เนื้อหาวันที่ : 2009-01-15 09:49:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1304 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองแนวโน้มปัจจัยเอื้อให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นโยบายการเงิน กนง. ที่เผยออกมาภายหลังการประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% สะท้อนความกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และคลายความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อลงอย่างชัดเจน ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมยังเอื้อให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้อีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่เปิดเผยออกมาภายหลังการประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% ในวันนี้สะท้อนความกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และคลายความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อลงอย่างชัดเจน ขณะที่ปัจจัยแวดล้อมยังเอื้อให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้อีก

.

กนง.ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อปรับตัวอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องตามทิศทางของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกของไทยอาจเริ่มหดตัวลงตามการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนยังคงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่เปราะบาง แม้การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้นจะเอื้อต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปก็ตาม

.

ทั้งนี้ กนง.ระบุว่า "ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระหว่างที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ และแรงกระตุ้นจากภาคการคลังอาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง"

.

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงหนุน หลังจาก กนง.ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 1.75 สู่ระดับร้อยละ 2.00 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 2 รอบล่าสุด แต่ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น อาจจะยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจไทย พร้อมๆ กับภัยคุกคามจากเงินฝืดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 52

.
ทั้งนี้ ประเด็นแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอดังกล่าวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ในระยะถัดไป
.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะเริ่มพลิกกลับมามีอัตราที่ติดลบตั้งแต่เดือน ม.ค.52 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจโน้มลงสู่กรอบด้านต่ำของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ได้ผ่อนคลายลงอย่างมากนั้นจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไปเพื่อดูแลเศรษฐกิจ

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลไกการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ ธปท.ยังคงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในระบบ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินอาจไม่ถูกปรับลดลงมากเท่ากับขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อันเป็นผลจากประเด็นด้านความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนในการตั้งสำรองหากสินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นหนี้เสีย

.

ประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตาในระยะถัดไปเช่นเดียวกันก็คือ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ตลอดจนแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะหดตัวโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 52 ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงจะทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาท(เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย) พร้อมๆ ไปกับการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินเพื่อบรรเทาความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