เนื้อหาวันที่ : 2009-01-26 14:03:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1341 views

วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ยนโยบาย-ใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องประคองศก.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) วันที่ 27-28 ม.ค.นี้ จะคงมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มประสบกับภาวะถดถอยที่ลึกและยาวนาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) วันที่ 27-28 ม.ค.นี้ จะคงมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มประสบกับภาวะถดถอยที่ลึกและยาวนาน

.

โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ระบุว่า IMF กำลังจะปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ลงอีกในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ พ.ย.51 เพิ่งจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจติดลบ 0.7% ในปีนี้

.

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ยังมีทิศทางที่เปราะบางและมีแนวโน้มอ่อนแอตลอดช่วง H1/52 โดยดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการยังบ่งชี้ถึงภาวะถดถอย ส่วนการจ้างงานหดตัวลงประมาณ 2.59 ล้านตำแหน่งในปี 51 และอัตราการว่างงานได้ปรับขึ้นมาที่ 7.2% ในเดือน ธ.ค.51  

.

"แม้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เหลือพื้นที่ให้เฟดดำเนินการผ่อนคลายเพิ่มเติมได้อีกแล้ว แต่เชื่อว่าเฟดจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

โดยที่ผ่านมา เฟดได้ดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณด้วยการอัดฉีดเสริมสภาพคล่องผ่านช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความตึงตัวของตลาดสินเชื่อ เช่น มาตรการเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์(Commercial Paper) ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเอกชน และมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายหรือที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกระทั่งสินทรัพย์ของเฟดขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

.

ผลจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายผ่านเครื่องมือต่างๆ ของเฟด ก็ได้สะท้อนภาพความสำเร็จออกมาในระดับหนึ่งผ่านการปรับตัวดีขึ้นของภาวะตลาดเงิน เช่น การปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ฯ (Libor) รวมถึงค่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย Libor และอัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลัง ระยะเวลา 3 เดือน (TED Spread)

.

ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะตึงตัวในตลาดเงินได้ทยอยผ่อนคลายลงตามลำดับ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage rate) เริ่มปรับตัวลงมาชัดเจนโดยเฉพาะนับตั้งแต่ใน Q4/51 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการช่วยบรรเทาภาระการผ่อนชำระหนี้ให้กับผู้บริโภคสหรัฐฯ

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ยังคงมีโจทย์ที่ท้าทายซึ่งจะสนับสนุนให้เฟดยังคงต้องดำเนินนโยบายเชิงปริมาณโดยใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกจนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเฉพาะกิจเหล่านั้นอีก

.

ทั้งนี้ เพื่อที่จะแก้ไขภาวะชะงักงันของกลไกการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เฟดอาจพิจารณาจัดสรรวงเงินเพื่อค้ำประกันความสูญเสียที่เกิดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเพิ่มเติมอีก และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจส่งสัญญาณว่าจะดำเนินมาตรการอื่นเพิ่มเติมในระยะถัดไป เช่น แนวทางการใช้งบดุลของเฟดโดยเฉพาะการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasuries) หรือแม้กระทั่งการซื้อหุ้นกู้เทศบาล (Muni Bonds) และหุ้นกู้เอกชนในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แนวทางดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สินทรัพย์ของเฟดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก

.

นอกจากนี้ เฟดคงจะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานของทางการอื่นๆ ทั้งกระทรวงการคลัง และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) ในการวางแนวทางเพื่อรับมือกับการยึดบ้านที่ติดจำนองซึ่งกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย