เนื้อหาวันที่ : 2008-10-02 15:34:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3746 views

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้นำด้านวิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย

หัวใจสำคัญของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการส่งออก คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อสินค้าต้องแน่ใจว่า สินค้าที่สั่งซื้อมีคุณภาพมาตรฐานตรงตามต้องการ และการที่จะบอกได้ว่าสินค้ามีคุณภาพตามที่ผู้ซื้อกำหนดหรือไม่

 

ปฐม แหยมเกตุ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ 

.

หัวใจสำคัญของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการส่งออก คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อสินค้าต้องแน่ใจว่า สินค้าที่สั่งซื้อมีคุณภาพมาตรฐานตรงตามต้องการ และการที่จะบอกได้ว่าสินค้ามีคุณภาพตามที่ผู้ซื้อกำหนดหรือไม่ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ ทดสอบด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วหน่วยงานแรก ๆ ที่เปิดขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านนี้ คือ "กรมวิทยาศาสตร์บริการ" แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก 

 .

ดังนั้น วารสารอินดัสเตรียลเทคโนโลยีรีวิว จึงอาสาพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในแง่มุมต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติจาก คุณปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ มาเล่าถึงบทบาทของกรมวิทยาศาสตร์บริการและทิศทางในอนาคตว่ากรมวิทยาศาสตร์จะมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยต่อไปอย่างไร

 .

ความเป็นมาและบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม

ปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (Department of Science Service) เกิดขึ้นมาประมาณ 127 ปี วัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิต ผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย ในเชิงอุตสาหกรรม การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ส่งออก หรือมีการบริโภคในประเทศ เดิมอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม และเมื่อมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา กรมวิทยาศาสตร์บริการก็ย้ายมาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นกรมวิทยาศาสตร์บริการมีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องมายาวนาน เดิมใช้ชื่อว่าคือ ศาลาแยกธาตุ เพื่อดูว่าในผลิตภัณฑ์มีธาตุอะไรบ้าง ที่มีคุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ ซึ่งกรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบ เป็นผู้ให้บริการเรื่องนี้อยู่

 .
ในสมัยที่ยังไม่มีหน่วยงานอย่าง สวทช. หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ กรมวิทยาศาสตร์บริการก็เป็นผู้ช่วยในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีส่วนช่วยภาคอุตสาหกรรมในการวิจัย ควบคุมคุณภาพสินค้า ทุกวันนี้เนื่องจากว่า โลกเปลี่ยนไป ประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเกิดขึ้นมากมาย และในอุตสาหกรรมเองก็มีผลิตภัณฑ์ผลิตผลมากมายเกิดขึ้น มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์บริการเหมือนกัน สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเหมือนกัน ทำให้การแยกหน่วยงานออกมาไม่ยุ่งยากนัก โดยแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน กรมวิทยาศาสตร์บริการจะช่วยตรวจคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตรวจสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ส่วน สมอ. ทำหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่าง ๆ
 .

ปัจจุบันบทบาทของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ยังคงวิเคราะห์ทดสอบ และปรับเทียบมาตรฐาน แต่เรามีหน่วยงานอีกหน่วยชื่อว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งแตกมาจากหน่วยงานกรมวิทยาศาสตร์ ราวปี พ.ศ. 2540 เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งงานส่วนปรับเทียบ/สอบเทียบ ก็โอนไปสังกัดสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติแทน แต่เนื่องจากสถาบันมาตรวิทยา สถาปนาระบบการวัดมาตรฐานแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์จะทำในส่วนของมาตรฐานทุติยภูมิหรือ Secondary หรือ Calibration Unit ดังนั้นเรายังให้บริการภาคอุตสาหกรรมทั่วไป สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะเป็นต้นแบบของระดับประเทศ ซึ่งทุกหน่วยต้องเทียบกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เมื่อสอบมาแล้วกลายเป็น Secondary ให้บริการสอบเทียบกับอุตสาหกรรมได้อีก

 .

