เนื้อหาวันที่ : 2008-11-11 09:42:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1479 views

ไมโครซอฟท์ โชว์กึ๋นช่วยอุตฯซอฟต์แวร์ไทย ส่ง Microsoft BizSpark ชิงลาง

ไมโครซอฟท์ เดินหน้าลงทุนต่อเนื่องส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ล่าสุดส่งโปรแกรม Microsoft BizSpark เติมเต็มความต้องการของผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ก้าวข้ามความท้าทายมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จ

.

ไมโครซอฟท์ เดินหน้าลงทุนต่อเนื่องส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ล่าสุดส่งโปรแกรม Microsoft BizSpark เติมเต็มความต้องการของผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ตามแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยนำโดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ก้าวข้ามความท้าทายมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จ มอบสิทธิการใช้งานซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์เพื่อเป็นเครื่องมือการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เป็นเวลา 3 ปี พร้อมการสนับสนุนทางเทคนิคและหาช่องทางการตลาดเสริม

.

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากสภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปัจจุบันที่สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท จำนวนนักพัฒนากว่า 600 ราย และอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 20 ต่อปีนั้น ไมโครซอฟท์ตระหนักดีว่า การจะส่งเสริมผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

.

และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาตินั้น นักพัฒนาและผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศคือกำลังสำคัญที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก ดังนั้น ทุกๆ ฝ่ายจึงต้องหาแนวทางที่จะสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของนักพัฒนาและผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศให้มากที่สุด

.

ด้านนายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI กล่าวว่า "หน้าที่หลักของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยคือ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีการพัฒนาผลงานและผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน จนสามารถแข่งขันได้ในตลาดซอฟต์แวร์โลก"

.

"ที่ผ่านมา ATSI ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยเกิดการพัฒนาผลงานอย่างมีแนวทางที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนยังไม่เพียงพอในแง่ของเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และเงินทุนสนับสนุน เห็นได้จากสถิตินักพัฒนาเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน และร้อยละ 12.6 ก้าวข้ามพ้นนักพัฒนาในระดับเริ่มต้น ดังนั้น ความร่วมมือจากไมโครซอฟท์ในการสนับสนุนสิ่งที่ขาด คาดว่าจะช่วยผลักดันจำนวนนักพัฒนาที่ไปถึงฝั่งได้เพิ่มมากขึ้น"

.

จากความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในโครงการส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ผ่านๆ มา เราพบว่า ยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมากที่ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ยังคงขาดการสนับสนุนทางด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน คำแนะนำด้านเทคนิค และการตลาด ไมโครซอฟท์จึงนำโปรแกรม Microsoft BizSpark เข้ามาเสริมการสนับสนุนต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อต่อยอดให้การสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น" นางสาวปฐมา กล่าวเสริม

..

Microsoft BizSpark มีเป้าหมายหลัก คือ ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ได้รับปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม จนนำไปสู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศน์ไอทีไทยอย่างยั่งยืน โดยจะสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ หรือ startup ใน 3 ด้าน คือ สิทธิ์การใช้งานซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีแพล็ตฟอร์มสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เข้าถึงได้ง่าย การสนับสนุนจาก network partner ซึ่งเป็นนักลงทุน องค์กรขนาดใหญ่ และโฮสต์ติ้งเซอร์วิสที่มีอยู่ทั่วโลก และโอกาสด้านเงินทุนจากผู้สนับสนุน หรือ venture capital   

.

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า "ซอฟต์แวร์พาร์คมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระและผู้ประกอบการที่เริ่มดำเนินธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ และผลักดันอุตสาหกรรมไอทีไทยไปสู่ระดับสากล อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ซอฟต์แวร์พาร์คดำเนินการอยู่คือ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ ( Incubation Center )"

.

"ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ทุกคนล้วนมีศักยภาพสูง โดยที่ผ่านมา หลังจากได้รับการฝึกอบรมทักษะทางเทคนิคซอฟต์แวร์และธุรกิจจากซอฟต์แวร์พาร์คแล้ว นักพัฒนาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทักษะของพวกเขาพัฒนาขึ้น และสามารถพัฒนาธุรกิจได้ด้วยตนเอง แต่อาจยังขาดปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไป"

.

การเปิดตัวโปรแกรม Microsoft BizSpark ในวันนี้ ถือเป็นการสนับสนุนที่ครบวงจร ทั้งในด้านคำแนะนำทางเทคนิคซอฟต์แวร์และธุรกิจจากซอฟต์แวร์พาร์ค ผนวกกับสิทธิ์การใช้งานซอฟต์แวร์ และคำแนะนำด้านเทคโนโลยี อีกทั้งโอกาสในการเข้าถึงผู้สนับสนุนเงินทุน (venture capital) ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

.

ไมโครซอฟท์ตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญของภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ โปรแกรม Microsoft BizSpark นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสนับสนุนที่ยังคงต้องมีการส่งเสริมต่อยอดต่อไป เรามุ่งหวังว่าโปรแกรม Microsoft BizSpark จะเป็นจิ๊กซอว์ที่เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ยังขาด และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

.

"ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์คือฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เราหวังว่า ความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทั้งซอฟต์แวร์พาร์ค สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และไมโครซอฟท์เอง จะเป็นสะพานที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด" นางสาวปฐมา กล่าวในที่สุด

.

โปรแกรม Microsoft BizSpark เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการภายใต้พันธกิจของ Microsoft Unlimited Potential ในส่วนของการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น หรือ Fostering Local Innovation ที่มุ่งสนับสนุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสมแก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นในทุกระดับอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา จนถึงผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นคู่ค้าของไมโครซอฟท์

.

เป็นการส่งเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่ยังขาด เพื่อช่วยผลักดันให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา และธุรกิจ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมไอทีไทยอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ หรือ Job Opportunities ต่อไป

.

ไมโครซอฟท์ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ของไทยสมัครเข้าร่วมโปรแกรม Microsoft BizSpark ประมาณ 100 บริษัท ในปีแรก สำหรับมูลค่าการให้การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ ภายใต้โครงการ Microsoft BizSpark นั้นอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย ต่อปี

.

ไมโครซอฟท์หวังว่าเมื่อผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ที่เข้าร่วมโปรแกรมฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมทั้งจากไมโครซอฟท์เอง และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI แล้ว จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวสู่ตลาดโลกต่อไป

.

ผู้ประกอบการพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหม่ที่ต้องการสมัครเข้าร่วมโปรแกรม Microsoft BizSpark ต้องเป็นบริษัทที่ให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อปี ดูเกณฑ์การสมัครเพิ่มเติมได้ที่ www.microsoft.com/thailand/bizspark

.
ส่วนขั้นตอนการสมัครมีดังนี้

1. ติดต่อสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (คุณกมลปัตร ม่วงพันธ์  โทร 0-2962-1348 หรือ 0-2962-2900 ต่อ 1501 อีเมล์ Atsi9930@hotmail.com) เพื่อยื่นความจำนงของเข้าโครงการพร้อมหลักฐานการจดทะเบียนบริษัท

2.สมาคมจะเป็นผู้พิจารณา และอนุมัติ โดยท่านจะได้รับอีเมล์จากระบบของ Microsoft BizSpark
3. ตามลิงค์ที่ได้จากอีเมล์ เพื่อกรอกข้อมูลบริษัท ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆได้