหนีไปจำพรรษาที่วัดอื่นเกือบหมด เหลือเพียงเจ้าอาวาสที่อยู่กล้าเผชิญหน้าอิทธิพลแต่เพียงลำพัง ในขณะที่ศาลาการเปรียญที่ก่อสร้างขึ้นโครงสร้างไว้ใหญ่โต ต้องมาพลอยยุติการก่อสร้างลงเพราะถูกกดดันไม่ให้สร้างต่อ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาทำบุญที่วัด นี่ก็เป็นเหตุสงสัยหนึ่งที่ว่าหน่วยงานรัฐอนุญาตให้ใช้พื้นที่นี้ได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับโรงเรียน สถานศึกษา และวัด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว

.

สำหรับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองทอง ในเฟส 2 นั้น บริษัทยื่นขอประทานบัตรเหมืองเฟส 2 ตั้งแต่ปี 2548 มีการติดประกาศในหมู่บ้าน หลังจากนั้นไม่ถึง 20 วันชาวบ้านก็รวมตัวคัดค้านตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ต่อมาทางบริษัทพยายามจะขอมติของ อบต. ซึ่ง อบต.ผู้ใหญ่บ้านที่มีส่วนได้เสียก็มีมติเห็นชอบไปโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน

.

จากนั้นชาวบ้านก็พยายามรวมกลุ่มร้องเรียนโดยตลอด เช่น ทำหนังสือถึง อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ คณะกรรมาธิการวุฒิสภา แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก

.

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ชาวบ้านเล่าให้ฟัง หลังจากที่ได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ จะพบว่าข้าราชการและหน่วยงานราชการส่วนใหญ่พยายามช่วยเหลือบริษัทมากกว่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไทย โดยเฉพาะการมองข้ามความเดือดร้อนของชาวบ้านกว่า 5 ปีที่มีการเปิดเหมือง จนต่อมารัฐมนตรีสุวิทย์ก็อนุมัติให้

.

 อนึ่ง ประทานบัตรเหมืองทองคำ 9 แปลงนี้ คาดว่าจะมีทองคำบริสุทธิ์อยู่เกือบ 1 ล้านออนซ์ มูลค่าร่วม 3 หมื่นล้านบาท และบริษัทแห่งนี้ก็ได้พยายามยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองทั้ง 9 แปลงนี้มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กระทั่ง 21 กรกฎาคม 2551 จึงได้รับการอนุมัติ

.

เมื่อลองกลับมาพิจารณาดูข้อกฎหมายก็จะพบว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ระบุความรับผิดชอบของเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษไว้ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย

.

หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม

.

นอกจากนั้นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

.

ส่วนหน่วยราชการนั้น ไม่อาจปฎิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ระบุว่าหากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือรูปแบบขั้นตอน หรือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ย่อมมีความผิด และต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนเฉกเช่นเดียวกัน

.

ดังนั้น เมื่อกลุ่มชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินในพื้นที่ดังกล่าว ออกมาเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67 เพื่อยืนยันในสิทธิชุมชน สิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของพวกเขาเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมได้ในเร็ววัน...โปรดติดตาม

.
ที่มา : ประชาไทดอทคอม