เนื้อหาวันที่ : 2008-11-24 09:55:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2434 views

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกสะเทือน ถึงคราวสหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่นกอดคอร้องไห้

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกสะเทือนกันถ้วนหน้า หลังจากที่สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและตลาดรถรายใหญ่ของโลกนั้น กำลังประสบกับภาวะระส่ำระสายอย่างหนักจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐเข้าตาจน ค่ายบิ๊กทรีของสหรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ คอร์ป และไครสเลอร์ ต้องลดพนักงานและปิดโรงงานหลายแห่งแต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานพิษสงของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศได้

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกสะเทือนกันถ้วนหน้า หลังจากที่สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและตลาดรถรายใหญ่ของโลกนั้น กำลังประสบกับภาวะระส่ำระสายอย่างหนักจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐเข้าตาจน ค่ายบิ๊กทรีของสหรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ คอร์ป และไครสเลอร์ ต้องลดพนักงานและปิดโรงงานหลายแห่งแต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานพิษสงของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศได้

 .

ผู้บริหารกลุ่ม "บิ๊กทรี" ซึ่งได้แก่ ริค วาโกเนอร์ ซีอีโอจีเอ็ม, อลัน มูลัลลี ซีอีโอฟอร์ด มอเตอร์ และโรเบิร์ต นาร์เดลลี ซีอีโอไครส์เลอร์ จึงต้องเร่งเข้าชี้แจงต่อนายคริสโตเฟอร์ ด็อด ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรส เพื่อเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนปล่อยเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์อุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์

 .

วาโกเนอร์กล่าวว่า หากรัฐบาลปล่อยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ล้มละลาย จะทำให้มีคนตกงานกว่า 3 ล้านคนภายในปีแรก รายได้ส่วนบุคคลจะร่วงลงอย่างน้อย 1.50 แสนล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจะต้องสูญรายได้จากภาษีถึง 1.56 แสนล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดคิด และมูลค่าความเสียหายจะมากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลควรจะนำมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ ผมกล้าพูดว่า หากรัฐบาลยื่นมือช่วยเหลือเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในดีทรอยท์รอดตายเท่านั้น แต่ยังโอบอุ้มระบบเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะล่มสลายด้วย

 .

แม้จะมีการออกมาแจกแจงถึงความจำเป็นในการอุ้มอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศด้วยตัวเอง วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่จากพรรครีพับลิกันก็หาได้สนใจไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแผนกู้วิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ไมเคิล เอ็นซี วุฒิสมาชิกจากรัฐไวโอมิง พรรครีพับลิกัน มองว่า ขณะนี้มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่จะพิสูจน์ได้ว่าแผนช่วยเหลือ 2.5 หมื่นล้านนี้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในระยะยาวแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

 .

ส.ส.ผ่าเหล่าจากเดโมแครตบางคนถึงกับตั้งถามคำถามกับผู้บริหารบิ๊กทรีแบบไม่เกรงอกเกรงใจกันเลยหลังจากที่รู้มาว่า ผู้บริหารบิ๊กทรีนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมายังวอชิงตันเพื่อชี้แจงต่อคองเกรสถึงความเดือดร้อนที่มีอยู่ ส.ส.แกรี แอ็คเคอร์แมน จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า พวกคุณเดินทางมาชี้แจงกันด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อมาขอเงินช่วยเหลือจากภาษีประชาชนเนี่ยนะ ทำไมไม่เปลี่ยนมานั่งเครื่องบินโดยสารธรรมดาในชั้นเฟิร์สท์คลาส หรือนั่งเครื่องบินเจ็ตแบบพาณิชย์แทน เพราะอย่างน้อยการที่พวกคุณเปลี่ยนแปลงท่าทีอะไรบางอย่างออกมา ก็น่าจะมีส่วนช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในสิ่งที่พวกคุณต้องการจะสื่อถึง

 .

งานนี้ ผู้บริหารบิ๊กทรีไม่ได้ออกมาตอบโต้ต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ดังกล่าว ได้แต่แสดงสีหน้าแบบบอกบุญไม่รับกลับไป การออกมาคัดค้านอย่างสุดตัวของพรรครีพับลิกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นั้น สอดคล้องกับท่าทีของนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ ที่แจงว่า การที่รัฐบาลสหรัฐไม่มีแผนจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาจัดการกับสินทรัพย์ที่มีปัญหาของอุตสาหกรรมรถยนต์ (TARP) เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถหาทางออกในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินของตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีอัดฉีดเงิน นอกจากนี้ แผนกู้วิกฤต 7 แสนล้าน ไม่ใช่ยารักษาแก้สารพัดโรควิกฤตเศรษฐกิจ และยังคงมีทางเลือกอื่นที่ใช้เพื่อป้องกันการล่มสลายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

 .
แรงงานโอดจีเอ็มปิดโรงงานกระทบชีวิตความเป็นอยู่

อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถ อย่างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีจำนวนถึง 14,000 แห่งในสหรัฐ คิดเป็นอัตราการจ้างงาน 740,000 คนนั้นก็ได้รับผลพวงตามมาเช่นกัน ซีเอ็นเอ็นได้สัมภาษณ์พนักงานหลายคนของโรงงานประกอบรถของจีเอ็มที่รัฐโอไฮโอ ซึ่งจะถูกปิดทำการในวันที่ 23 ธันวาคมนี้

 .

