เนื้อหาวันที่ : 2008-11-18 08:39:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1605 views

ก.อุตฯ ผนึกญี่ปุ่นผุดศูนย์วิจัย TSNC ยกระดับชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานโลก

ก.อุตสาหกรรม จับมือ "KOBELCO" สถาบันวิจัยฯ ชื่อดังประเทศญี่ปุ่น ร่วมจัดตั้ง "ศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยด้านอุตสาหกรรม" ภายใต้ชื่อ "TSNC" ดึง 9 สถาบันเครือข่ายนำร่อง รองรับผลการทดสอบวิจัยชิ้นส่วนภาคอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม   จับมือ   "KOBELCO"   สถาบันวิจัยฯ  ชื่อดังประเทศญี่ปุ่น  ร่วมจัดตั้ง   "ศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ    วิเคราะห์  วิจัยด้านอุตสาหกรรม   ภายใต้ชื่อ    TSNC ดึง 9 สถาบันเครือข่ายนำร่อง รองรับผลการทดสอบวิจัยชิ้นส่วนภาคอุตสาหกรรม  ด้าน  อธิบดีกรมส่งเสริมอุตฯ  มั่นใจยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่สากล      และช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ  ขณะที่ผู้บริหาร  KOBELCO     เชื่อศักยภาพเมืองไทย   เล็งปั้นบุคลากรรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง  หวังดึงเม็ดเงินกลับสู่ประเทศในอนาคต

.

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

.

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเมืองไทยที่ผ่านมา ได้มีอัตราการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีแนวคิดก่อตั้งศูนย์การวิจัยและทดสอบตามมาตรฐาน สากลขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาศูนย์ทดสอบในต่างประเทศ โดยร่วมกับสถาบันวิจัย KOBELCO แห่งประเทศญี่ปุ่น   จัดตั้งโครงการ   ศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ  วิเคราะห์   วิจัยด้านอุตสาหกรรม    หรือ  Technical Service Network Center  (TSNC) ขึ้น ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน  ถนนพระรามที่ 4 กล้วยน้ำไท

.

ในเบื้องต้น ศูนย์ TSNC จะมีหน้าที่จัดส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังศูนย์เครือข่าย 9 สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย  สถาบันยานยนต์ (TAI)  สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT)   สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)    สถาบันอาหาร (NFI)   สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI)    สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI)   สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)   สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (TPI) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (OSMEP)

.

โดยสถาบันที่เข้าร่วมโครงการมีศูนย์เครือข่ายแต่ละแห่งนั้นจะมีห้องทดสอบหรือห้องแลป (Lab)อยู่แล้ว ในขณะที่สถาบันวิจัย “KOBELCO” จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบสินค้าและการวิจัยในด้านต่างๆ เข้าไปให้ความรู้ และฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์เครือข่าย เพื่อให้การทดสอบ และวิจัยนั้นๆ ได้มาตรฐานเดียวกันกับ KOBELCO แห่งประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

.

"ปัจจุบันในบ้านเรา มีห้องแลปหรือห้องทดสอบตามสถาบันอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งของรัฐฯและเอกชน และที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้อย่างเต็มศักยภาพ   ในการตั้งศูนย์ TSNC ขึ้นมา จะเป็นตัวกลางประสานความต้องการของลูกค้าในภาคการผลิต ที่ต้องการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมของเมืองไทย เพราะด้วยชื่อเสียงของ KOBELCO ในระดับโลก จะทำให้สินค้าที่ผ่านการทดสอบจากเรา เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก และในอนาคตจะพัฒนาศูนย์แห่งนี้ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรให้เป็น National Lab ต่อไป"

.

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวอีกว่า การเข้ามาลงทุนในไทยของ KOBELCO ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะปัจจุบันโรงงานในไทยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น   และต่อไปกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้   ก็ไม่จำเป็นต้องนำสินค้าที่ผลิตไปทดสอบยังต่างประเทศ     แต่สามารถนำมาทดสอบที่ศูนย์นี้ได้เลย ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะลดต้นทุนแล้ว ตัวศูนย์เครือข่ายก็จะมีรายได้ในการใช้ห้องทดสอบที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  ซึ่งก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือที่เราเรียกว่า Win-Win นั่นเอง"

.

มร.ฮิโรยูกิ  มัทสุยาม่า  ผู้จัดการทั่วไป  แผนกวิจัยและทดสอบ

สถาบันวิจัย KOBELCO   RESEARCH   INSTITUTE, INC. 

.

ด้าน มร.ฮิโรยูกิ  มัทสุยาม่า  ผู้จัดการทั่วไป  แผนกวิจัยและทดสอบ สถาบันวิจัย KOBELCO   RESEARCH   INSTITUTE, INC.  เปิดเผยถึงความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม  ในการจัดตั้งศูนย์ “TSNC” ว่า    ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ขยายฐานการผลิตมาในประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อบริษัทฯ เหล่านี้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมขึ้นมา ก็ต้องส่งกลับไปวิจัยและทดสอบที่ประเทศแม่ 

.

เพราะงานบางชิ้นนั้น มีความยากเกินกว่าที่หน่วยงานในเมืองไทยจะทดสอบหรือวิจัยได้ และด้วยเหตุผลนี้เอง KOBELCO จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ TSNC ขึ้น โดยเล็งเห็นถึงการขยายฐานลูกค้าในเมืองไทย รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็มีบุคคลากร และหน่วยงานที่มีความสามารถทางด้านนี้ด้วยเช่นกัน

 

.

"เราจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการจากสถาบันวิจัย KOBELCO แห่งประเทศญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรของศูนย์ และสถาบันภายใต้เครือข่าย จากนั้นจึงส่งบุคลากรไปฝึกอบรม เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องในประเทศญี่ปุ่นต่อไป   ทั้งนี้   การพัฒนาบุคลากรของศูนย์เครือข่ายให้มีประสิทธิภาพสูง และรวดเร็วเท่าไร ก็จะสามารถรองรับตลาดด้านบริการทดสอบในภาคอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินรั่วไหลออกสู่ต่างประเทศ ให้กลับมาเป็นตลาดของภายในประเทศได้ในไม่ช้านี้" 

.

และนี่คือสิ่งที่สถาบัน   KOBELCO  คาดหวังและเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ     ภายใต้งานบริการที่มีมาตรฐาน  "ISO 17025"  เป็นบริการที่รวดเร็ว   ตรงตามกำหนด และมีราคาที่ประหยัดกว่า  โดยตั้งเป้าภายใน 3 -5 ปี น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในที่สุด นอกจากนี้เรายังต้องการสร้างให้ศูนย์นี้ เป็น Solution Provider คือนอกจากจะทดสอบ วิจัยสินค้าแล้ว  เรายังแนะนำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มคุณภาพ  และมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าได้ ซึ่งต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการบริการทดสอบเพียงอย่างเดียวมร.ฮิโรยูกิ  มัทสุยาม่า  กล่าว

.

สำหรับ KOBELCO เป็นบริษัท Top 10 ใน 600 กว่าบริษัท ที่ให้การบริการด้านการวิจัย ทดสอบ ตรวจสอบทางภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น   ซึ่ง KOBELCO มีประสบการณ์การทำงานวิจัย ทดสอบ ตรวจสอบ    และความเชี่ยวชาญ    ชำนาญในหลายด้าน    ไม่ว่าจะเป็น   Engineering, สิ่งแวดล้อม, เคมี และ ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงาน ภายใต้ KOBE Steel ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีความชำนาญในด้านวัตถุดิบเป็นอย่างมาก