เนื้อหาวันที่ : 2008-11-22 09:26:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1214 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ลดคาดการณ์ส่งออกปี 52 มีโอกาสหดตัว 2% กรณีเลวร้าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 52 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ขยายตัวได้มากที่สุดเพียง 3% ในกรณีพื้นฐาน แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายการส่งออกอาจหดตัวลงได้ถึง 2% จากปี 52 ที่คาดว่าการส่งออกขยายตัวได้19.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 52 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ขยายตัวได้มากที่สุดเพียง 3% ในกรณีพื้นฐาน แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายการส่งออกอาจหดตัวลงได้ถึง 2% จากปี 52 ที่คาดว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ประมาณ 19.0%

.

ทั้งนี้ จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่าการส่งออกในเดือน ต.ค.51 ขยายตัวต่ำกว่าคาดลงมาอยู่ที่ 5.2% เทียบกับที่ขยายตัว 19.4% ในเดือน ก.ย.51 ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของสินค้ารายการสำคัญ และตลาดหลักส่วนใหญ่ชะลอตัวลงอย่างมาก

.

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกตลอดทั้งปี 51 จะยังขยายตัวได้ดี แต่ปัญหาในภาคการส่งออกจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้นในปี 52 โดยสถานการณ์ที่น่าวิตก คือ เศรษฐกิจหลักหลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยและมีสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงของการขยายผลรุนแรงขึ้นและใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะพื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 52

.

ปัญหาในภาคธุรกิจที่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังประสบภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องอย่างหนักถึงขั้นเสี่ยงล้มละลาย ทำให้ต้องปลดหรือลดพนักงาน ลดกำลังการผลิตบริษัทในเครือที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ปัญหาการว่างงานที่รุนแรงขึ้นจะยิ่งฉุดให้ปัญหาเศรษฐกิจดำดิ่งลงลึกขึ้นและต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว

.

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมส่งออกหลายกลุ่มได้ออกมาระบุว่าคำสั่งซื้อขณะนี้หายไปอย่างมาก ลดลง 20-40% ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรม และบริษัทบางส่วนเริ่มประกาศลดกำลังการผลิต บางแห่งหยุดสายการผลิตชั่วคราว แจ้งต่อซัพพลายเออร์ถึงการลดการสั่งซื้อชิ้นส่วนและส่วนประกอบ รวมถึงลดจำนวนพนักงานหรือให้หยุดงานโดยจ่ายเงินเดือนลดลง

.

"ความหวังที่หลายฝ่ายฝากไว้กับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีนอาจไม่สดใสดังคาด เนื่องจากจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวมากยิ่งขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

โดยตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ขณะที่การนำเข้าของจีนขยายตัว 15.4% ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน และจากตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังญี่ปุ่นในเดือน ต.ค.หดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี

.

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 52 ลงมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ย.51 มาอยู่ที่ 2.2% และปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น มาเป็นหดตัวลง 0.7%, 0.5% และ 0.2% ตามลำดับ

.

สำหรับแนวทางที่จะช่วยผลักดันการส่งออกท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการหาลู่ทางเปิดตลาดการค้าในประเทศที่มีศักยภาพใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา รัสเซียและยุโรปตะวันออก ให้ครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสขยายตลาดสินค้าอาหารในภาวะที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศจีน รวมถึงขยายตลาดอาหารฮาลาล

.

นอกจากนี้ สินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ก็มีทิศทางที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยเช่นกันจึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับคุณภาพมาตรฐาน และปรับผลิตภัณฑ์และบริหารต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของตลาดที่หันมาเน้นความประหยัดมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดผลอย่างจริงจัง ซึ่งจะลดผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าอยู่ในช่วงขาลง และเป็นการสร้างรายได้ส่งออกจากโอกาสทางการตลาดใหม่ด้วย