เนื้อหาวันที่ : 2009-01-09 13:11:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1094 views

ส.อ.ท.เห็นพ้อง TDRI ลดเก็บเงินประกันสังคม ช่วยผู้ประกอบการช่วงศก.ถดถอย

สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นด้วย TDRI ที่ให้ยกเว้นการจัดเก็บเงินประกันสังคมจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อเดือน ลดลงทั้งระบบทั้งในส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง เหลือ 0.5-1% เป็นการชั่วคราว 1-2 ปี หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม

ส.อ.ท. เห็นด้วย TDRI ที่ให้ยกเว้นการจัดเก็บเงินประกันสังคมจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อเดือน ลดลงทั้งระบบทั้งในส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง เหลือ 0.5-1% เป็นการชั่วคราว 1-2 ปี หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เห็นด้วยกับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่ให้ยกเว้นการจัดเก็บเงินประกันสังคมจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 5% ต่อเดือน แต่ควรเป็นการลดการจัดเก็บลงทั้งระบบหรือทั้งในส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง เหลือเพียงประมาณ 0.5-1% เป็นการชั่วคราว 1-2 ปี ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม เพราะหากยกเว้นการจัดเก็บทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้สูงอายุที่แต่ละปีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

ส่วนงบกลางปี 1 แสนล้านบาท หากผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว รัฐบาลจะต้องเร่งรัดอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องควบคุมการใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการประเมินผลงานทุก 2-3 เดือน

.

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดตั้ง outlet เพื่อช่วยกระจายสินค้าและขยายช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอท็อป เนื่องจากปัจจุบันการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในอัตราสูง โดยเบื้องต้นควรจัดตั้ง outlet ราว 10-15 แห่ง

.

นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะเสนอให้มีการวางระบบเรื่องน้ำและพลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ  รวมถึงการแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และการแก้ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ

.

ส่วนการส่งออกของไทยในปี 52 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากตลาดหสรัฐและญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจ และประเทศผู้ส่งออกต่างๆ จะนำอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาใช้ในการแข่งขัน โดยพยายามบริหารให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมากที่สุด

.

ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องดูแลให้เงินบาทมีเสถียรภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยมองว่า ควรอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์จึงเหมาะสม พร้อมเชื่อว่าหากกระทรวงพาณิชย์เดินหน้ามาตรการกระตุ้นการส่งออกอย่างเต็มที่การส่งออกของไทยขยายตัวได้มากขึ้น แต่อยากให้ทูตพาณิชย์เจรจากับลูกค้าของผู้ประกอบการแก้ปัญหาชะลอคำสั่งซื้อสินค้าของผู้ประกอบการ