เควิน โฮเวิร์ด หนึ่งในพนักงานที่กำลังจะตกงานเร็ว ๆนี้ กล่าวว่า ตอนนี้เขาตัดผมเอง ไม่ได้ไปหาหมอฟันตามนัดมาหลายครั้ง  และใส่เสื้อยืดตัวละ 5 เหรียญแทนชุดทำงานที่มีคุณภาพดีกว่านี้ ก่อนหน้านี้เขามีตุ้มหูทองใส่แต่ก็ได้ขายไปเพื่อนำเงินสดมาใช้

 .

โรงงานประกอบรถของจีเอ็มที่เมืองโมเรน รัฐโอไฮโอ ซึ่งเคยมีพนักงานอยู่ประมาณ 5,000 คนนั้น จะลดพนักงานถึง 1,000 คนในเดือนหน้า โทนี่ เมอร์ฟี หัวหน้าคนงานที่โรงงานในเจมส์ทาวน์ โมเรน กล่าวว่า ผมมีภาระผ่อนบ้านและรถ เมื่อมีการยกเลิกกะ ไม่เฉพาะแต่คนงานเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ธุรกิจค้าปลีกทั่วไปก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย และยังจะลุกลามไปยังประชาชนในมิชิแกน เนื่องจากโรงงานในมิชิแกนเองก็ผลิตชิ้นส่วนป้อนจีเอ็มด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ พนักงานของจีเอ็มจะได้รับเงินช่วยเหลือหลังออกจากงาน 140,000 ดอลลาร์ แต่พนักงานที่บริษัทซัพพลายเออร์จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าวหากถูกบอกเลิกจ้างงาน

 .
"โตโยต้า" ลดคาดการณ์กำไร - อีซูซุ มาสด้า เตรียมเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวกว่า 2,7000 ตำแหน่งในญี่ปุ่น

ค่ายรถญี่ปุ่นเองก็ต้องเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป บริษัทรถรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก คาดการณ์ว่า กำไรของบริษัทจะร่วงลงต่ำสุดในรอบอย่างน้อย 18 ปี หลังดีมานด์ร่วง เงินเยนแข็งค่าทำให้มูลค่ายอดขายรถในต่างประเทศลดลงด้วยเช่นกัน

 .

โตโยต้าระบุว่า กำไรสุทธิของบริษัทมีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ 5.50 แสนล้านเยน หรือ 5.6 พันล้านดอลลาร์สำหรับปีงบการเงินที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.25 ล้านล้านเยน

 .

นายคัตสึอากิ วาตานาเบ้ ประธานโตโยต้า ได้ลดเป้าหมายตัวเลขกำไรของบริษัทลง โดยให้เหตุผลเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และวิกฤตสินเชื่อที่ส่งผลกระทบยอดขายรถทั่วประเทศสหรัฐให้ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2536 ส่งผลให้โตโยต้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าผลกำไรจะลดลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก

 .

ฮิโตชิ ยามาโมโตะ ซีอีโอของฟอร์ทิส แอสเส็ท แมเนจเมนท์ เจแปน แสดงความเห็นว่า สำหรับโตโยต้าและบริษัทรถรายอื่นๆแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบถึงทุกฝ่าย บริษัทรถคงจะต้องแบกรับผลกระทบต่อไปตราบเท่าที่บริษัทต้องพึ่งพาและทำกำไรในตลาดรถในอเมริกาเหนือ

 .
ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ โตโยต้าขาดทุนจากการปฏิบัติการถึง 3.46 หมื่นล้านเยนในอเมริกาเหนือ หลังจากที่ได้มีการปรับมูลค่าสว็อปดอกเบี้ย
 

วันนี้ อีซูซุได้ออกมาเปิดเผยแผนการปรับลดจำนวนลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานพาร์ทไทม์จำนวน 1,400 ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งจะปิดโรงงานผลิตรถบรรทุกในเขตฟูจิซาว่า ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป ขณะที่มาสด้าจะปรับลดพนักงาน 500 คนในเขตยามากูจิ และคนงานอีก 800 คนที่โรงงานในเมืองฮิโรชิม่า 

 .

