เนื้อหาวันที่ : 2008-12-03 16:51:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1126 views

ธปท.ตัดสินใจฉีดยาแรง หลังนโยบายคลังทำงานไม่ได้-เงินเฟ้อต่ำ-ศก.ชะลอชัด

ธปท.ระบุฉีดยาแรงเศรษฐกิจไทยด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายคราวเดียวถึง 1.0% เป็นครั้งแรกตั้งแต่จัดทำนโยบายการเงินในปี 43 หวังเป็นตัวหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น และรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกซบเซา เนื่องจากการใช้นโยบายการคลังในช่วงนี้ต้องชะงักงันจากผลกระทบปัญหาการเมือง

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุฉีดยาแรงเศรษฐกิจไทยด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายคราวเดียวถึง 1.0% เป็นครั้งแรกตั้งแต่จัดทำนโยบายการเงินในปี 43 หวังเป็นตัวหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่น และรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกซบเซา เนื่องจากการใช้นโยบายการคลังในช่วงนี้ต้องชะงักงันจากผลกระทบปัญหาการเมือง  

.

นางดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยพันธมิตรซื้อคืน(อาร์/พี)ประเภท 1 วัน ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงลดเหลือ 0.55% โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ลดต้นทุนผู้ประกอบการ และรองรับความเสี่ยงนอกประเทศจากเศรษฐกิจโลกซบเซาที่จะมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แม้จะยอมรับว่าในช่วงแรก ๆ จากนี้ความเชื่อมั่นคงจะยังไม่กลับมา เพราะคนยังระมัดระวังการบริโภคและการลงทุนอยู่  

.

ธปท.คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 52 แม้จะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3/51 และไตรมาส 4/51 ของปีนี้ แต่คงยังไม่ถึงขั้นติดลบ เพราะยังมีแรงขยายตัวแต่แผ่วมากและจีดีพีคงจะเติบโตได้ต่ำมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะใกล้ระดับ 0% แต่ไม่ถึงกับติดลบ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็จะสูงกว่านั้น โดยจะอยู่ระหว่าง 0.5-3.5% ตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ได้ปรับปรุงใหม่

.

นางดวงมณี กล่าวว่า ธปท.จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังมีความเสี่ยงว่าจะทำงานได้เร็วได้แค่ไหน เพราะการเมืองมีความวุ่นวาย แต่มองว่าการเมืองหลังจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสลายตัวไปแล้วก็น่าจะคลี่คลาย แต่ก็ยังต้องติดตามดูว่าผลที่มีต่อเศรษฐกิจจะมีมากน้อยแค่ไหน

.

ส่วนผลต่ออัตราดอกเบี้ยของตลาดนั้น มองว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยตามหรือไม่ขึ้นกับต้นทุนการดำเนินงานของแต่ละแห่ง เพราะการทำธุรกิจหลักอยู่ที่การรับเงินฝากและให้กู้ยืม

.

"แบงก์ชาติก็หวังว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะค่อนข้างใกล้ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมาก การส่งสัญญาณครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเห็นชัดว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว"นางดวงมณี กล่าว

.

ส่วนนโยบายการเงินช่วงต่อไปต้องประเมินสถานการณ์ในช่วง 6 สัปดาห์จากนี้ โดยปัจจัยในด้านการเมืองหลายคนอาจจะมองว่าแนวโน้มนิ่ง แต่จะนิ่งจริงหรือไม่ยังต้องดูกัน และการบริหารราชการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ตามแผนหรือไม่ ที่สำคัญต้องติดตามในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ก่อนจะกำหนดนโยบายการเงินช่วงต่อไป

.

นางดวงมณี ยังกล่าวถึงการที่ธปท.ปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมาใช้กรอบ 0.5-3.0% จากเดิม 0.5-3.5% ทำให้ ธปท.มีภาระที่จะต้องเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะจะปล่อยให้เงินเฟ้อลดลงถึง 0% ไม่ได้ แต่แนวทางคงจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก