เนื้อหาวันที่ : 2008-10-10 11:14:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1238 views

ไทย ยังติดอันดับประเทศน่าลงทุน ในขณะการเมืองเป็นเหตุให้ความเชื่อมั่นลดลง

ไทย ยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างมาก นักลงทุนหลายต่างชาติงให้ความสนใจลงทุนในด้านการผลิตเพื่อการส่งออก การพัฒนาตลาดในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านโครงสร้างต้นทุนเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง

แกรนท์ ธอร์นตัน เผยรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติ ปี 2008 (The Grant Thornton International Business Report 2008: IBR 2008) ในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ อีก 33 ประเทศในหลากหลายประเด็นรวมถึงทัศนคติเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ความคาดหวังทางธุรกิจ ข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ ตลาดเกิดใหม่ ความสามารถในการแข่งขัน

.

ความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม การบริหารการฉ้อโกง และการแจ้งเบาะแสการทุจริตในองค์กร ในขณะเดียวกันรายงานการสำรวจของปีนี้ยังได้ครอบคลุมเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิเช่น กลยุทธ์การจัดการทรัพยากรบุคคล แผนการควบรวมกิจการ และกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน อีกทั้งยังแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและการดำเนินการเพื่อช่วยให้ธุรกิจรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

.

IBR 2008 ได้ประเมินทัศนคติ แผนธุรกิจ และแนวโน้มของธุรกิจ จำนวน 7,800 แห่ง โดยแบ่งเป็น 34 กลุ่มธุรกิจรวม 6 ทวีป IBR 2008 ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจในอดีต เพื่อทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจเป็นระยะเวลา 16 ปี สำหรับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และ 6 ปีสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอื่นๆ

.

มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการอาวุโส แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า "ผลการสำรวจ IBR จากครั้งที่ผ่านๆ มาจนล่าสุดทำให้เราสามารถมองเห็นแนวโน้มของธุรกิจและแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่มีความสำคัญ แกรนท์ ธอร์นตัน ให้ความสำคัญอย่างมากกับความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ที่เรานำเสนอและจะต้องเชื่อถือได้ เราเชื่อมั่นว่าเนื้อหาใน IBR 2008 ฉบับนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านเกิดวิสัยทัศน์และสามารถกระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ได้"

.

ปีที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ทางการเงินก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการวางแผนงานและมุมมองต่อธุรกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ผู้บริหารต้องเผชิญ การสำรวจของปีนี้ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤต หลังจากทั่วโลกต่างผ่านช่วงเวลาของการเติบโตจนถึงขีดสุดของเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทย ประเด็นปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบอย่างมากต่อทัศนคติของนักธุรกิจ

.

ในสภาวะปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รวมถึงวิธีการประเมินความเสี่ยงและประเมินโอกาสอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะต้องมีผู้ที่ประสบความล้มเหลว แม้ว่าความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ในขณะที่ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดีที่สุดจะเติบโตขึ้นเป็นผู้นำตลาด โดยทั่วไป ธุรกิจในเอเชียยังคงมีเสถียรภาพ (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน)

.

โดยเฉพาะในอินเดียและฟิลิปปินส์ (+95%ในทั้งสองประเทศ) ทั้งนี้ ทัศนคติด้านบวกในระดับสูงในกลุ่มเศรษฐกิจหลายประเทศในเอเชียสะท้อนความก้าวหน้าของเศรษฐกิจที่รุดหน้าอย่างมากและความคิดเห็นที่ว่ากลุ่มเศรษฐกิจเหล่านี้มิได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการตึงตัวในตลาดสินเชื่อซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่แล้ว

.

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ไม่น่าแปลกใจที่ทัศนคติด้านบวกของผู้บริหารธุรกิจในปี 2008 ได้ลดลงจาก +30% เป็น -30% เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังคงทำให้ความเชื่อมั่นซบเซา อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านยังทำให้ธุรกิจของประเทศไทยที่ประสบกับภาวะวิกฤตเกิดความกลัวในการแข่งขัน

.

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผลสำรวจออกมาในแง่ดี อันได้แก่ตัวชี้วัดในการสำรวจตลาดเกิดใหม่ที่ครอบคลุมถึงขนาด ความมั่งคั่ง และโอกาสในการเติบโต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีความน่าดึงดูดการลงทุนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่อยู่ในอันดับที่ดีกว่าฟิลิปปินส์และเวียดนาม

.

มร. ปีเตอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างมาก ลูกค้าของเราหลายรายยังคงให้ความสนใจลงทุนในด้านการผลิตเพื่อการส่งออกหรือการพัฒนาตลาดในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านโครงสร้างต้นทุนเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง ระบบการจัดการของภาครัฐที่เชื่อถือได้ และนโยบายสนันสนุนการลงทุนที่เหมาะสม ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อมองถึงเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ประเทศไทยนั้นเหมาะสมในการใช้กลยุทธ์ทางการลงทุนสำหรับตลาดเกิดใหม่"

.

ในรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติ ปี 2008 ของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดของการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับที่สูงที่สุด โดยสำรวจจากกลุ่มเศรษฐกิจจำนวน 34 กลุ่มด้วยกัน โดยผลสำรวจจระบุว่าข้อจำกัดมีเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกสาขาจากปี 2007 ทั้งนี้ คำนิยามของข้อจำกัดคือ ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวอย่างง่ายของธุรกิจ

.

 การลดลงของอุปสงค์เป็นข้อจำกัดที่ได้รับจากการสำรวจมากที่สุด โดย 92% ของธุรกิจได้รายงานเกี่ยวกับปัจจัยดังกล่าว ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 31% สำหรับข้อจำกัดอื่นๆ ที่ระบุโดยธุรกิจไทย ได้แก่ ต้นทุนทางการเงิน (85%) การขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน (76%) และการขาดแคลนแรงงานฝีมือ (68%) ทั้งหมดนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของภูมิภาค

.

จากผลการสำรวจในหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำธุรกิจไทยแสดงความคิดเห็นว่าการเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญ (68% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 35%) และแม้ว่า ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะประสบ ปัญหามากกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อสอบถามถึงทักษะที่ควรได้รับการพัฒนา ผู้นำธุรกิจไทยระบุว่าทักษะภาษาอังกฤษนั้นสำคัญที่สุด

.

โดย 76% ของผู้ที่ได้รับการสำรวจให้คะแนนว่าเป็นความสำคัญระดับสูงถึงสูงที่สุดแม้ว่าผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยจะมองภาพรวมของประเทศในทางลบ แต่ไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ในสถานะที่มีโอกาสพลิกฟื้นการเติบโตได้เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา มร. เอียน แพสโค กรรมการบริหารแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย ได้ให้ทรรศนะว่า

.

"แม้ว่ารายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติปี 2008 ในประเทศไทยระบุว่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ลดลงและผู้บริหารต่างก็กังวลกับประเด็นความมั่นคงทางการเมือง แต่สำหรับแกรนท์ ธอร์นตัน เรายังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มในทางที่ดี เรายังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายบริการที่เป็นมืออาชีพในประเทศไทย ด้วยความหวังว่าไทยจะกลับไปสู่จุดที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง"