เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 10:35:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3000 views

จุฬาฯเตรียมเปิด ป.โทหลักสูตรปิโตรเลียมนานาชาติปี ‘52

เชฟรอน จับมือ ปตท.และม.จุฬาฯเปิดหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม เพื่อผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ และความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมของภูมิภาค

.

เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต  บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม เพื่อผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ และความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมของภูมิภาค   

.

การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เชฟรอน และ ปตท.สผ. ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในวงเงินสูงสุดเป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการสนับสนุนจะรวมถึงการจัดหาบุคลากรผู้สอนจากต่างประเทศ การให้ทุนการศึกษา การส่งเสริมความร่วมมือด้านงานวิจัย

.

เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีอันทันสมัยด้านธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญด้านการสำรวจปิโตรเลียม เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมพัฒนาพลังงานและปิโตรเลียม ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ โดยจะเริ่มเปิดภาคการศึกษาแรกในปี พ.ศ. 2552  

.

นายธารา ธีรธนากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "โครงการ UPP หรือ University Partnership Program นี้ มิได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่เป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเชฟรอนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสหรือเอ็มไอที มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด "

.

"และ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการร่วมกันพัฒนาการศึกษาทั้งในแง่ของหลักสูตร การสนับสนุนด้านบุคลากรและทุนการศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีต่างๆ โดยการคัดเลือกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการจะเน้นสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ แนวคิดที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการศึกษาในเชิงลึกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม" นายธารากล่าว  

.

สำหรับประเทศไทยถือเป็นมิติใหม่ของโครงการนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการร่วมมือกันของบริษัทพลังงานชั้นนำระดับประเทศอย่างเชฟรอนและ ปตท.สผ. เพื่อพัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมครั้งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างมหาบัณฑิตด้านธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ที่มีความสามารถทัดเทียมและเพื่อทดแทนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในประเทศไทย

.

"เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และยังช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอกประเทศอีกด้วย ซึ่งการผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งในครั้งนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่า ทิศทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจพลังงานในประเทศไทยนั้นจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองแนวนโยบายด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศในการเร่งพัฒนาแหล่งภายในประเทศ และเพื่อให้อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป"    

.

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า "ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งชาติของไทย ปัจจุบันดำเนินกิจการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเลกว่า 40 โครงการทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน"

.

ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยังมีภารกิจสืบเนื่องในการที่จะขยายการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต ปตท.สผ.จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้าง ขีดความสามารถของคนไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย

.

โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสาขาอาชีพสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ ปตท.สผ.สร้างคนค้นหาปิโตรเลียม ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงการที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาเหล่านี้อย่างเพียงพอแล้ว ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้จากประสบการณ์ในการทำงานจริง และสนับสนุนให้มีการทำวิจัย

.

"เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย สำหรับความร่วมมือกับเชฟรอนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้นโยบายการพัฒนาบุคลากรของ ปตท.สผ. เป็นการต่อยอดในการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในระดับสากลและความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันภารกิจในการแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่คนไทยโดยรวม" 

.

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติที่ได้รับคัดเลือก ให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำการเปิดหลักสูตรโดยได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการดำเนินการโครงการในระยะแรกเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ไปจนถึง พ.ศ. 2557"

.

"ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทพลังงานระดับประเทศ ทั้งเชฟรอนและ ปตท.สผ. ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิชานี้ เนื่องจากสภาวการณ์พลังงานของโลกและของประเทศในปัจจุบัน การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตบัณฑิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจะมีส่วนช่วยในการสำรวจและวางแผนก่อน ระหว่าง และหลังงานการสำรวจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"   

.

โครงการความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาประเทศชาติ โดยเริ่มจากภาคการศึกษา อันส่งผลให้เกิดประโยขน์ในการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงาน

.

เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม เพื่อพัฒนาด้านการสำรวจหาแหล่งพลังงาน นับเป็นการสนองต่อนโยบายพลังงานของรัฐที่เน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศให้มากที่สุด