เนื้อหาวันที่ : 2008-10-15 12:05:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11072 views

อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม Remanufacturing

สิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัญหามลภาวะเป็นพิษ ทั้งทางน้ำ ดิน เสียง และอากาศ ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของขยะของเสียต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเมื่อเผชิญปํญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้

.

สิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัญหามลภาวะเป็นพิษ ทั้งทางน้ำ ดิน เสียง และอากาศ ปัญหาโลกร้อน  (Global Warming) ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของขยะของเสียต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเมื่อเผชิญปํญหาต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ในด้านอุตสาหกรรมประเทศพัฒนาแล้วได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยการสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด การส่งเสริมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีกฎระเบียบควบคุมต่างๆ เพื่อปกป้องความปลอดภัยและปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ระเบียบ WEEE, RoHS และ REACH ของ EU เป็นต้น

.

อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะ ปริมาณของเสีย และทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในบางครั้งทำให้สินค้ามีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นอีกด้วย บทความนี้จึงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมแบบใหม่คือ อุตสาหกรรม Remanufacturing ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

.

1. อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม
1.1 ความหมายของอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม (Environment Industry หรือ Eco Industy) จะมีการให้คำนิยามแตกต่างกันออกไป โดยปกติแล้วในความหมายกว้างจะหมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ ในการวัด ป้องกัน ลดหรือแก้ไขมลภาวะที่เกิดขึ้นกับน้ำ อากาศ ดิน รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับของเสีย/ขยะ เสียงรบกวน และระบบนิเวศน์ ซึ่งอาจรวมไปถึงเทคโนโลยีที่สะอาดสินค้าและบริการที่ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการลดมลภาวะตลอดจนใช้ทรัพยากรที่น้อยลงได้ด้วย

..

จากคำจำกัดความข้างต้น อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม จึงครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง โดยอาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

1. อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อใช้ในงานด้านการขจัดบำบัด และป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นการผลิตสารเคมีเพื่อบำบัดน้ำเสีย ผลิตอุปกรณ์การตรวจสอบมลภาวะ อุปกรณ์ขจัดขยะ (เช่น เตาเผาขยะ) หรือสินค้าใดๆ ก็ได้ที่นำมาใช้งานในด้านสิ่งแวดล้อม

..

2. อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสะอาดจะหมายถึงอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรมที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต จากเดิมที่ก่อให้เกิดมลภาวะมาใช้เทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

3. อุตสาหกรรมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Preferred Product : EPP) จะหมายถึงสินค้าทุกชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมลดลง เช่น สินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ในการผลิต โดยอาจรวมไปถึงสินค้าที่ประหยัดการใช้ทรัพยากร (ไฟฟ้าหรือน้ำมัน) เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 รถยนต์ Eco-car เป็นต้น

.

4. อุตสาหกรรมสินค้าที่นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ สินค้า Recycle Remanufacturing และ Repair ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการประหยัดจากการนำสินค้าหรือบางส่วนที่ยังสามารถใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการลดปริมาณขยะเหลือทิ้งลงได้อีกด้วย

.
1.2 ความสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม EU มีมูลค่ากว่า 180 พันล้านยูโรในปี 1999 โดยมีปริมาณการลงทุนสูงถึง 54 พันล้านยูโรในปีเดียวกัน ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 2 ล้านคน ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

.

ขนาดของตลาดสินค้า/บริการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 550 พันล้านยูโร โดยคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 5-8% ต่อปี โดยผู้ผลิตสินค้าสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ EU

.

ในส่วนของอุตสาหกรรม Recycle และ Reuse ในประเทศสหรัฐฯ หากรวมตั้งแต่กิจกรรมในการเก็บรวบรวม นำสินค้ามาผ่านกระบวนการ จนถึงนำมาผลิตใช้ใหม่ และการนำมาผลิตใหม่ (Remanufacturing) จะก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 36 ล้านคน มีมูลค่าของธุรกิจกว่า 236 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะในอุตสาหกรรม Remanufacturing เพียงอย่างเดียวประมาณกันว่ามียอดขายถึง 53 พันล้านเหรียญฯ จากจำนวนบริษัท 73,000 บริษัท

.

ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง แต่คาดว่ายังมีไม่มากนักในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อุตสาหกรรม Remanufacturing และอุตสาหกรรม Recycle ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

.
1.3 ผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อภาคอุตสาหกรรม
ผลกระทบต่อประเทศพัฒนาแล้ว
  • มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น
  • ระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ของ EU (เริ่มใช้งานในปี 2005) โดยกำหนดให้ประเทศที่ส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยัง EU จะต้องรับผิดชอบในการทำลายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดสภาพ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถปรับสภาพ (Recovery) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle/Reuse) ได้ในอัตราที่กำหนดไว้ และห้ามใช้สารอันตรายในการผลิต เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม เป็นต้น
  • ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือ Restriction of Hazardous Substances (RoHS) เป็นมาตรการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิด เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ที่ใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะนำเข้าไปจำหน่ายใน EU
  • ระบบ REACH (Registration, Evaluation and Authorization Chemical) ของ EU ในการควบคุมเคมีภัณฑ์ที่กำหนดให้สินค้าเคมีต้องมีการจดทะเบียน การประเมิน และการอนุญาตให้ผลิต/จำหน่าย/ใช้/นำเข้าในสหภาพยุโรป โดยผู้ผลิต/ผู้นำเข้าจะต้องยื่นขอจดทะเบียนสารเคมี และยื่นข้อมูลรายละเอียดทั้งด้านเทคนิคและรายงานความปลอดภัยของสารเคมี ซึ่งผู้ผลิต/ผู้นำเข้ามีหน้าที่จะต้องจัดวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ต่างๆ ที่จะเกิดจากสารเคมีนั้นๆ
  • ระเบียบ EuP (Energy-using Product) เป็น กรอบข้อกำหนดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Ecodesign) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงาน (EuP) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า EuP ที่เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม (Ecoproducts) จะสามารถวางตลาดได้อย่างเสรีทั่วสหภาพยุโรป
  • มีการย้ายรากฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปประเทศในโลกที่สาม ที่มีระเบียบข้อบังคับไม่เข้มงวด
  • มีการสนับสนุนให้มีการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลภาวะลดลง เช่น การออกฉลาก Green dot สำหรับสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Reuse) ฉลาก Eco-label สำหรับสินค้าที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุและขั้นตอนการผลิตของผลิตภัณฑ์ ฉลาก Green-label สำหรับสินค้าที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกัน
.
ผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากขาดมาตรการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งเพียงพอ มีการย้ายการผลิตที่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือที่ก่อให้เกิดขยะมากขึ้นจากประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงมีการนำขยะของเสียเข้ามาทิ้งในประเทศ
  • ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว กลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าต่อประเทศกำลังพัฒนา
  • มีความกดดันจากประเทศพัฒนาแล้วให้มีการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าสิ่งแวดล้อมในกรอบต่างๆ เช่น WTO เอเปค รวมถึง FTA ซึ่งถ้าหากสำเร็จ ประเทศที่กำลังพัฒนาจะเสียเปรียบทางการค้าเนื่องจากขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยของการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งประเทศในกลุ่ม EU และประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (EPP) รวมถึงสินค้าที่ประหยัดพลัง และการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (PPM) และสินค้าที่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ *Recycle/Remanufacturing) จนกลายเป็นผู้ผลิตสำคัญของโลก และมีความพยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับในสินค้าเหล่านี้

.