นอกจากนั้น กรมฯ ยังมีห้องปฏิบัติการให้การทดสอบ หรือเราเรียกว่า ทดสอบ/วิเคราะห์ ทั้งปริมาณด้านเคมี คุณสมบัติด้านฟิสิกส์ และด้านชีววิทยา ที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือผลิตผลทางการเกษตร เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ได้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม รวมถึงยังถูกบังคับด้วยมาตรการต่าง ๆ ในโลกนี้ เช่น ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งสินค้าไปขายในยุโรป และอเมริกา ซึ่งคำนึงถึงมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ นอกจากมีมาตรฐานที่สูงแล้ว ที่สำคัญต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย หมายถึงการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนกระทั้งส่งถึงมือลูกค้า ทั้งกระบวนการต้องไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิทย์จะทำหน้าที่ตรงนี้ ด้วยความสามารถในการตรวจสอบเหล่านี้ จึงทำให้กรมวิทย์ สามารถตรวจได้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งแวดล้้อม นี่คือความสามารถของกรมวิทยาศาสตร์บริการ

 .

นอกจากให้บริการทดสอบ วิเคราะห์และสอบเทียบแล้ว เรายังมีอีกบริการหนึ่ง เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพื่อส่งออก จำเป็นต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ห้องปฏิบัติการของเขาต้องได้รับเข้าเกณฑ์ของไอเอสโอ (ISO) สำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อการทดสอบวิเคราะห์ จะเป็น ISO/IEC 17025 โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำเป็นต้องได้รับมาตรฐานเรื่องนี้ เวลาส่งสินค้าออกจะได้ไม่ต้องมีการตรวจซ้ำ จากประเทศคู่ค้า ช่วยเหลือได้มาก เพราะกรมฯ จะเป็น Accredited Body หรือหน่วยงานให้การรับรองห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้เกณฑ์ ISO/IEC 17025 หมายความว่า โรงงานอุตสาหกรรมต้องพัฒนาห้องปฏิบัติการของเขาให้ได้มาตรฐานตาม ISO/IEC 17025 แล้วให้กรมวิทย์ไปทำการรับรอง เป็นส่วนหนึ่งของงานของกรมวิทย์

 .

ขณะนี้มีประมาณ 30 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จากห้องปฏิบัติการนับ 10,000 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ที่ผ่านการรับรอง หรือห้องปฏิบัติการภาครัฐที่มีขนาดโตพอสมควร ส่วนห้องปฏิบัติการทั่วไป ก็พยายามขอการรับรอง อีก 200-300 แห่ง หน่วยงานให้การรับรองยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น สมอ. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย (เน้นคลินิกเกี่ยวกับแพทย์)

.

 .

.

ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ จากตัวอย่างที่ส่งเข้ามายังเรา มีความหลากหลาย มีหลายพารามิเตอร์ และเราพัฒนามายาวนาน อาจจะไม่ถึง 100 พารามิเตอร์ แต่ก็ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น ทางเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ห้องปฏิบัติการของกรมฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน  ISO/IEC 17025 เรียบร้อยแล้ว จากสมอ. หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาตรวจให้กับกรมฯ จึงเชื่อถือและเชื่อมั่นได้ในเรื่องมาตรฐาน  

 .

ดังนั้น กรมฯ จึงสามารถให้บริการในลักษณะ Third Party ให้แก่ภาคเอกชนได้ หลากหลายหน่วยงานจึงสามารถเข้ามาใช้บริการได้ รวมถึงภาครัฐด้วย พวกที่ทำงานวิจัย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลการทดลองต้องการวิเคราะห์ก็ส่งมายังกรมวิทย์ เพื่อให้วิเคราะห์และนำผลไปใช้ประกอบการตัดสินใจ อย่าง กทม. ต้องการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเสีย น้ำทิ้ง คุณภาพอากาศ เขาอาจจะมีห้องปฏิบัติการของเขาอยู่แล้ว ต้องส่งให้กรมวิทย์มาวิเคราะห์ในฐาน Third Party..

 .

ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการที่มาขอรับบริการจาก กรมฯ มักจะขอบริการฟรี ทำให้มีปัญหาเรื่องรายรับของทางกรมฯ เนื่องจากเรายังเป็นหน่วยงานราชการอยู่ มีพนักงานอยู่ 600 คน เป็นนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 300 คน ดังนั้น งบประมาณส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเงินเดือน งบประมาณอีกส่วนหนึ่งคือ งบจัดซื้อครุภัณฑ์ในการทดสอบ

 .

เหล่านี้ก็เป็นงบประมาณปีหนึ่งราว 400-500 ล้านบาท ส่วนรายรับที่เราได้จากงานวิเคราะห์และทดสอบ (ซึ่งเป็นงานเพียงส่วนหนึ่งของเรา) ประมาณ 30-50 ล้านบาท คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของรายรับจากงบประมาณภาครัฐ เนื่องจากเราต้องการตรึงราคาด้วย เพราะเราไม่ใช่เอกชน เรากำหนดราคาที่เป็นธรรมกับลูกค้า และลูกค้ามีสิทธิ์เลือกอยู่แล้ว

 .

ถ้าหากลูกค้าต้องการวิเคราะห์ที่รวดเร็ว ก็อาจจะไปหาเอกชน แต่ว่าต้องจ่ายเงินแพงหน่อย ส่วนของเราก็รักษามาตรฐานไว้ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางราชการ และเราไม่ได้เอาค่าโสหุ้ยเรื่องเงินเดือนมาคิดกัน ราคาจึงถูกได้.รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้เราก็ไม่ได้บวกเข้าไปในราคาบริการเท่าไร ยกเว้นค่าวัสดุบางอย่าง ค่าเดินทาง อาจจะต้องเรียกเก็บกับเอกชน โดยเราจะรักษาราคาไว้ไม่ให้สูงเกินไปนัก ต้องรอคิว เพราะเราเป็นบริการภาครัฐ ที่มองว่าราคาถูก ลูกค้าก็เข้ามาเยอะ คิวก็เลยยาว เราจะปัดก็ไม่ได้  

 .

บางครั้งเรามี Fast Track ทางด่วน คือมาแล้วให้บริการเร่งด่วนได้ ขึ้นกับความจำเป็นของลูกค้าของเรา แต่ต้องชำระเงินเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้ลูกค้ารายอื่น ๆ เสียประโยชน์ โดยลูกค้าตามคิวยังคงทำงานปกติ แต่เราจัดหากำลังคนมาเพิ่มเพื่อให้บริการรวดเร็วดังกล่าวแทน การใช้กำลังคนตามปกติ เช่นทำกะกลางคืนมากขึ้น เป็นต้น

 .

นโยบายในการให้บริการของกรมวิทย์ฯ เราให้บริการทุกระดับ แต่ขณะนี้เรากำลังคิดใหม่ เนื่องจากเรามีห้องปฏิบัติการทดสอบมากขึ้น ภาคเอกชนก็ทำได้มากขึ้น สามารถแข่งขันกันได้ ส่วนของเราก็จะมุ่งเน้นไปยังพารามิเตอร์ที่ยาก วิเคราะห์ วิจัย ด้วยเครื่องมือที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกฎเกณฑ์กีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศต่าง ๆ เช่น ยุโรป อเมริกา ซึ่งมีการกำหนดค่าทางเทคนิคไว้หรือ Technic Barrier ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกต้องรู้เท่าทัน

 .

ตัวอย่างเช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา จะมีการลดเกณฑ์ให้ต่ำลงเรื่อย ๆ ทุกปี ปริมาณสารพิษบางอย่าง ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะเป็นภัยต่อสุขภาพ เช่นสารตะกั่ว จากเดิม 300 พีพีเอ็ม จะลดเหลือ 100 พีพีเอ็ม (หนึ่งส่วนในล้านส่วน) ในผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็ก ภายในสามปีข้างหน้า เราต้องพัฒนาวิธีวิเคราะห์เพื่อให้ตรวจสอบได้ เมื่อผู้ส่งออกจัดส่งสินค้าไปจะได้ไม่มีปัญหาในการถูกตีคืน หากตรวจเจอที่ลูกค้า นี่คือสิ่งที่กรมวิทย์ต้องพัฒนาให้ทันความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผู้ส่งออก สอดคล้องกับมาตรการควบคุมเหล่านั้น

 .

ผลงานเด่นในรอบปีที่ผ่านมา

เนื่องจากงานของกรมวิทย์เป็นการวัดและทดสอบ สิ่งที่เป็นผลงานคือการพัฒนาการวัดให้มีความสามารถสูง อย่างที่ผ่านมาเราสามารถวิเคราะห์พารามิเตอร์ ออกานิกแมทิเรียล Organic Material.ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งยากต่อการวิเคราะห์อย่างมาก อันที่หนึ่งเรียกว่า VOC ( Volutile Organic Compound) และยังมีอีกหลายพันธุ์ ในของเล่นเด็ก ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีพารามิเตอร์ยังไม่ชัดเจนนัก ก็ไม่ต้องมาตรวจที่กรมวิทย์แบบลิมิตอิดิชั่น เพื่อให้อุตสาหกรรมมั่นใจต่อไป ส่วนที่เราทำไม่ได้คงต้องส่งไปต่างประเทศ ซึ่งก็มีเหมือนกัน

 .

อีกตัวหนึ่งคือ สารพาตาเรต ในบรรจุภัณฑ์ สารเคมี เอสโบ ทางอียู ประกาศออกมาว่าปีหน้าต้องจำกัดแล้ว สารที่หลุดลอกมาจากฝาปิดภาชนะบรรจุ เช่น น้ำอัดลม สมัยก่อนใช้จุกข็อกเสียด้วยซ้ำ ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นพลาสติก PVC, PPP อะไรพวกนี้ครับ ซึ่งมันดี แต่เขาก็บอกมาว่า มันมีสารพาตาเรต หลุดออกมาได้ มีผลต่อสุขภาพระยะยาว อุตสาหกรรมอาหารส่งออกต้องตื่นตัวสำหรับเรื่องนี้ ถ้าส่งไปแล้วตรวจเจอ ส่งกลับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเสียค่าปรับอีก เสียค่าขนส่ง ค่าปรับ โอกาส เสียมากเหลือเกิน

 .

สิ่งเหล่านี้เราริเริ่มขึ้นมา โดยมีบุคลากรไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศมา เป็นผลงานเด่นของกรมวิทย์เราเริ่มเพราะเพิ่งออกกฏเกณฑ์เมื่อไม่นานมานี้ เป็นการยากที่ภาคเอกชนจะตามทัน

.

 .

 

แผนงานปีนี้และอีกห้าปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในปีนี้ งานวิเคราะห์ของเราก็มีการวางแผนมาล่วงหน้าแล้ว พารามิเตอร์ในการวิเคราะห์ของเรา 200,000 รายการ ทำได้ครบเป้าหมาย ขณะที่ยังไม่ครบปีด้วยซ้ำ อันนี้ขึ้นกับลูกค้าว่าศรัทธาเราขนาดไหนด้วย ถ้าไม่ส่งตัวอย่างเข้ามา เราก็ไม่รู้จะวิเคราะห์อะไร แสดงว่าลูกค้ายังพอใจที่ส่งงานมาให้เรา จึงทำให้เราครบเป้าหมาย

 .

งานสอบเทียบของเราตั้งเป้าไว้ 50,000 รายการ เราก็ทำได้ครบถ้วนแล้ว เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมส่งออกและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศด้วย ถ้าผู้ผลิตรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การส่งออกก็จะดีขึ้น แต่กรมวิทย์มักจะปิดทองหลังพระมากกว่า (ตรวจสอบให้ ทำให้มีความมั่นใจ) ราคาที่ไม่แพงก็ช่วยให้ลูกค้ามีต้นทุนไม่สูงจากการวิเคราะห์และตรวจสอบ.ครอบคลุมมากกว่า

 .

