เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 14:17:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2701 views

การเงินยุโรปวิปโยค เงาสะท้อนกับดักสภาพคล่องจากวอลล์สตรีทสู่วิกฤตไฟลามทุ่ง

กงล้อความเคลื่อนไหวของภาคธรุกิจการเงินในยุโรปต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ หลังจากที่สถาบันการเงินบนแผ่นดินที่เรืองรองด้วยอารยธรรมแห่งนี้ มีสถานะเป็นเหยื่อลำดับสองที่ต้องเผชิญหายนะจากตลาดสินเชื่อ เมื่อพี่ใหญ่อย่างสหรัฐกำลังถูกมรสุมเศรษฐกิจซัดจนซวนเซ จนทำให้เศรษฐกิจยุโรปหมิ่นเหม่ที่จะตกสู่วังวนแห่งความถดถอยไม่น้อยไปกว่ากัน

.

กงล้อความเคลื่อนไหวของภาคธรุกิจการเงินในยุโรปต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ หลังจากที่สถาบันการเงินบนแผ่นดินที่เรืองรองด้วยอารยธรรมแห่งนี้ มีสถานะเป็นเหยื่อลำดับสองที่ต้องเผชิญหายนะจากตลาดสินเชื่อ เมื่อพี่ใหญ่อย่างสหรัฐกำลังถูกมรสุมเศรษฐกิจซัดจนซวนเซ จนทำให้เศรษฐกิจยุโรปหมิ่นเหม่ที่จะตกสู่วังวนแห่งความถดถอยไม่น้อยไปกว่ากัน

.

แสงและเงาที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวสะท้อนตัวตนของทุกสรรพสิ่ง อาจนำมาใช้อธิบายสถานภาพความเป็นจริงของยุโรปที่เกี่ยวพันกับประเทศผู้กำหนดชะตาอนาคตโลกอย่างสหรัฐได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยสถาบันการเงินในยุโรปมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างเหนียวแน่น ดังนั้น สิ่งที่ทั่วโลกต่างเห็นกันมาโดยตลอดจึงเป็นภาพในลักษณะที่ว่า หากสหรัฐแข็งแกร่ง...ยุโรปก็จะมั่นคง แต่หากสหรัฐล้มลง...ยุโรปก็ไร้เรี่ยวแรง

.

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินยุโรปต่อไปนี้ คือ เงาสะท้อนที่ส่องให้เห็นถึงภาวะล่มสลายของตลาดสินเชื่ออันมีรากเหง้ามาจากตลาดวอลล์สตรีท ที่เปรียบเสมือนผู้วางกับดักสภาพคล่องจนทำให้เหล่ายักษ์การเงินต้องหันหน้ามาควบรวมกิจการหรือไม่ก็เข้าคิวแปรสภาพเป็นสมบัติของรัฐบาลไปแบบเรียบร้อยโรงเรียนยุโรปกันหลายต่อหลายราย

.

18 กุมภาพันธ์ 2551: นอร์ทเทิร์น ร็อก...สถาบันปล่อยสินเชื่อรายใหญ่อันดับ 5 ของอังกฤษเบิกร่องการตกชั้น กลายเป็นกิจการของรัฐก่อนใครเพื่อน เมื่อธนาคารกลางอังกฤษทุ่มเงินกว่า 2.5 หมื่นล้านปอนด์เข้าช่วยเหลือกิจการ หลังเลี้ยงไข้จากอาการป่วยพิษซับไพรม์มานานถึง 6 เดือน โดยปัญหาของธนาคารแห่งนี้อุบัติขึ้นเมื่อครั้งที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนทุนรอนที่ใช้รองรับการออกเงินกู้ อันเป็นชนวนเหตุของการเกิดวิกฤตศรัทธาพาลให้ลูกค้าแห่ถอนเงินกันยกใหญ่ ขณะที่กูรูตลาดเงินมองว่า ความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจของนอร์ทเทิร์น ร็อกครั้งนี้ สร้างความเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุดต่อธุรกิจการเงินแดนผู้ดีในรอบ 140 ปีเลยทีเดียว

.

