เนื้อหาวันที่ : 2008-10-10 10:54:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1607 views

ก.ไอซีที ระดมสมองรับมือวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสาร

ไอซีที ระดมสมองฯจัดตั้งศูนย์สื่อสารที่เป็นศูนย์แม่ข่ายกลาง คลื่นความถี่หลักที่รับรู้โดยทั่วไป และต้องมีการผลักดันให้ กทช. ยอมรับ หรือมีการใช้ระบบโทรศัพท์เลข 4 หลักกลาง หนุนวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ และผลักดันให้อบต.มีศูนย์วิทยุสมัครเล่นรับมือภัยพิบัติขึ้นทันทีในพื้นที่

ไอซีที  ระดมสมองฯจัดตั้งศูนย์สื่อสารที่เป็นศูนย์แม่ข่ายกลาง คลื่นความถี่หลักที่รับรู้โดยทั่วไป และต้องมีการผลักดันให้ กทช. ยอมรับ หรือมีการใช้ระบบโทรศัพท์เลข 4 หลักกลาง รับมือภัยพิบัติขึ้นทันทีในพื้นที่

.

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากการประชุมระดมสมองเกี่ยวกับวิธีการ และการดำเนินงานโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการฝึกซ้อมการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารจากสาธารณภัย ครั้งที่ 1

.

เมื่อเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ขึ้น มักจะมีวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ ในพื้นที่เกิดเหตุ เช่น ไฟฟ้าดับ เส้นทางคมนาคมขาด ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างแผนการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารจากสาธารณภัยในระดับชาติ และท้องถิ่นขึ้นร่วมกันเพื่อเตรียมรับสถานการณ์

.

"ในการระดมสมองฯ นั้น ได้มีการเสนอให้จัดตั้งศูนย์สื่อสารที่เป็นศูนย์แม่ข่ายกลาง ซึ่งมีคลื่นความถี่หลักที่รับรู้โดยทั่วไป และต้องมีการผลักดันให้ กทช. ยอมรับ หรือมีการใช้ระบบโทรศัพท์เลข 4 หลักกลางที่รับรู้กันทั่วไปโดยให้กระทรวงฯ เป็นผู้บริหารจัดการ รวมทั้งควรมีการเตรียมอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ และอุปกรณ์สื่อสารสำรองให้พร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสาร ตลอดจนส่งเสริมให้มีระบบวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ และผลักดันให้อบต.มีศูนย์วิทยุสมัครเล่น พร้อมระบบไฟฟ้าสำรองของตนเอง"

.

นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีศูนย์บัญชาการหลักที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ เพื่อเชื่อมประสานงานกับส่วนกลางในการบริหารจัดการพื้นที่เกิดภัยพิบัติ รวมทั้งให้แต่ละจังหวัดต้องมีการจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดของตนเอง และมีการฝึกซ้อม ฝึกอบรมการป้องกันภัย การหนีภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กับบุคลากรภายในจังหวัด รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ และมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติตนสำหรับผู้ประสบภัยแจกประชาชนด้วย

.

"พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการจัดกลุ่มอาสาสมัครชุมชนเพื่อช่วยเหลือซ่อมแซม หรือฟื้นสภาพในกรณีที่เกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น ถนนขาด โดยควรมีการจัดเตรียมฝึกอบรมมิสเตอร์กู้ภัยไว้ในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนมีการแบ่งพื้นที่และมอบหมายภารกิจ รวมทั้งทำความเข้าใจลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติการเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ โดยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการบูรณาการระบบสื่อสารเพื่อการจัดการสาธารณภัยร่วมกัน" นายวรพัฒน์ กล่าว

.

นอกจากข้อเสนอที่ได้จากการระดมความคิดเห็นดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการเสนอร่างแผนปฏิบัติการฝึกซ้อมบริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารจากสาธารณภัยครั้งที่ 1 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยในระดับที่ 1 คือ ตั้งศูนย์สื่อสารและบริหารจัดการภัยพิบัติขึ้นทันทีในพื้นที่เกิดภัย หรือ อบต. ที่ใกล้ที่สุด โดยใช้อุปกรณ์สื่อสารที่สามารถหาได้เร็วที่สุด

.

เช่น วิทยุสมัครเล่น เครื่องขยายเสียงเคลื่อนที่ และคนวิ่ง เพื่อให้สามารถสื่อสารกับศูนย์ในระดับที่เหนือขึ้นไป ซึ่งอาจเป็น อำเภอ หรือ จังหวัด ส่วนในระดับที่ 2 จะเป็นการตั้งศูนย์ฯ ในระดับอำเภอ หรือ จังหวัด ซึ่งจะมีศักยภาพที่สมบูรณ์กว่า เช่น การจัดตั้ง mobile generator หรือ เสาส่งวิทยุฉุกเฉิน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการ และตัดสินใจในกรณีที่มีความรุนแรงหรือภาวะฉุกเฉินได้

.

สำหรับในระดับที่ 3 จะเป็นการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่อยู่ในส่วนกลาง ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ในทุกมิติ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับเดียวกันได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ โดยอาจเป็นศูนย์บริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสาร (ศวสส.) ที่กระทรวงไอซีทีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดตั้งขึ้น สำหรับข้อเสนอต่างๆ จากการประชุมฯ ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการบริหารจัดการระบบติดต่อสื่อสารที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น