เนื้อหาวันที่ : 2008-10-27 12:33:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1219 views

รัฐเร่งดันแผนพลังงานทดแทน 15 ปีตั้งเป้าเป็นผู้นำในเอเชีย-ลดนำเข้าน้ำมัน

พลังงาน โว 15 ปี ไทยจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับแนวหน้าของเอเชียที่มีศักยภาพสูง ควบคู่ไปกับแผนวิจัยพลังงาน มั่นใจว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี จะช่วยให้ประเทศไทยลดใช้พลังงานลง 22.5 ล้านตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบหรือประหยัดการนำเข้าพลังงานได้ 608,000 ล้านบาท/ปี รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 42 ล้านตัน ภายในปี 65

.

พลังงาน โว 15 ปี ไทยจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับแนวหน้าของเอเชียที่มีศักยภาพสูง ควบคู่ไปกับแผนวิจัยพลังงาน มั่นใจส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย

.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งเป็นนโยบายที่จะผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ คือ นครราชสีมา, เชียงใหม่, ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป

.

ทั้งนี้สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศในปี 65 จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ในปี 54 เท่านั้น เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ

.

โดยมั่นใจว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี จะช่วยให้ประเทศไทยลดใช้พลังงานลง 22.5 ล้านตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบหรือประหยัดการนำเข้าพลังงานได้ 608,000 ล้านบาท/ปี รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 42 ล้านตัน ภายในปี 65

.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ภายใต้กรอบการจัดทำแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ไทยจะเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับแนวหน้าของเอเชียที่มีศักยภาพสูง ควบคู่ไปกับแผนวิจัยพลังงานให้มีการสอดรับระหว่างกัน โดยกำหนดเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น จะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง และมีผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ  

.

ระยะกลาง จะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนภายในประเทศ เป็นการสร้างอุตสาหกรรม และบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอนาคต ให้อุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ประกอบกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้พึ่งพาตนเองด้วยพลังงานสะอาดต่อไป

.

ระยะยาวจะเน้นการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งออกเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชีย