เนื้อหาวันที่ : 2008-10-25 12:08:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1166 views

พาณิชย์ วางแผนรับมือวิกฤตฺเศรษฐกิจ มั่นใจยอดส่งออกปี 52 ขยายตัว 10%

กรมการส่งเสริมการส่งออก กำหนดกลยุทธ์และแผนผลักดันการส่งออกเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 10% หรือมีมูลค่า 197,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากฐานการส่งออกในปี 2551

กรมการส่งเสริมการส่งออก กำหนดกลยุทธ์และแผนผลักดันการส่งออกเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 10% หรือมีมูลค่า 197,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จากฐานการส่งออกในปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัว 15% มูลค่า 174,910 ล้านเหรียญฯ โดยประเมินถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐที่ลุกลามไปยังเศรษฐกิจประเทศต่างๆ และผลกระทบทางด้านราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

.

"มั่นใจว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 10% ซึ่งได้ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ไว้แล้ว และได้จัดทำแผนรับมือไว้แล้วเช่นกัน โดยแผนงานที่จะดำเนินการมี 924 โครงการ ทั้งการบุกเจาะตลาดใหม่ การรักษาตลาดหลัก และแผนเชิงรุกเป็นรายสินค้า มั่นใจว่า แม้ปีหน้าจะมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การส่งออกของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยังขยายตัวได้ดี แต่ยอมรับว่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้เล็กน้อย โดยตัวเลขการส่งออกทางการ กรมฯ จะหารือกับผู้ส่งออกและประกาศปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมนี้" นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว

.

แผนส่งออกปีหน้าที่จะไปตลาดหลัก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป(อียู) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ส่วนการส่งออกไปอาเซียนและตลาดใหม่ คือ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และละตินอเมริกา ขยายตัว 14.1%

.
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าคือ วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐและอียูที่ลุกลามทำให้เศรษฐกิจโลก และการค้าโลกชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ล่าสุดในเดือน ต.ค.ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3% จากปีนี้ที่คาดขยายตัว 3.9% ส่วนการค้าโลกคาดขยายตัวเพียง 4.1% จากปีนี้ที่คาดขยายตัว 4.9%
.

"ความเสี่ยงจากวิกฤตการเงินในประเทศต่างๆ ยังไม่หยุดนิ่ง และยังอาจเกิดปัญหาระบบสถาบันการเงินทั้งในอียูและสหรัฐล้มละลายเพิ่มเติมได้อีก แต่กรมฯ ได้เตรียมแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของไทยในปีหน้าแล้ว" นายราเชนทร์ กล่าว

.

รายละเอียดของกลยุทธ์และแผนผลักดันการส่งออกเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีทั้งสิ้น 5 แผนหลัก ได้แก่ การผลักดันการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 17-19% จากเดิม 17% โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 130 โครงการ แยกเป็นตลาดหลัก 50 โครงการ ตลาดใหม่ 55 โครงการ และทุกตลาด 23 โครงการ,

.

การส่งเสริมการส่งออกเป็นพิเศษในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อย ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 65.3% ของการส่งออกรวม โดยจะผลักดันให้ส่งออกเพิ่มขึ้น 65-67% เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 519 โครงการ ส่วนตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากวิกฤตการเงินในสหรัฐมีสัดส่วนการส่งออก 34.7% จะมุ่งส่งเสริมตลาดไม่ให้ส่งออกลดลง มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 173 โครงการ,

.

การส่งเสริมธุรกิจบริการ เพื่อสนับสนุนให้ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงประมาณ 1 ล้านคน ทางอ้อม 20 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร บันเทิง ภาพยนตร์ เพลง การศึกษา สปาและโรงพยาบาล และสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น แฟรนไชส์ การออกแบบ ก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ ตัดเย็นเสื้อผ้าผ่านอินเตอร์เน็ต มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ 102 โครงการ

.

การลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก สนับสนุนให้รัฐบาลลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น รถไฟรางคู่ ท่าเรือ รถไฟ และลดขั้นตอนราชการโดยให้บริการส่งออก ณ จุดเดียว เป็นต้น

.
และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในสาขาที่ไทยเข้มแข็ง เช่น อาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การก่อสร้าง พลังงาน สุขอนามัย การทำคอนแทรกฟาร์มมิ่ง และการเปิดสาขา หาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศ ในตลาดอาเซียน จีน ตะวันออกกลาง
.

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะหาทางใช้ประโยชน์จากการเจรจาและจัดทำข้อตกลงการค้าในทุกกรอบการค้า ทั้งกรอบพหุภาคี และกรอบทวิภาคี การพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ในภูมิภาคให้เพิ่มขึ้น การพัฒนาย่านการค้านานาชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์ส่งออกทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น สีลม สุรวงค์ และมเหสักข์ เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ วรจักร เป็นศูนย์กลางการค้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ใบหยก โบ๊เบ๊ เป็นศูนย์กลางการค้าเสื้อผ้าส่งออก และการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการไทย