เนื้อหาวันที่ : 2008-10-22 09:12:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1219 views

นักวิชาการเตือนรัฐอย่าชะล่าใจ ศก.ไทยปี 52 กระเทือนแน่จากวิกฤติโลก

ทีดีอาร์ไอ คาด เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตระดับ 3.8% เชื่อวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกจะส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกับภาคเศรษฐกิจภาครัฐต้องรีบส่งสัญญาณให้มีการเตรียมตัวรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดว่า เศรษฐกิจในปีหน้าอาจเติบโตในระดับ 3.8% ซึ่งเป็นการมองในแง่ดีแล้ว เพราะเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกจะส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังนั้น ภาครัฐต้องรีบส่งสัญญาณให้มีการเตรียมตัวรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้น

.

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะมีผลต่อทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่เป็นตลาดหลักในการส่งออก 40% ของการส่งออกของไทย ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างมาก ทำให้แม้ว่าจะหันไปส่งออกให้กับจีนก็ช่วยไม่ได้มากนัก เพราะจีนเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน การบริโภคของจีนยังถือว่ามีระดับต่ำ ถึงแม้จะมีประชากรมาก ขณะที่การท่องเที่ยวก็จะชะลอตัวอย่างแน่นอนและวิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา คงไม่เห็นจบลงภายในสิ้นปี 52

.

รัฐควรที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไม่ใช่ผลีกดันให้เกิดโครงการเมกะโปรเจกต์ เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการลงทุน แต่ควรเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในองค์กรส่วนท้องถิ่นและเร่งสร่างศักยภาพของท้องถิ่น และควรมีการลงทุนในสายถนนท้องถิ่นมากกว่าการลงทุนระดับชาติ

.

ภาครัฐควรใช้นโยบายการเงินและการคลังในการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป ไม่ใช่เน้นแต่นโยบายการเงินและควรผลักดันมาตรการทางภาษีมาช่วยเหลือ ส่วนภาคอุตสาหกรรมควรเน้นเรื่องสินค้าเกษตรเพราะเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมหนักของประเทศจะเกิดภาวะชะลอตัวอย่างหนักตามเศรษฐกิจโลก

.

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรแก้ปัญหาร่วมกันและหากมีความขัดแย้งก็ไม่ควรใช้เวทีสาธารณะเพื่อโต้ตอบกันเพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและประชาชน

.

ขณะที่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาการเมืองที่ไม่มีทางออกและไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมให้กัน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อประเทศ

.

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากปัญหาวิกฤตการเงินและเชื่อว่าจะเชื่อมโยงกันทั้งโลก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากมาตรการที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เพียงพอ แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายแล้ว 

.

และแม้ว่ารัฐจะยืนยันว่าสภาพคล่องเพียงพอแต่ไม่ควรชะล่าใจ เพราะรัฐไม่ยืนยันว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ควรเร่งให้เกิดการลงทุนและสร้างรายได้ให้ประชากร ด้วยการเร่งออกนโยบายระยะยาวที่จะสร้างรายได้ และคลี่คลายสถานการณ์เพราะปัจจุบันมีเพียงนโยบายระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังหาจุดจบยาก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำร้ายเศรษฐกิจไทย

.

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 52 ประเมินว่าจะขยายตัวในระดับ 3.8-5.0% แต่ยอมรับว่ามีความท้าทายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย เพราะมีปัญหาทั้งเรื่องวิกฤตการเงินในต่างประเทศที่อย่างน้อยจะต้องใช้เวลา 18-24 เดือนถึงจะฟื้นตัว รวมถึงการปรับตัวของประเทศต่างๆ ในโลกที่จะรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

.

ขณะที่ภาคความเชื่อมั่นภายในประเทศต่อปัญหาการเมืองยอมรับว่าความเชื่อมั่นที่ลดลงทำให้ผลการสำรวจของธปท.ออกมาว่าภาคธุรกิจจะมีการลงทุนที่ลดลงเพื่อชะลอดูสถานการณ์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.75% ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ลดลง

.

นายบัณฑิต กล่าวว่า ธปท.และกระทรวงการคลังมีการพูดคุยและประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดความไม่เข้าใจกันในบางเรื่อง แต่ก็สามารถปรับความเข้าใจกันได้ แม้บางครั้งจะมีภาพความขัดแย้งปรากฏต่อสาธารณชนบ้าง