เนื้อหาวันที่ : 2008-12-24 12:02:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1633 views

ถึงเวลาประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือยัง?

ที่ผ่านมาได้มีความกังวลในการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าว่าจะมีก๊าซธรรมชาติและถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติใช้ได้อีกนานแค่ไหนโดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งประเทศไทยจะต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ทำให้หลายประเทศได้ศึกษาถึงพลังงานอื่น ๆ ในการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

.

ที่ผ่านมาได้มีความกังวลในการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าว่าจะมีก๊าซธรรมชาติและถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติใช้ได้อีกนานแค่ไหนโดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งประเทศไทยจะต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ทำให้หลายประเทศได้ศึกษาถึงพลังงานอื่น ๆ ในการผลิตไฟฟ้าให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

.

พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกำหนดให้เป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่าพลังงานนิวเคลียร์ได้มาจากไหน พลังงานนิวเคลียร์เกิดจากปฏิกิริยาการสลายพันธะของอะตอมในธาตุยูเรเนียม การสลายพันธะของอะตอมในธาตุยูเรเนียมจะปล่อยพลังงานออกมามหาศาล ทั้งพลังงานในรูปความร้อนและแสง

.

โดยต้องมีการควบคุมให้เกิดขึ้นช้า ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าถ้าหากไม่มีความควบคุมและปล่อยให้เกิดขึ้นเร็วในครั้งเดียวจะเกิดการระเบิดได้ หรือที่เรียกว่าระเบิดปรมาณูได้ และปฏิกิริยาดังกล่าวก่อให้เกิดสารกัมมันตรังสี ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์จึงมีทั้งข้อดีและข้อที่ต้องกังวลเช่นกันในเรื่องกากกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงต้องมีการควบคุมในการกำจัดให้ดี

.

อย่างไรก็ดี ในปี 2548 ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ถึง 441 โรง มีกำลังผลิต 336,331 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นปริมาณ 1 ใน 6 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลกโดยประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากสุดคือประเทศสหรัฐอเมริการองลงมาได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส จากทั้งหมด 31 ประเทศ และอยู่ระหว่างก่อสร้างใหม่ใน 14 ประเทศ 

.

โดยประเทศในแถบเอเชียที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ได้แก่ ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยประเทศอินโดนีเซียมีแผนที่จะเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2553 และเวียดนามมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกโดยคาดว่าจะอนุมัติให้เดินเครื่องในปี 2560

.

เมื่อเราเปรียบเทียบการลงทุนและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าระหว่างพลังงานนิวเคลียร์ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จะพบว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำแต่ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากที่สุด

.
ตารางแสดงการเปรียบเทียบการลงทุนและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า
ประเภทโรงไฟฟ้า                 เงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า        ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า
                                           (ล้านเหรียญสหรัฐ/1 เมกะวัตต์)          (บาท/หน่วย)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์                     1.5 (51 ล้านบาท)                            2.08
โรงไฟฟ้าถ่านหิน                        1.2 (40.8 ล้านบาท)                        2.12
โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ         1-1.1(34 - 37.4 ล้านบาท)             2.29
.
หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาท/ เหรียญสหรัฐ
ที่มา กระทรวงพลังงาน
.

ในขณะที่ยังมีถ่านหินและก๊าซธรรมชาติใช้ เราอาจจะเห็นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เงินในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินร้อยละ 25 และสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติร้อยละ 36 ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ 0.04 บาท/หน่วย หรือร้อยละ 2 และถูกกว่าโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่ 0.11 บาท/หน่วยหรือร้อยละ 5 ซึ่งดูเหมือนจะไม่คุ้มค่าในเชิงผลตอบแทนในการลงทุน แต่หากพิจารณาถึงผลด้านความมั่นคงทางพลังงานเมื่อถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมีน้อยลงไป ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นรวมไปถึงโอกาสที่จะขาดพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า 

.

ดังนั้น ในระยะยาว ประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยเหตุผลความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี พ.ศ. 2563-2564 มีกำลังผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ และมีระยะเวลาการก่อสร้างต่อโรงประมาณ 6-7 ปี อย่างไรก็ดี ด้วยคำว่า นิวเคลียร์เป็นคำที่ฟังดูน่ากลัว เนื่องจากปัจจุบันเราใช้นิวเคลียร์ในการทำลายล้างมากกว่าการใช้ประโยชน์ด้านอื่น ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่จะต้องอยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเกิดความกลัว

.

ถึงแม้ว่าจะมีการออกแบบระบบควบคุมการเก็บของเสียจากโรงไฟฟ้าทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการเลือกทำเลที่ตั้งในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้องถึงผลดีและผลเสียของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกเหนือไปจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศร้อยละ 88 ใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึง

.

แต่ดูเหมือนพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นคำตอบ ทั้งในเรื่องความต้องการพลังงานและอาจรวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศโลก และพลังงานนิวเคลียร์ยังสามารถให้พลังงานออกมาได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อถึงวันที่ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่เป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมเป็น ของตัว ก็ยังมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า

.

ถึงแม้สำหรับประเทศไทยการเกิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น ความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การออกกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การควบคุมดูแล การจัดการกากกัมมันตรังสี ความพร้อมในการลงทุน และการยอมรับจากประชาชน แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องศึกษาและวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพราะหนทางนี้ยังอีกยาวไกล และไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ที่เราจะขาดไปไม่ได้เสียแล้ว

.
โดย  สุมาลี สถิตชัยเจริญ
  ** หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนมิได้สะท้อนถึงองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 :  www.fpo.go.th