เนื้อหาวันที่ : 2006-09-18 14:13:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1050 views

สมคิด ผนึก กกร.ดันแบนด์ไทยส่งออก ตั้งเป้า 7 ล้านล้านภายใน 5 ปี

สมคิด ดึง กกร.ร่วมผลักดันส่งออกโต 7.7 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หนุนเพิ่มสัดส่วนส่งออกเอสเอ็มอีเกิน 50% จากปัจจุบัน 30% “ส.อ.ท.” ชี้ส่งออกไทยมีโอกาสทะลุเป้าได้ แต่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิด ด้านหอการค้าเสนอใช้แบรนด์ต่างชาติ ดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

ดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ระหว่างผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 ราย และคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันเอกชน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

.

การพบปะกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและเป็นเรื่องดีที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าในแต่ละภูมิภาค เพื่อร่วมกันผลักดันการส่งออกของประเทศ ซึ่งในวันที่ 13-14 กันยายน 2549 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้ทาง กกร.ส่งตัวแทนร่วมให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศต่อไป

.

ทั้งนี้ ดร.สมคิด เรียกร้องให้ภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงให้ภาคเอกชนกับภาคเอกชน ร่วมมือทำงานกันอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยต้องมีมูลค่าเท่ากับขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปัจจุบันที่มีมูลค่า 7.7 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท ต้องมีอัตราการเติบโตปีละไม่น้อยกว่า 10%

.

มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ต้องเป็นการส่งออกที่มีส่วนมาจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เกิน 50% ของมูลค่าส่งออกจากปัจจุบันที่เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วนการส่งออกเพียง 30% ของมูลค่าส่งออกเท่านั้นต้องการเห็นว่าภาคเอกชน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน กับต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องไอที และการพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสากล

.

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมหารือนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การค้าต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าปัจจุบันสหรัฐเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีสัดส่วนการส่งออก 15% แต่พบว่าส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลงจาก 1.35% ในปี 2543 เหลือเพียง 1.19% ในปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากส่วนแบ่งทางการตลาดของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 8-9% ในปี 2543 เป็น 15% ในปี 2548

.

ขณะที่การส่งสินค้าออกไปสหรัฐนั้น มีอุปสรรคที่ต้องระมัดระวัง ดร.สมคิดกล่าวว่าตนหนักใจเรื่องจีเอสพี เพราะสหรัฐนำเรื่องนี้มาต่อรองกับไทย ตอนนี้สหรัฐกำลังประเมินว่าจะตัดสิน ขั้นสุดท้ายอย่างไร ซึ่งตนได้ไปหารือเรื่องนี้กับทางสหรัฐมาแล้ว แต่ต้องมีการส่งคนไปติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

.

ส่วนเรื่อง เอฟทีเอไทย สหรัฐ นั้น ได้สั่งให้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้พร้อม รวมทั้งไปหารือกับ NGO และนักวิชากการให้เข้าใจการเจรจา เอฟทีเอของรัฐบาล และนายการุณเตรียมข้อมูลการเจรจาให้รัฐบาลใหม่ เพื่อให้ดำเนินการเจรจาต่อได้ทันที

.

นางจันทรา  บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกในปี 2550 นั้น ต้องยอมรับว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และยังรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ที่จะมีเพิ่มขึ้นทำให้เชื่อว่าการส่งออกของไทยในปี 2550 จะขยายตัวได้ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งฐานกานส่งออกของไทยสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นฐานใหญ่มาก

.

นายสันติ  วิลาสศักดานนท์  ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.เห็นว่าถ้ามีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้มีมูลค่าเกิน 5 ล้านล้านบาท ในปีนี้ได้ รวมทั้งการที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้สัดส่วนการส่งออกของเอสเอ็มอีเพิ่มจาก 30% เป็น 50% มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ในอนาคตภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยภาคเอกชนต้องการทราบว่าผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศมีกำหนดการเดินทางมาไทยล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อให้เอกชนเตรียมข้อมูลที่จะเข้าไปหารือช่องการค้าการลงทุนในประเทศนั้น ๆ กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

.

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำการตลาดของจีนใช้วิธีการซื้อแบรนด์ของต่างประเทศมาผลิตสินค้า ดันแบรนด์ของตนเองออกสู่ตลาดส่งออก ทำให้ขยายตัวได้เร็ว ซึ่งยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ จะต้องมีการหารือในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการทำแบรนด์ในสหรัฐ

.

คุณหญิงชฎา  วัฒนศิริธรรม ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะช่วยเหลือการส่งออกและการส่งเสริมเอสเอ็มอี เพราะแนวทางดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยธนาคารสาขาในต่างประเทศจะเข้าไปช่วยเรื่องธุรกรรมางการเงินให้กับเอกชนไทยที่ไปทำการค้าการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่หลายรายเข้าไปผลิตเพื่อส่งออก เช่น เครื่องนุ่งห่ม