แผนต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า เราจะพัฒนาการวิเคราะห์และทดสอบ ให้เปลี่ยนสภาพบ้าง จากการวิเคราะห์ข้อมูลธรรมดา มาเป็นการใช้เทคนิคพิเศษ เพื่อจะได้ให้ความมั่นใจกับกรณีสินค้าส่งออกมากขึ้น มีความพยายามจะสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการ กับหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หรือ Lab เอกชน สิ่งไหนที่ภาคท้องถิ่นหรือเอกชนทำได้ ก็ต้องให้เขาทำ เป็นการพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระจายสู่ท้องถิ่นด้วย และส่วนที่เราทำเพื่ออุตสาหกรรมก็จะเน้นไปที่พารามิเตอร์ที่ยุ่งยาก และจำเป็น มุ่งมาเน้นเรื่องนี้

 .

การจะถ่ายความรู้ไปสู่ท้องถิ่น จะสร้างเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ในต่างจังหวัดมากขึ้น และออกไปสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยขอความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อบจ., อบต. เพราะงานนี้จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกพื้นที่ ด้วยบุคลากร งบประมาณ ที่มีจำกัดของกระทรวงวิทย์ กรมวิทย์ มบุคลากรมากพอที่จะออกสู่พื้นที่ ถ่ายความรู้ ผลงานวิจัย ที่เราพัฒนาได้ ให้กับชุมชน

 .

งานหนึ่งที่เราถ่ายทอดให้มานานแล้วแต่ไม่ได้กล่าวถึงกรมวิทย์คืองานศิลปาชีพ ทำการช่วยมา 27 ปีแล้ว เอาเทคนิคเข้าไปทำให้งานศิลปะมีคุณค่าสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอย่างเรื่อง เซรามิก กรมเป็นผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ ที่จะใช้ประกอบในการทำเซรามิก เราจัดให้

 .

การเผยแพร่ความรู้จะไปในรูปแบบการจัดอบรมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของ E-library ข้อมูลออนไลน์ไป เราพยายามจะทำทั้งสองอย่าง รวมถึงแจกซีดีรอม หนังสือ เอกสาร ไปยังพื้นที่เมื่อเราไปจัดฝึกอบรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้วเราลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อไปถ่ายทอดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องจักรแปรรูปกระดาษที่ใช้แล้วให้เป็นงานศิลปะ

 .

แผนพัฒนาบุคลากรเดิมทีเราไม่ได้คิดไว้ก่อน มีแต่การเพิ่มจำนวน ในโอกาสต่อไปเราจะพัฒนาคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากอัตรากำลังทั้งหลายจะไม่เพิ่มมากนัก เราเห็นว่าบุคลากรถ้าทำงานแบบรูทีน ก็จะอยู่กับที่ จะมีการส่งเสริมให้ไปฝึกอบรมเป็นระยะ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะมีแบบตัวบุคคล และแบบเป็นนักบริหารจัดการได้ รวมทั้งจะส่งเสริมด้านจริยธรรม คุณธรรมของผู้ปฏิบัติงานด้วย ให้รู้สึกว่าการทำงานทำประโยชน์ให้สาธารณะเป็นความสุข ซึ่งต้องวางแผนล่วงหน้า

 .

แผนประชาสัมพันธ์

จริง ๆ แล้ว งานของกรมวิทยาศาสตร์บริการมีหลายส่วน ทำให้การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผลงานจะไม่ครบถ้วน คิดว่าเราต้องวางแผนประชาสัมพันธ์ใหม่ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เรามีจำกัด งบประมาณก็จำกัด ผู้ให้งบประมาณไม่เข้าใจว่าเราจะต้องประชาสัมพันธ์ไปทำไม อยู่เฉย ๆ เดี๋ยวคนก็มาหาเอง ปัจจุบันไม่ใช่แล้วครับ หน่วยงานราชการทั้งหลายต้องเชิงรุกมากขึ้น โดยการที่เข้าไปหาลูกค้า บางครั้งต้องการใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบ บางครั้งก็ไม่รู้ไปที่ไหน เขาส่งสินค้าไปต่างประเทศ เสียค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งที่ความจริงเราสามารถให้บริการได้หรือหน่วยงานในประเทศอื่น ๆ สามารถให้บริการได้

 .