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้ โดยต้องมีการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส เพื่อในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะของประเทศไปพร้อมๆ กัน

.
2. อุตสาหกรรม Remanufacturing
2.1 ความหมายของอุตสาหกรรม Recycle และอุตสาหกรรม  Remanufacturing

การ Recycle จะเป็นระบบบูรณาการที่เริ่มต้นตั้งแต่การเก็บรวบรวมเศษวัสดุหรือขยะต่างๆ กระบวนการคัดแยก นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่นำเอาวัตถุที่ผ่านกระบวนการ Recycle มาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกระดาษ เหล็ก พลาสติก คอมพิวเตอร์ สำหรับอุตสาหกรรม Remanufacturing จะเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าปลายน้ำ โดยนำเอาสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้งานแล้วมาปรับปรุงสภาพเพื่อให้นำมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง โดย Remanufacturing เป็นกระบวนการขั้นสูงในการนำสินค้าเก่ามาทำการแยกชิ้นส่วน และทำความสะอาด ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ แล้วจึงนำมาประกอบใหม่ เพื่อให้สินค้ามีสภาพเหมือนสินค้าใหม่ มีอายุการใช้งานเหมือนสินค้าใหม่ทุกประการ

..
2.2 ข้อดีและข้อเสียของอุตสาหกรรม Remanufacturing
ข้อดีของสินค้า Remanufacturing
  1. มีราคาถูกกว่าสินค้าใหม่ ทำให้ผู้บริโภคในประเทศสามารถซื้อสินค้าได้มนราคาถูกลง โดยเฉพาะในสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาสูง
  2. การนำสินค้ามาผลิตใหม่เป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดจำนวนขยะและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงได้ ด้วยการนำชิ้นส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ดีมาใช้งานใหม่อีกครั้ง
  3. เป็นสินค้าที่ตามปกติผลิตโดยใช้แรงงาน จึงอาจเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงอาจสามารถส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยได้
.
ข้อเสียของสินค้า Remanufacturing
  1. ในส่วนที่ผู้ผลิตเป็นผู้ทำการผลิตใหม่เองแล้ว ยังมีสินค้าที่ผู้ผลิตรายเล็กเป็นผู้ผลิต จึงไม่มีการับประกันและอาจมีคุณภาพต่ำ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ของคุณภาพไม่ดี และอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การสนับสนุนให้มีการผลิตแบบ Remanufacturing ในประเทศ อาจทำให้เกิดการนำเข้าชิ้นส่วนหรือสินค้าเก่าจากต่างประเทศเข้ามาผ่านกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีชิ้นส่วนบางส่วนที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกเหลือเป็นขยะ และอาจทำให้มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือมีต้นทุนในการกำจัดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้ถูกใช้เป็นแหล่งในการทิ้งเศษของเสียเหล่านั้นได้ 
.
2.3.ปัญหาทางการค้าของอุตสาหกรรม Remanufacturing
ประเทศไทยในขณะนี้ไม่มีการกีดกันโดยตรงในการนำเข้าสินค้า Remanufacturing โดยมีระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2 สินค้า คือ
  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร ที่กำหนดให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามรายการที่กำหนด (เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ/ดีวีดี เครื่องซักผ้า พัดลม โทรศัพท์ ฯลฯ) เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า แต่อย่างไรก็ตามยังอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ภายใต้เงื่อนไขว่าสินค้าต้องมีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน มีอายุการใช้งานที่นานพอ และต้องมีการรับรองคุณภาพ สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาทำการปรับปรุง ดัดแปลงให้ใช้งานได้ คัดแยก และแปรสภาพก็อนุญาตให้ทำได้ โดยต้องมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ต้องนำเข้าตามกำลังการผลิต และนำเข้าได้จากประเทศอนุสัญญาบาเซล เป็นต้
  2. เครื่องมือและอุปกรณ์แพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วหรือเสื่อมสภาพจะต้องขออนุญาตนำเข้าจาก อย. ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือการแพทย์ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้นำเข้า ยกเว้นในกรณีที่เป็นการบริจาคเท่านั้น
.

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมความพร้อมโดยต้องมีการศึกษาอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องโครงสร้างของอุตสาหกรรม มลค่าอุตสาหกรรม โอกาสและอุปสรรค ตลอดจนปัญหาในการดำเนินการศึกษาระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว และควรมีการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมในส่วนของอุตสาหกรรม Recycle และ Remanufacturing และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

.
ผู้เขียน : อนุวัตร จุลินทร กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ
ที่มา : วารสารเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.