เนื้อหาวันที่ : 2008-11-26 09:35:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1043 views

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ค้านแนวคิดลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมีความรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า และจะกระทบต่อไทยแน่นอน แนะรัฐจะต้องเร่งดูแลการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศแทนการส่งออก เร่งเดินหน้าเมกะโปรเจกต์

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ย้ำว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมีความรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า และจะกระทบต่อไทยแน่นอน แนะภาครัฐจะต้องเร่งดูแลการใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่ออาศัยเศรษฐกิจในประเทศแทนการพึ่งพารายได้จากการส่งออก โดยควรเร่งเดินหน้าเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์

.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง

.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยอมรับว่า ในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลกระทบถึงไทยอาจทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลออกไปอีก 2-3 ปี แต่การจัดทำงบประมาณขาดดุลต้องไม่สร้างภาระหนี้ในช่วงแรกมากจนเกินไป เพราะต้องเผื่อการสร้างภาระหนี้เพื่อจัดทำงบขาดดุลในช่วง 2-3 ปีหลัง เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้งบประมาณสูงเกินไป

.

ที่สำคัญการใช้จ่ายงบกลางปี 100,000 ล้านบาท ยังมองไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนว่าจะนำไปก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าไม่ควรแจกเงินเพื่อหวังฐานเสียง แต่ควรเน้นใช้งบที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างาน  สร้างรายได้ เพื่อให้ชุมชนมีเงินใช้จ่าย ส่วนเงินที่อัดฉีดผ่านโครงการเอสเอ็มแอล ควรมีการควบคุมอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นการหวังเพียงเร่งส่งเงินให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

.

โดยมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่หนักขณะนี้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องสามัคคีจับมือกัน ไม่มีความขัดแย้ง เพราะจะทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจฟันฝ่าปัญหาต่าง ๆ ไปได้

.

"ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้มีความเป็นห่วง เพราะจะได้รับผลกระทบหลักจากเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัญหาการเมืองยังสามารถเจรจาแก้ไขได้ และไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมาบริหารก็ยังต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่ควรอ้างว่าการเมืองมีปัญหาจนไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้หลายส่วน"  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

.

ส่วนแนวคิดการลดภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า แม้จะเป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เห็นว่าเป็นการลดภาระให้ 2 กลุ่ม แต่เงินที่ลดภาระให้จะไม่มีการนำออกไปใช้จ่าย ไม่มีการจ้างงาน และมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ควรจัดเก็บภาษีอัตราเดิม เพื่อให้ภาครัฐนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างผลดีในระยะยาว

.

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจโลกนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จึงเตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยาวไปถึงปีหน้า  และต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสถาบันการเงินจะกลับมาปล่อยสินเชื่อได้เหมือนเดิม และมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ปี  2553 การส่งออกปีหน้าคงไม่โตถึงร้อยละ 5 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0 หรือไม่เติบโต เพราะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต้องประหยัดการใช้จ่าย ทำให้ลดการซื้อสินค้า

.

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีโลกทั้งเอเปกและการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในเวทีโลกได้รับรู้แนวทางการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

.

ดังนั้น  เห็นว่าควรมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถเปิดสภาฯ พิจารณาเรื่องการลงนามในการประชุมสุดยอดอาเซียน ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190  ระบุไว้  ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะคนไทยเป็นทั้งเลขาธิการอาเซียนและผู้จัดการประชุม

.

ส่วนปัญหาทางการเมืองภายใน ควรแยกแยะออกจากเรื่องการประชุมอาเซียน เพราะการประชุมจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ สำหรับปัญหาเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน  โดยเฉพาะการเบี้ยวหนี้กันเองของเอกชน  ซึ่งอาจจะเหมือนปี 2540 ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องหาช่องทางเพิ่มพันธมิตรดูแลธุรกิจให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ  ต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างรายได้ค้างรับและค้างจ่าย  ขณะที่รายใหญ่ก็ต้องยอมลงทุนเพื่อประกันความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นคงภายหลัง ส่วนปัญหาเศรษฐกิจโลกนั้นจะฟื้นตัวเร็วที่สุดกลางปีหน้า

.

นายประสาร ย้ำว่า ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แต่ละฝ่ายมักจะเอาตัวรอด  แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรอด  ดังนั้น  หากสถาบันการเงินทุกแห่งช่วยดูแลลูกค้า  เมื่อลูกค้าสามารถเดินต่อได้  ธนาคารก็จะอยู่ได้  ซึ่งจะมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน  เพราะการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเป็นแนวคิดแบบง่าย    เมื่อเกิดปัญหาควรเข้าไปแนะนำลูกค้าให้ติดตามวิเคราะห์รายได้  การหาแนวทางรับผลกระทบ  การสร้างภูมิต้านทาน  และหาแนวทางว่าธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร ไม่ใช่หยุดปล่อยสินเชื่อทันที

.

นายศุภวุฒิ  สายเชื้อ  กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ชะงักงัน  จึงแนะให้ภาคธุรกิจติดตามสถานการณ์รายไตรมาสแทนการวางแผนรายปี  เพราะเศรษฐกิจโลกจะกระแทกลงอย่างรุนแรงไตรมาส 4  ปีนี้  ซึ่งจะต่อไปยังไตรมาส 1 ปี 2552  และหากเป็นการฟื้นตัวก็คงจะฟื้นแบบหลอก ๆ

.

ดังนั้น จะต้องมีแนวทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยภาคเอกชนต้องถือครองเงินระดับหนึ่งเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการ  ขณะที่ใครยังพอมีเงินเก็บ หากเป็นการลงทุนระยะยาว 3-4 ปีข้างหน้า ก็สามารถซื้อหุ้นได้ เพราะราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่หากเป็นการลงทุนระยะสั้นยังมีความเสี่ยงต่อการลงทุน  โดยมองว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวและแก้ไขได้หลังจากกลางปี 2553

.

นายบัณฑิต  นิจถาวร  รองผู้ว่าการ ธปท.  กล่าวว่า  การดูแลเศรษฐกิจปี 2552  ยอมรับว่า แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มลดลง  ดังนั้น นโยบายการเงินคงจะผ่อนคลายลง  เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้  ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3  ธันวาคมนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม แม้ดอกเบี้ยจะลดลงแต่ก็จะมีความสำคัญน้อยกว่าการดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเงินหมุนเวียนในกิจการ  เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะต้องปรับตัวสูงขึ้น

.

แต่ขณะนี้ดอกเบี้ยระยะสั้นต้องลดลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวดอกเบี้ยจะต้องปรับสูงขึ้น  โดยมองว่าดอกเบี้ยระยะสั้นร้อยละ 3.75  ถือว่าไม่อยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้น จึงจะทำอย่างไรให้สภาพคล่องมีอย่างเพียงพอและการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นความท้าทายมากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เนื่องภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดี ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลปัญหาเอ็นพีแอล

.

แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น จะต้องมีระบบประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมีมาตรการอื่นเสริม ดังนั้น เพื่อรองรับเศรษฐกิจปีหน้า ธปท.จะเริ่มเดินหน้าใช้ระบบบาร์เซิล 2 และการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 เพื่อทำให้สถาบันการเงินมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้.

.

ที่มา : สำนักข่าวไทย