"ครับผมคิดว่าต้องทำโรดโชว์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของเรา จัดสื่อออกไปเพื่อให้เข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปกติเรามีข้อมูลบนเว็บไซต์ที่ดีอยู่แล้ว แต่ก็จะมีแค่คนกลุ่มเดียว ผมคิดว่าน่าจะมีรายการวิทยุ ทีวี ออกข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ให้มากขึ้น เพื่อกระจายผลงานของเรา” ซึ่งบางส่วนเป็นงานวิจัยและพัฒนา บางส่วนก็ถ่ายทอดความรู้ ให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องรับรู้รับทราบมากขึ้น"

 .

แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่ได้เตรียมไว้มากพอ ปีที่แล้วใช้ประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ควรจะมีอย่างน้อย 10 ล้านบาท การออกงานแสดงสินค้า ทางกรมวิทย์จะร่วมทุกงานที่กระทรวงจัดขึ้นมา โดยใช้งบจากโครงการต่าง ๆ ในหน่วยงานของกรม เพื่อประชาสัมพันธ์งานที่หน่วยงานตนทำอยู่ ให้งบมาพอประมาณจัดทำนิทรรศการได้ พอใช้เฉลี่ยจ่ายได้ทั้งปี ให้ได้ทุกด้านทุกสาขา ที่พูดมาเป็นเพียงเรื่องงานวิเคราะห์ ทดสอบ งานรับรองห้องปฏิบัติการก็เป็นส่วนรองลงมา งานให้คำปรึกษาเป็นแนวการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไม่คิดค่าใช้จ่าย และไม่ได้ตั้งงบไว้โดยตรง

 .

อีกด้านหนึ่งคือ "ห้องสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ถือเป็นห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดทางด้านวิทยาศาสตร์ มีหนังสือมากมาย แต่เราพยายามแปลงเป็น ดิจิตอลไฟล์ (E-library) สามารถติดต่อออนไลน์แล้วขอข้อมูลจากกรมฯ ได้ โดยจะมีการพัฒนาให้มากขึ้น เต็มศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน และจำนวนบุคลากรในห้องสมุดของเรามีข้อจำกัดอยู่

 .

ทิ้งท้าย

กรมวิทยาศาสตร์บริการคิดว่า การที่จะพัฒนาประเทศ ส่วนหนึ่งคือการรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ที่จะส่งจำหน่าย แม้จะใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ ทดสอบ ปรับเทียบ ให้สินค้ามีมาตรฐานที่ดี ตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการ สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ทดสอบในฐานะบุคคลที่สาม (Third Party) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้น เรายังให้คำปรึกษาหรือหารือในผลของผลิตภัณฑ์บางอย่าง หากมีข้อสงสัย และอยากให้วิจัยให้ ในบางส่วน ก็สามารถช่วยได้ ปัจจุบัน กรมฯ ช่วยงานวิจัยกระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีใครทราบ แต่เราก็ทำให้ และมีจุดยืนที่ชัดเจน ของการดำเนินงานวิเคราะห์และทดสอบ บริการให้คำปรึกษาจะเป็นส่วนเสริมขึ้นมา ข้อมูลเพิ่มเติมดูที่เว็บไซต์ www.dss.go.th

 .

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

กรมวิทยาศาสตร์บริการในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศโดยเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2434 มีประวัติความเป็นมาโดยสังเขป ดังนี้

 .

พ.ศ. 2434 - พ.ศ. 2474

ในปี พ.ศ. 2434 ได้มีการจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์แร่/สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่ ในสังกัดกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ และในปี พ.ศ. 2445 งานส่วนหนึ่งของหน่วยวิเคราะห์แร่ ได้โอนไปสังกัดกรมกระษาปณ์สิทธิการ กระทรวง พระคลังมหาสมบัติ เพื่อควบคุมดูแลเนื้อโลหะที่ใช้ในการทำเหรียญกระษาปณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 งานของหน่วยวิเคราะห์แร่ทั้งหมดได้โอนจากกรมราชโลหกิจฯ ไปขึ้นกับกรมกระษาปณ์สิทธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองแยกธาตุ

 .