จากสถานการณ์เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และพุ่งขึ้น 36% เมื่อเทียบกับเงินยูโรในปีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออกของค่ายรถในประเทศ โดยยอดขายอีซุซุในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดร่วงลง 30% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นสถิติยอดขายตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนยอดขายมาสด้าในยุโรปตะวันตกลดลง 12%

 .

"การปรับลดจำนวนลูกจ้างชั่วคราวในสภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญช่วงขาลงรุนแรงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน" ฮิโรฟูมิ โยโกอิ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา CSM Worldwide กล่าว "ผมเชื่อว่าผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องปลดลูกจ้างประจำด้วยเช่นกัน" 

 .
ทั้งนี้ อีซูซุได้ปรับลดคาดการณ์รายได้สุทธิประจำปีลง 53% ในเดือนนี้ ขณะที่มาสด้าลดคาดการณ์รายได้มาอยู่ที่ 29% ในเดือนต.ค.
 .

ทางค่ายมาสด้าเองก็มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อวันอังคาร ฟอร์ด มอเตอร์ ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ประกาศขายหุ้นราว 20% ในมาสด้า มอเตอร์ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของฟอร์ดในบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นลดลงเหลือประมาณ 13% จากเดิมที่ 33.4% โดยมาสด้าและพันธมิตรทางธุรกิจจะเป็นผู้ซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว

 .

ฮิซาคาสุ อิมากิ ประธานมาสด้า กล่าวในแถลงการณ์ว่า การขายหุ้นของฟอร์ดจะไม่ส่งผลใดๆต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของมาสด้า พร้อมกับกล่าวว่าฟอร์ดและมาสด้าจะยังคงดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป ซึ่งรวมถึงการผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย

 .

สำหรับข่าวเรื่องการขายหุ้นในมาสด้านั้นได้แพร่สะพัดมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก่อนที่มาสด้าจะออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทจะซื้อหุ้นคืนจากฟอร์ดไม่เกิน 6.87% ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 185.3 ล้านดอลลาร์ ส่วนหุ้นจำนวนที่เหลือนั้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า บริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่อย่าง ซูมิโตโม่ และ อิโตชู รวมถึงบริษัทประกันภัยและอสังหาริมทรัพย์ ฮิโรชิมา แบงก์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เดนโสะ จะเป็นผู้ซื้อหุ้นดังกล่าว

 .
ค่ายรถจีนรวมตัวเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

กลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ของจีนเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ต่างออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาล และขอให้รัฐลดภาษีการขายเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์จีนรอดพ้นจากวิกฤตการณ์การเงินที่ฉุดความต้องการรถยนต์ลงอย่างหนัก

 .

นายเจิ้ง ฉินหง กรรมการผู้จัดการบริษัท กวางโจว ออโต้โมบาย กรุ๊ป ซึ่งเป็นพันธมิตรกับโตโยต้า มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ มองว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เราคาดหวังว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นความต้องการให้สูงขึ้น

 .

ทั้งนี้  ความต้องการรถยนต์ที่ลดน้อยลงและการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้นเป็นเหตุให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ป (SAIC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของจีน ทรุดตัวลง 77% ในปีนี้

 .

สำนักงานข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จาง จิน นักวิเคราะห์จากบริษัท Guotai Junan Securities Co ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า "อุตสาหกรรมรถยนต์จีนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจึงจะสามารถอยู่รอดได้ แต่เท่าที่เห็นในเวลานี้คือรัฐบาลจีนยังไม่มีมาตรการกระตุ้นความต้องการรถยนต์ ซึ่งบริษัทรถยนต์ของจีนคงต้องอดทนเดินหน้าเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องนี้ต่อไป"

 .

นายเฉิน เจียงเกา รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานด้านอุตสาหกรรม ในสังกัดคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาษีการขายรถยนต์ในจีนอยู่ในระดับสูงถึง 50% แต่รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับลดภาษีการขายรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงานเพื่อกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ

 .

ก่อนหน้านี้ บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ แสดงจุดยืนเรื่องการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ แรงงาน และสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะหากมีการปล่อยให้ปัญหาในอุตสาหกรรมรถยนต์เรื้อรังต่อไป ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างจีเอ็มคงไม่รอดพ้นจากภาวะล้มละลายไปได้

 .

แต่กว่าที่ โอบามาจะเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอย่างเป็นทางการก็คงต้องรอถึงวันที่ 20 มกราคมปีหน้า จากนี้ไปอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐจะเป็นอย่างไรคงต้องเอาใจช่วยและจับตาดูอย่างใกล้ชิด

.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 

 

ที่มา : http://www.ryt9.com