เนื้อหาวันที่ : 2009-01-21 10:23:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1112 views

อภิประชานิยม ลุยก๊อก 2 มาตรการภาษีชุดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจทำรัฐรับภาระราว 4 หมื่นลบ.

กรณ์ รมว.คลัง เผยมาตรการภาษีชุดใหญ่หนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาท อุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์, ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยว ธุรกิจเงินร่วมลงทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการโอนกิจการบางส่วน คุยโวกระตุ้นและสร้างความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

กรณ์ รมว.คลัง เผยมาตรการภาษีชุดใหญ่หนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาท อุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์, ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยว ธุรกิจเงินร่วมลงทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการโอนกิจการบางส่วน คุยโวกระตุ้นและสร้างความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงมาตรการภาษีชุดใหญ่เพื่อสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาครัฐต้องเข้ามารับภาระแทนประชาชนราว 4 หมื่นล้านบาท โดยจะเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์, ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME), วิสาหกิจชุมชน, การท่องเที่ยว, ธุรกิจเงินร่วมลงทุน, การปรับโครงสร้างหนี้ และการโอนกิจการบางส่วน

.

"เราหวังว่ามาตรการเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดภาระให้กับประชาชนแล้ว ยังมีผลต้อการแก้เศรษฐกิจบางปมและนำไปสู่เป้าหมายการกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้" นายกรณ์ กล่าว

.

ทั้งนี้ มาตรการภาษีเพื่อลดรายจ่ายทางภาษีสนับสนุนการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการปรับโครงสร้าง จะทำให้รัฐบาลสูญเสยรายได้กว่า 40,000  ล้านบาท แยกเป็น ภาคอสังหาริมทรัพย์ 36,500 ล้านบาท ภาคธุรกิจ SME 1,400 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน 200 ล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว 1,800 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีทีเกี่ยวข้องกับเงินร่วมลงทุน และการปรับโครงสร้างหนี้

.

"มาตรการต่างๆ ที่ออกมา หากมีผลต่อการสูญเสียรายได้ของรัฐมากเท่าใดก็จะยิ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษบกิจมากเท่านั้น" นายกรณ์ กล่าว

.

โดยมาตรการภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และโอนภายในปี 52 วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท คงสิทธิดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และการต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3.3% เหลือ 0.11% ถึงเดือน มี.ค.53 ซึ่งจำกัดเฉพาะในส่วนที่เป็นการก่อสร้างใหม่เท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อขายที่อยู่อาศัยซึ่งก่อสร้างไว้เกินความต้องการของตลาดก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยมือสอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

.

ทั้งนี้เพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปี 52  ลดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้ประกอบการ ข่วยให้เกิดการใช้สภาพคล่องส่วนเกินของสถาบันการเงิน ลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้โอนที่อยู่อาศัยใหม่ 1 แสนแห่ง โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้จากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ 30,000 ล้านบาท ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา  6,500 ล้านบาท แต่จะมีภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น

.

"ไม่ใช่ประชาชนไม่มีเงินซื้อ แต่ยังลังเลที่จะตัดสินใจซื้อ เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาจะช่วยให้ตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น...ท่านที่ซื้อบ้านก็เท่ากับว่าได้ลดราคา ยกตัวอย่างบ้านที่ขายดีราคาประมาณหลังละ 1.5-2 ล้านบาท ผู้ซื้อเสียภาษีเงินได้ 20% ก็จะลดไปได้ 6 หมื่นบาท"นายกรณ์ กล่าว

.

มาตรการภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องมาคำนวณภาษีในอัตรา 0.5% จาก 60,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาท ช่วยลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  และยังเป็นการขยายวงเงินยกเว้นภาษี จาก 300บาท/ปี เป็นที่เกินกว่า 5,000 บาท/ปี  โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ 9.7 แสนราย

.

มาตรการภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นการเพิ่มเพดานวงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท สำหรับเงินได้ในปี 52-53  ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ประโยชน์ 58,000 แห่งทั่วประเทศ  

.

มาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยว  โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาในประเทศ (ค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา) มาหักภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายในรอบปีบัญชี 52 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร โดยคาดว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท

.

มาตรการภาษีสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน  เป็นการขยายเวลาการขึ้นทะเบียนนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) ถึง วันที่  31 ธ.ค. 54 และยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนต้องนำเงินไปลงทุนใน SME ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนจดทะเบียนในปีแรก  และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นของ SME  ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวของ SME  และพัฒนาตลาดทุนไทย หาก SME เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

.

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเว้นภาษีสำหรับเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่นๆ ให้เจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

.

สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนสินทรัพย์ การขายสินค้า และการกระทำจากการปรับโครงสร้างหนี้ การโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น โดยลูกหนี้ต้องนำเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

.

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องจากการโอนกิจการบางส่วน โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรมที่ดิน ที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วน แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชน หรือ บริษัทจำกัด โดยการโอนต้องแล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.52 ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และลดภาระค่าใช้จ่าย