เนื้อหาวันที่ : 2009-01-15 13:34:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1326 views

รมว.คลัง วอนแบงก์ลดสเปรดดอกเบี้ย-ผลักดันควบรวมตลาดทุนปท.เพื่อนบ้าน

กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง รัฐมนตรีป้ายแดง อ้อนวอนธนาคารลดส่วนต่างดอกเบี้ย หวั่นลูกค้าไปไม่รอด ชี้ของไทยยังสูงถึง 6 % ขณะที่ต่างประเทศแค่ 1.5 %เท่านั้น พร้อมเร่งผลักดันควบรวมตลาดทุนประเทศเพื่อนบ้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลงมากนัก เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปถึง 1% ในเดือน ธ.ค.51 แต่ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเพียง 0.25% เท่านั้น เหตุผลอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จึงต้องเผื่อสำรองส่วนต่างของดอกเบี้ยไว้

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

.

รมว.คลัง มองว่า ประเทศไทยมีทางเลือกน้อยในการระดมเงินและส่วนใหญ่เป็นการระดมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ส่วนต่าง(สเปรด)อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยยังสูงถึง 6% ในขณะที่ต่างประเทศมีสเปรดอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น และอำนาจการครอบครองส่วนแบ่งตลาดจะอยู่ที่แบงก์ใหญ่ ดังนั้น จึงต้องการเห็นสเปรดดอกเบี้ยลดลง

.

พร้อมยอมรับว่า สเปรดดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ระดับสูงเกิดจากความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้อดมองไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนแบ่งการตลาดที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยแบงก์พาณิชย์ต่างประเทศมีการแข่งขันมาก แต่ต้นทุนไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทย

.

"อยากขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ปรับลดสเปรด ซึ่งหากธนาคารคิดดอกเบี้ยสูงในระยะยาว ลูกค้าไปไม่รอด แบงก์ก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้...ผมพร้อมที่จะเป็นตัวแทนเพื่อชี้แจง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับธนาคารพาณิชย์ในการขอความร่วมมือให้ช่วยลดสเปรด ซึ่งอยากให้พูดคุยกันด้วยเหตุและผล"รมว.คลัง ระบุ

.

นายกรณ์ มองว่า การเพิ่มจำนวนธนาคารให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นและไม่ให้ส่วนแบ่งการตลาดกระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารขนาดใหญ่นั้น อาจจะช่วยแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ธนาคารจากมาเลเซียเข้ามาถือหุ้นในธนาคารของไทยเพื่อให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ แต่จำนวนแบงก์ที่มีมากขึ้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

.

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อเข้าไปมีส่วนในการระดมทุนของเอกชนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนแล้ว และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้วางแนวทางการพัฒนาตลาดทุนโดยเร็ว และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการหลายภาคส่วน

.

ทั้งนี้ยอมรับว่าการพัฒนาตลาดทุนไทยยังมีปัญหาเรื่องขนาดของตลาดที่ยังมีขนาดเล็ก แม้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดเท่ากับผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)ก็ตาม ดังนั้น ระยะยาวจึงมีแนวคิดจะผลักดันให้มีการควบรวมตลาดทุนเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความสำคัญในสายตานักลงทุนโลก โดยจะนำแนวคิดดังกล่าวหารือในการประชุม รมว.คลังอาเซียนเดือน พ.ค.52