เนื้อหาวันที่ : 2009-01-09 14:34:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1855 views

นักวิชาการฟันธงอุตฯโทรคมนาคมอาเซียนรุ่งแนะเปิดกว้างทางธุรกิจดึงเงินลงทุนเพิ่ม

ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แม้อาเซียนจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัจจัยหนุนสำคัญ มาจากการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อให้การบริการแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 3G, 3.5G, 4G, WiMAX, NGN เซ็นเซอร์ เน็ทเวิร์ค และแอดฮอค เน็ทเวิร์ค

นักวิชาการออกมาฟันธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ มาจากการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อให้การบริการแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 3G, 3.5G, 4G, WiMAX, NGN เซ็นเซอร์ เน็ทเวิร์ค และแอดฮอค เน็ทเวิร์ค

.

วานนี้ (8 มค. 2552) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ร่วมกับสถาบันการค้าโลกและกฎระเบียบการค้า การลงทุน มหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดงานดินเนอร์ ทอล์ค ภายใต้หัวข้อ การลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในอาเซียนโดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมเวทีสัมมนา

.

ประกอบด้วย ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธและนวัตกรรม บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และดร. อีริค โบห์ลิน มหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology, Goteborg โดยมีพ.ต.ต. ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันนิด้า เป็นผู้ดำเนินรายการ

.

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวว่า แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่การเติบโตของภาคธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ มาจากการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อให้การบริการแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 3G, 3.5G, 4G, WiMAX, NGN เซ็นเซอร์ เน็ทเวิร์ค และแอดฮอค เน็ทเวิร์ค

.

ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมเริ่มเปลี่ยนจากการใช้ระบบเน็ทเวิร์คมาสู่การเป็น IP เน็ทเวิร์ค รวมถึงการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการหลากหลายแบบ หรือ converged services ดังนั้น สื่อดิจิทอลจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และผลักดันพัฒนาการด้านเน็ทเวิร์คดังกล่าว

.

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือ การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะประสบความล้มเหลวในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยการปิดบังข้อมูลของผู้ประกอบการที่ครองตลาดอยู่ก่อน เป็นปัจจัยทำให้การตัดสินใจในการลงทุนเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งจุดนี้นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย

.

กรรมการ กทช.ยังกล่าวด้วยว่า คาดว่าในปี 2552 นี้ ภาคธุรกิจโทรคมนาคมจะเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคธุรกิจนี้ก็จะเติบโตขึ้นด้วย แต่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าในปีก่อน อันเป็นผลมาจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะมีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาพัฒนาระบบ 3G และ WiMAX เพื่อให้ทันเปิดบริการก่อนสิ้นปี 2552 นี้อย่างแน่นอน ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมให้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง

.

ด้าน ดร. อีริค โบห์ลิน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology, Goteborg เสนอแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธุรกิจโทรคมนาคม ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนว่า กลุ่มประเทศอาเซียนควรเปิดกว้างธุรกิจโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนรายย่อย เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสามารถเกื้อหนุนการลงทุนได้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการบังคับควบคุมของส่วนราชการ

.

ขณะที่ ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ICT กับการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นในประเทศหลักๆ ยกเว้นในบางประเทศที่การพัฒนาทางโทรคมนาคมมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่ทัดเทียมกันก็ตาม

.

ปิดท้ายที่ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธและนวัตกรรม บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งระบุว่า ปัญหาในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นความล่าช้าในการอนุญาตให้กับระบบ 3G และการขาดบุคคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะคนเก่งจะเลือกเรียนการตลาดหรือการเงินมากกว่าที่จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี นอกจากนี้การที่มีพื้นฐานทางความคิดไม่เหมือนกันก็เป็นปัญหา

.

"การที่คนไทยมีความแตกต่างทางความคิดมากนั้นก็เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนา digital community ในปัจจุบันประเทศไทยมีเม็ดเงินในธุรกิจโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตที่นับว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งความแตกต่างทางความคิดของผู้บริโภค และวัฒนธรรมผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจากการไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะมาสนับสนุนการพัฒนาแบบครบวงจร" ดร. อธิป กล่าวสรุป