เนื้อหาวันที่ : 2008-10-23 12:42:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1077 views

ศูนย์วิจัยกสิกร แนะดูแลเงินบาทเคลื่อนไหวตามภูมิภาคบรรเทาผลกระทบส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สนับสนุนแนวทางการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเห็นว่าทางการไทยต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทต่อไปอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยที่จะต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่หลากหลายได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สนับสนุนแนวทางการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเห็นว่าทางการไทยต้องจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทต่อไปอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยที่จะต้องเผชิญกับภาวะที่ท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่หลากหลายได้

.

เนื่องจากการที่เงินบาทเคลื่อนไหวตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ทำให้ภาคส่งออกของไทยไม่สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันมากนัก เนื่องจากเงินบาทยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 22.5% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย

.

ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ปัจจัยลบภายนอกประเทศอาจกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 52 การขยายตัวเหลือเพียง 5.0-10.0% ชะลอลงจาก 20%ในปีนี้ ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวและการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และภาวะความปั่นป่วนของตลาดการเงินอาจกระทบต่อภาคส่งออกของไทยชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าทั้งในส่วนของราคาและปริมาณการส่งออก โดยอัตราการขยายตัวอาจเป็นเลขหลักเดียว โดยเฉพาะในหมวดเกษตรกรรม

.

สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้อยู่ในอัตราเฉลี่ย 34.47 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลง 2.3% จากสิ้นปี 50 โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.51 แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ยกเว้นเงินหยวน ที่ถูกมองว่ายังคงมีมูลค่าที่ต่ำเกินกว่าระดับความเป็นจริง และเงินเยน ที่ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยการปิดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และการทำ Carry Trade จากวิกฤตทางการเงินของโลก ทำให้เงินเยนยังถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยสกุลหนึ่ง

.

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ จากแรงกดดันของความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางภาวะวิกฤตของตลาดสินเชื่อ/ตลาดการเงินโลก ความกังวลต่อความอ่อนแอของดุลการค้า / ดุลบัญชีเดินสะพัด และแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย  

.

แต่ข้อสังเกตว่าการอ่อนค่าลงของสกุลเงินในภูมิภาคมีลักษณะที่ไม่เกาะกลุ่มกันมากนักในปีนี้ เห็นได้จากมีสกุลเงินภูมิภาคบางสกุลที่อ่อนค่าลงค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 51 เช่น เงินวอนเกาหลีใต้ ลดลง 31.3%  เงินรูปีอินเดีย ร่วงลง 20.1% เงินเปโซ ฟิลิปปินส์ ร่วงลง 15.3%

.

ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงด้วยอัตราที่รุนแรงน้อยกว่า 10% เช่น เงินดอลลาร์ไต้หวัน (-1.6%) เงินบาท (-2.3%) เงินดอลลาร์สิงคโปร์ (-3.7%) เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย (-5.1%) และเงินริงกิตมาเลเซีย (-6.7%)  แต่สกุลเงินที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ในปีนี้ คือ เงินหยวน (+6.8%) และเงินเยน (+11.7%)