เนื้อหาวันที่ : 2008-10-27 09:47:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2112 views

โอเปค มีมติลดการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมฉุกเฉิน

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติเห็นชอบลดการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมฉุกเฉินที่กรุงเวียนนาในวันนี้ โดยโควต้าการผลิตใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ และถือเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันขยับลงไปมากกว่านี้

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติเห็นชอบลดการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมฉุกเฉินที่กรุงเวียนนาในวันนี้ โดยโควต้าการผลิตใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ และถือเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันขยับลงไปมากกว่านี้

.

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอาลี อัล-ไนมี รมว.น้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมตัดสินใจเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ด้านนายโมฮัมหมัด อัล-โอลาอิม รัฐมนตรีน้ำมันของคูเวตกล่าวว่าโควต้าใหม่จะลดลงจากระดับ 28.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน

.

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันร่วงลง 57% นับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.เมื่อราคาทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตวลงอย่างต่อเนื่องนั้นมาจากวิกฤตการเงินที่แผ่ขยายลุกลามไปยังภูมิภาคต่างๆของโลก การลดการจ้างงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และการบริโภคเชื้อเพลิงที่ชะลอตัว โดยทบวงพลังงานสากล (ไออีเอ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า อุปสงค์น้ำมันในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจะลดลง 2.2% ในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการทั่วโลกขยายตัวเพียง 0.5%

.

ขณะที่นายอับดุลลาห์ บิน ฮาหมัด อัล-อัตติยาห์ รมว.น้ำมันของกาตาร์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางกลุ่มจะลดการผลิตลงอีกในเดือนธ.ค.นี้  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปฏิกริยาตอบสนองของตลาดต่อการลดการผลิตครั้งล่าสุด

..

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในการประชุมเดือนก.ย. โอเปคได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกผลิตน้ำมันตามโควต้าจริง ซึ่งจะช่วยให้อุปทานลดลงได้ประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากในเดือนที่แล้วสมาชิกโอเปค ไม่นับรวมอิรักและอินโดนีเซีย ผลิตน้ำมันเกินกว่าโควต้าอย่างเป็นทางการของกลุ่มถึง 390,000 บาร์เรล

.

การลดโควต้าของโอเปคครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้มีขึ้นในเดือนธ.ค.2549 ในการประชุมที่ไนจีเรีย โดยที่ประชุมในครั้งนั้นมีมติลดการผลิตวันละ 500,000 บาร์เรล มีผลบังคับใช้เดือนก.พ.2550 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับแต่นั้นมา