เนื้อหาวันที่ : 2008-12-15 16:47:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1293 views

ปี 52 บางจากฯ ก้าวสู่ศักยภาพใหม่ โรงกลั่นทันสมัยรุกธุรกิจครบวงจร

บางจากฯ คาดการณ์แนวโน้มการใช้น้ำมันในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บริหารความเสี่ยงเตรียมสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินกิจการและขยายธุรกิจเพิ่มเติม ชี้มีโรงกลั่นทันสมัยระดับโลกช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้

.

บางจากฯ คาดการณ์แนวโน้มการใช้น้ำมันในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บริหารความเสี่ยงเตรียมสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินกิจการและขยายธุรกิจเพิ่มเติม ชี้มีโรงกลั่นทันสมัยระดับโลกช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 

.

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  แนวโน้มการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในปี 2552 จะชะลอตัวลง และมีปัจจัยภายนอกหลายด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน สภาพคล่องในระบบการเงิน ภาวะการว่างงาน ฯลฯ บริษัทฯ จึงได้วางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางธุรกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว

.

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินในตลาดมีความตึงตัว บริษัทฯ จึงได้เตรียมสภาพคล่องโดยทำสัญญากับสถาบันการเงินซึ่งเป็นกรอบเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวกว่าหมื่นล้านบาท

.

ในเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยที่ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการเงิน รองรับการดำเนินธุรกิจและการขยายธุรกิจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

.

ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มของค่าการกลั่นและความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2552 ว่า จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีจุดแข็งที่มีธุรกิจด้านการตลาดรองรับการผลิต จึงสามารถกำหนดการผลิตและจำหน่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีกำไรได้ส่วนโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (Product Quality Improvement: PQI) ที่บริษัทฯ ใช้งบลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้น้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีคุณภาพในปริมาณและมูลค่าที่สูงขึ้น

.

โดยลดสัดส่วนน้ำมันเตาจากร้อยละ 33 เหลือร้อยละ 9 เป็นการปรับโฉมภาพลักษณ์โรงกลั่นน้ำมันบางจากแบบ Simple Refinery เป็น Complex Refinery มีความทันสมัย ศักยภาพระดับโลก ใช้เทคโนโลยีล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาทำให้ประหยัดพลังงานในกระบวนการกลั่น และลดต้นทุนด้านการผลิต

.

ซึ่งจะเริ่มผลิตในไตรมาสแรกปี 2552 คาดว่าจะทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยจ่าย และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยปีละ 2,000-4,000 ล้านบาท เป็น 6,000-8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในขณะนั้น

.

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำทิ้ง และข้อมูลอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณชุมชนรอบโรงกลั่น โดยแสดงผลให้สาธารณชนทราบอย่างเปิดเผยผ่านระบบออนไลน์ที่หน้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ถือว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนด้วยระบบที่ทันสมัย

.

ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานทดแทน และธุรกิจเอทานอลครบวงจร เป็นต้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว

.

สำหรับธุรกิจด้านการตลาด บริษัทฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามีเป้าหมายเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ โดยมีแผนปรับโฉมสถานีบริการในทำเลหลักให้มีภาพลักษณ์ใหม่ (Re-branding) และพัฒนาสถานีบริการใหม่ขนาดใหญ่ รวมทั้งพัฒนางานบริการให้เป็น สถานีบริการในใจคุณ เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้ซ้ำ และสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ บางจาก

.

 ในช่วงที่ภาวะราคาน้ำมันแพง บริษัทฯ ได้ผลิตและจำหน่ายพลังงานทดแทนให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพดี ราคาถูก ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างกว้างขวางถึงความเป็นผู้นำพลังงานทดแทน ทั้งแก๊สโซฮอล์ E10, E20, E85 และไบโอดีเซล B5 และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนด้วยการปรับปรุงให้ปั๊มสหกรณ์และปั๊มชุมชนเป็นปั๊มมาตรฐานให้บริการครบวงจร พร้อมทั้งขยายธุรกิจ Non-Oil

.

เช่น กาแฟอินทนิล บริการ Green Service เพื่อเพิ่มรายได้ในสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ ได้สร้างจุดเด่นในสถานีบริการด้วยการทำห้องน้ำให้มีความร่มรื่นเหมือนอยู่ในสวน บนทำเลทางหลวงสายหลัก ปรับปรุงปั๊ม Self Serve ให้มีความทันสมัย พัฒนางานด้านบริการให้เป็น Fast Service ภายใต้แนวคิดเติมน้ำมันทันใจใน 3 นาที และเพิ่มสถานีบริการจำหน่าย NGV เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นดร.อนุสรณ์ กล่าว

.

สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่นจะขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน Lube Shop โรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศให้มากขึ้น เช่น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ฟิจิ พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ

.

ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงภาวะราคาน้ำมันในปี 2551 ว่าทรงตัวอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี โดยราคาในตลาดนิวยอร์ก (WTI) ในเดือนกรกฎาคม แตะระดับสูงสุดที่ 147.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะมีการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผันผวน นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 ที่เกิดวิกฤตการณ์

.

ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา จากปัญหาการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ (Sub-prime Mortgages) และกรณีข้อพิพาทโครงการนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกที่ไม่มีทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

.

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกโดยรวมเข้าสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาวิกฤติการเงินในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่แพร่ขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องในการลงทุน จึงเทขายสัญญาน้ำมันล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

.

ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย ต่างพยายามร่วมมือกันในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่ก็ยังไม่บรรลุผล ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลงด้วย อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ได้มีความพยายามในการพยุงราคาน้ำมัน โดยใช้มาตรการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอตัวลง

.

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 และในปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.2 นอกจากนี้ International Energy Agency (IEA) ยังปรับลดประมาณการความต้องการใช้น้ำมันของโลกปี 2551 ลดลงจากปีก่อนหน้า 200,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 25 ปี และในปี 2552 ประมาณการความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 200,000-500,000 บาร์เรล

.

และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์ก ปี 2552 จะปรับตัวลดลงจากที่ระดับ 75-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับประมาณ 50-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ประมาณ 45-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงซบเซาต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ถูกลง น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552” ดร.อนุสรณ์ กล่าว