เนื้อหาวันที่ : 2009-01-07 15:07:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2420 views

กรมธุรกิจพลังงาน แจงอุบัติเหตุไฟไหม้รถโดยสาร NGV ปรับอากาศสาย 171

เมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน แจงกรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร NGV ปรับอากาศร่วมบริการสาย 171 ของบริษัท วังศกาญจน์กิจ จำกัด เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ 7 คัน ที่บริเวณอู่จอดรถของบริษัทฯ เมื่อเช้าวานนี้ (6 ม.ค. 52) ยืนยันไม่ได้เกิดจากก๊าซ NGV

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยถึง กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร NGV ปรับอากาศร่วมบริการสาย 171 ของบริษัท วังศกาญจน์กิจ จำกัด เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ 7 คัน ที่บริเวณอู่จอดรถของบริษัทฯ เมื่อเช้าวานนี้ (6 ม.ค. 52) ว่าจากการตรวจสอบ ยืนยันได้ว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากก๊าซ NGV

.

โดยรถเมล์ที่ถูกไฟไหม้ทั้ง 7 คัน นั้นพบว่าถังทั้งหมดยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่ได้ระเบิดแต่อย่างใดแม้ว่าไฟได้ไหม้ลามไปถึงถัง NGV แล้ว แต่ยางล้อรถยนต์ทั้ง 7 คัน รวมจำนวน 16 เส้น ถูกไฟลุกไหม้แล้วเกิดเสียงระเบิด ซึ่งเป็นสาเหตุของเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

.

ส่วนเหตุที่ถัง NGV ถูกไฟไหม้แล้วไม่ระเบิด เนื่องจากอุปกรณ์นิรภัยของถัง NGV ได้ทำงานตามปกติ คือ วาล์วที่ถังได้ระบายก๊าซออกสู่ภายนอก ซึ่งหากถัง NGV ถูกต้องตามมาตรฐานแล้วจะไม่มีโอกาสระเบิดได้เลย เพราะเมื่อถังมีความดันสูง จะมีลิ้นระบายก๊าซออกเพื่อให้ความดันต่ำลง ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการป้องกันโดยจะมีการตรวจสภาพเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี

.

อีกทั้ง รถโดยสารเกือบทั้งหมดเป็นรถ NGV ที่ติดตั้งโดยบริษัท วังศกาญจน์กิจ จำกัด ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกและได้รับการตรวจสอบจากวิศวกรแล้ว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ ยังต้องรอผลการพิสูจน์จากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในบริเวณประตูปิดเปิด-ขึ้นลงของรถโดยสาร

.

นายเมตตา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำให้ประชาชนมั่นใจว่า NGV เป็นเชื้อเพลิงที่มีความปลอดภัย หากใช้อุปกรณ์และมีการติดตั้งที่ถูกต้องตามมาตรฐาน โดยทางกรมธุรกิจพลังงาน ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก และ ปตท. ในการดูแลและควบคุมด้านมาตรฐาน ความปลอดภัยการใช้ NGV ในรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

.

โดยเฉพาะในส่วนของกรมธุรกิจพลังงาน ที่มีภารกิจในการควบคุมกิจการพลังงานในด้านความปลอดภัย โดยกำหนดมาตรการควบคุมความปลอดภัยแบบบูรณาการ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก มีการสุ่มตรวจยานพาหนะที่ดัดแปลงมาติดตั้งอุปกรณ์ NGV

.

ซึ่งหากพบถัง อุปกรณ์ หรือการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะยกเลิกบัตรเติมก๊าซประจำรถชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมลงโทษอู่ติดตั้ง และวิศวกรผู้ตรวจสอบการติดตั้งด้วย รวมทั้งควบคุมการนำเข้าถัง CNG และอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐาน และห้ามนำเข้าถัง CNG ใช้แล้วมาใช้ในประเทศ ทั้งนี้ สำหรับแผนดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการร่างประกาศกระทรวง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้

.

นอกจากนี้ ธพ. ยังมีเครื่องมือทดสอบและตรวจสอบถัง CNGอยู่จำนวนหนึ่ง ที่สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน สามารถทำการทดสอบมาตรฐานของถังได้ และคาดว่ากลางปี 2552 จะสามารถเป็นศูนย์ทดสอบถัง CNG ที่มีอุปกรณ์ทดสอบครบทุกอุปกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย