เนื้อหาวันที่ : 2009-01-14 09:14:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1107 views

ม.หอการค้าคาดส่งออกปี 52 ติดลบ 1.6% พิษ ศก.ทำทั่วโลกชะลอคำสั่งซื้อ

ปี 52 คาดว่าการส่งออกปีนี้มีโอกาสติดลบ 1.6% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 173,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในครึ่งปีแรกจะติดลบถึง 10.2% จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกชะลอการสั่งซื้อ แต่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นกลับมาเป็นบวก 6.9% ในครึ่งปีหลัง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการประเมินอุปสรรคภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 52 คาดว่าการส่งออกปีนี้มีโอกาสติดลบ 1.6% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 173,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในครึ่งปีแรกจะติดลบถึง 10.2% จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกชะลอการสั่งซื้อ แต่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นกลับมาเป็นบวก 6.9% ในครึ่งปีหลัง

.

การส่งออกไปตลาดหลักจะได้รับผลกระทบติดลบหนักถึง 0.7% แบ่งเป็นสหรัฐฯ -6.3% สหภาพยุโรป -3.5% แต่ญี่ปุ่นโต 0.6% อาเซียนโต 4.3% ส่วนตลาดใหม่โต 9.7% แบ่งเป็นตะวันออกกลาง 8.3% แอฟริกา 17.8% ยุโรปตะวันออก 20.2% เอเชียใต้ 2.6% จีน 2.7%

.

ส่วนการนำเข้าปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 6.7% มีมูลค่า 167,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงตามทิศทางการส่งออกและการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่ดุลการค้าจะเป็นบวก 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ 3,690 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะดุลบริการลดลงจากการท่องเที่ยว

.

"ผลการศึกษาได้สรุปแนวทางเป็น 3 กรณี และคาดว่าโอกาสที่ส่งออกจะติดลบ 1.6% มีสูงถึง 50% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐาน GDPโลกขยายตัวเพียง 0.9% อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมัน 51.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะติดลบเพิ่มเป็น 6.4% ได้หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้นอีก ส่วนโอกาสที่ส่งออกจะกลับมาเป็นบวกตามเป้าหมาย 3.1% มีเพียงน้อยนิดแค่ 15% เท่านั้น" นายอัทธ์กล่าว

.

นายอัทธ์ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศปี 52 จะเผชิญปัจจัยลบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าลดการนำเข้าและการแข่งขันทางการค้าจะรุนแรงขึ้น เพราะประเทศผู้ส่งออกต่างต้องการหาตลาดใหม่ นอกจากนี้จะมีการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น ผ่านมาตรการสิ่งแวดล้อม, แรงงานที่เข้มงวด รวมทั้งผู้ประกอบการอาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง หลังธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ

.

สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกปี 52 มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกทรงตัว คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เช่น อัญมณี, เครื่องหนัง ขณะที่สินค้าที่สามารถส่งออกได้ดี คืออาหารและสินค้าเกษตร เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องบริโภคอย่างต่อเนื่อง

.

"เป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ขยายตัว 3% ในปีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่ถ้าภาครัฐทำตามมาตรการกระตุ้นส่งออกที่วางแผนไว้ได้ผล ก็จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังมีปัจจัยบวกจาก GSP สหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งปัญหาคุณภาพสินค้าของคู่แข่งจะทำให้คู่ค้าหันมาซื้อสินค้าไทยมากขึ้น และคาดว่าปีนี้แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยอีก  0.5-1% เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายอัทธ์ กล่าว