18 กันยายน 2551: เอชบีโอเอส... หรือ ธนาคารแฮลิแฟกซ์ แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ผู้ปล่อยกู้จำนองรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษได้ตกร่องปล่องชิ้นขายกิจการให้กับธนาคารลอยด์ส ทีเอสบี มูลค่า 1.22 หมื่นล้านปอนด์ หลังจากหุ้นของธนาคารที่ทำการซื้อขายในตลาดลอนดอนถูกแรงกระแทกลง 52% จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของเอชบีโอเอสตามมา

.

ทั้งนี้ บีบีซีรายงานคำกล่าวของเซอร์ วิคเตอร์ แบลงค์ ประธานกรรมการของลอยด์ส ทีเอสบีว่า การทำข้อตกลงซื้อกิจการครั้งนี้ คือ การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อขยายกลยุทธ์เป็นกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าพนักงานจะได้รับผลกระทบในการปรับลดจำนวนหนึ่งแต่จะไม่สูงถึง 4,000 คนตามที่เป็นข่าว ฟากเดนนิส สตีเวนสัน

.

ประธานกรรมการของเอสบีโอเอสมองว่า การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะกลุ่มธนาคารที่มีการควบรวมกิจการกันจะเติบใหญ่กลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอังกฤษ อย่างไรก็ดี สิ่งที่บุคคลทั้งสองกล่าวมาข้างต้นนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น คงมีเพียง "เอริค แดเนียลส์" ซีอีโอของลอยด์ส ทีเอสบี ที่นั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดและมีอำนาจชี้ชะตาธนาคารแห่งนี้เป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

.

28 กันยายน 2551: แบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์สถาบันปล่อยกู้เพื่อซื้อบ้านรายใหญ่อีกแห่งของอังกฤษวิ่งเข้าสู่อ้อมกอดของรัฐบาลผู้ดีตามรอยนอร์ทเทิร์น ร็อกไปอีกราย โดยนายอลิสแตร์ ดาร์ลิ่ง รัฐมนตรีคลังอังกฤษเปิดเผยว่า ทางกระทรวงจะเป็นผู้รับช่วงสินเชื่อมูลค่า 5 หมื่นล้านปอนด์ เพื่อรับผิดชอบดูแลกิจการด้านสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ และเงินกู้ประเภทอื่น ๆ

.

ขณะที่ธนาคารซันทันเดอร์ แบงก์ยักษ์ของสเปนจะร่วมทุบกระปุกควักเงินจำนวน 2 หมื่นล้านปอนด์ พร้อมรับหน้าเสื่อดูแลสาขาย่อยราว 200 แห่งอีกแรง เพื่อช่วยให้ธนาคารเปิดให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ

.

29 กันยายน 2551: ฟอร์ติส...กลุ่มธุรกิจธนาคารและการประกันภัยยักษ์ใหญ่ของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ถูกจั่วหัวเป็นโดมิโนตัวรองต่อจากอังกฤษที่ติดร่างแหจากปัญหาสภาพคล่องจนต้องเข้าสู่กระบวนการโอนกิจการเป็นของรัฐ หลังจากที่หุ้นดำดิ่งชนิดกู่ไม่กลับ 35% ในตลาดเบลเยี่ยม ร้อนถึงนายฌอง คล็อด-ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรปต้องออกมาประกาศยึดฟอร์ติส

.

ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพนักงานราว 85,000 คนทั่วโลก และภายใต้ข้อตกลงการโอนกิจการครั้งนี้นั้น กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ได้ออกมาแถลงถึงการลงขันร่วมกัน 1.12 หมื่นล้านยูโร โดยมีรายละเอียดว่า รัฐบาลเบลเยียมจะลงทุน 4.7 พันล้านยูโรเพื่อซื้อหุ้นสามัญ 49% ส่วนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะทุ่มเงิน 4 พันล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลลักเซมเบิร์กขอควัก 2.5 พันล้านยูโรผ่านการซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ

.

ทั้งนี้ เซียนตลาดเงินมองว่า ปัญหาของฟอร์ติสมีต้นตอมาจากการที่กลุ่มธุรกิจนี้ลงทุนเกินตัวด้วยการกว้านซื้อแบงก์ชื่อดัง 3 แห่งรวดเมื่อปีก่อน จนเป็นที่มาของความหวั่นวิตกว่าจะประสบปัญหาขาดทุนในที่สุด

.

29 กันยายน 2551: ไฮโป เรียล เอสเตท...สถาบันปล่อยเงินกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนีต้องร้องขออ็อกซิเจนจากรัฐบาลในประเทศและธนาคารเอกชนให้ร่วมกันต่อลมหายใจอัดฉีดเงิน 3.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อช่วยชีวิตให้ธนาคารแห่งนี้สามารถลืมตาตื่นขึ้นมาจากภาวะล้มละลาย

.

29 กันยายน 2551: กลิตนีร์...ธนาคารยักษ์ใหญ่หมายเลข 3 ของไอซ์แลนด์หันหน้าไปพึ่งบารมีรัฐบาล ผู้สวมบทพระเอกเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการด้วยการถือครองหุ้นสัดส่วน 75% หรือคิดเป็นมูลค่า 600 ล้านยูโร โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์เข้ายึดกิจการธนาคารครั้งใหญ่ครั้งแรกของประเทศในช่วงที่วิกฤตการเงินแพร่สะพัดไปทั่วโลก เมื่อธนาคารกลางไอซ์แลนด์ฟันธงว่า กลิตนีร์ ธนาคารที่มีอายุยืนยาวมาถึง 104 ปีและดำเนินงานใน 10 ประเทศรายนี้จะต้องล่มสลายกลายเป็นตำนานไปอย่างแน่นอน หากรัฐบาลไม่ยอมยื่นมือเข้ามาแทรกแซง

.

30 กันยายน 2551: เด็กเซีย...ธนาคารสัญชาติเบลเยียม-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้นำด้านพันธบัตรเทศบาลในยุโรปได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเบลเยียมที่ประกาศยืนหยัดเคียงข้างเด็กเซียแบบไม่หลบลี้หนีหน้า เช่นเดียวกับรัฐบาลฝรั่งเศสและผู้ถือหุ้นของธนาคารที่ร่วมแรงร่วมใจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นมูลค่า 6,400 ล้านยูโร หลังราคาหุ้นรูดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสวิกฤตศรัทธาที่ไหลเชี่ยวกรากจากปัญหาเม็ดเงินสภาพคล่องในธนาคาร ไม่ต่างจากเหยื่อรุ่นพี่ที่โดนพิษสงของวิกฤตการณ์การเงินเล่นงานไปตาม ๆ กัน

.

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของยุโรปดังที่ได้ประมวลมาข้างต้นนี้อาจเป็นเพียงแค่ "จุดเริ่มต้นของจุดจบ" ที่ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ว่า ยักษ์การเงินจากประเทศใดจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปที่มาร่วมชะตากรรมติดอยู่ในบ่วงของวิกฤตสินเชื่อ ซึ่งทวีความรุนแรงจนกลายเป็นไฟลามทุ่งจนยากที่จะดับลงได้ในเร็ววัน

.

แต่แม้เปลวเพลิงแห่งวิกฤตการเงินที่ลุกโชนจะสงบลงได้ในตอนสุดท้าย แต่สิ่งที่เหลือไว้คงมีเพียงเถ้าถ่านแห่งความเสียหายให้ทั่วโลกต้องจดจำเป็นบทเรียนกันไปตราบนานเท่านาน...