ในปี พ.ศ. 2448 ทำหน้าที่วิเคราะห์แร่ควบคู่กับการควบคุมเนื้อโลหะที่ใช้ในการทำเหรียญกษาปณ์ด้วย พ.ศ. 2460 กองแยกธาตุได้โอนไปขึ้นกับกรมพาณิชย์ และสถิติพยากรณ์ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ. 2461 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้รวมเอางานวิทยาศาสตร์ที่ทำอยู่ในที่ต่าง ๆ มาไว้เป็นแห่งเดียวกัน จัดตั้งเป็นศาลาแยกธาตุ (Government Laboratory) ในปี พ.ศ. 2468 ศาลาแยกธาตุได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับกรม และได้ย้ายสังกัดมาอยู่กระทรวงพาณิชย์ และคมนาคม ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่

 .

พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2484

ในปี พ.ศ. 2475 ศาลาแยกธาตุได้ยกฐานนะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ สังกัดกระทรวงเกษตรพาณิชย์การ โดยโอนกองเกษตรศาสตร์ที่สังกัดอยู่ในกรมตรวจกสิกรรมมารวมกับศาลาแยกธาตุ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ท่านแรก พ.ศ. 2476 กรมวิทยาศาสตร์ ได้ย้ายไปสังกัดในกระทรวงเศรษฐการตลอดระยะเวลาที่ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ดำรงตำแหน่งอธิบดี ท่านได้ขยายขอบเขตและปริมาณงานของกรมฯ เพิ่มมากขึ้น ได้มีการสร้างเสริมตึกที่ทำการเดิมที่ถนนมหาราชจากอาคารชั้นเดียวให้เป็นสองชั้น

 .

และสร้างตึกใหม่เพิ่มเติมอีกหนึ่งหลังในบริเวณเดียวกัน ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกรมวิทยาศาสตร์แล้ว ได้มีความเคลื่อนไหวในทางก้าวหน้าหลายประการ เช่น จัดตั้งกองเภสัชกรรม สำหรับวิจัยเกี่ยวกับพืชผลในประเทศเพื่อใช้เป็นยา จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ เพื่อสอน และฝึกเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ไว้ปฏิบัติงาน ขยายงานห้องสมุดให้มีวารสารและตำราเพิ่มขึ้น ออกหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชาชน ออกวารสารภาษาอังกฤษชื่อว่า Siam Science Bulletin เพื่อเผยแพร่งานวิจัยที่ทำในประเทศไทย และเพื่อแลกเปลี่ยนกับวารสารทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ

 .

พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2495

ในปี 2485 ได้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรมใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาล กรมวิทยาศาสตร์ได้โอนมาสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่ กองเภสัชกรรมและกองเกษตรศาสตร์ ซึ่งสังกัดอยู่ในกรมวิทยาศาสตร์ขณะนั้น ได้โอนไปสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมเกษตร กระทรวงเกษตราธิราช ตามลำดับ และได้มีการจัดตั้งกองใหม่ในกรมวิทยาศาสตร์ คือ กองค้นคว้าอุตสาหกรรม

 .

พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2521

กรมวิทยาศาสตร์ได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่ถนนพระรามที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2496 และมีการเริ่มงานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งด้านปฏิบัติและด้านนโยบายหลายเรื่อง เช่น มี การจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นตาม พ.ร.บ. สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2499 ซึ่งกำหนดให้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์เป็นเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติโดยตำแหน่ง เมื่อ พ.ร.บ.สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ประกาศใช้มีผลให้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สภาวิจัยแห่งชาติจึงได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลและถนนพหลโยธิน ตามลำดับ และได้รับงานจัดพิมพ์ Science Bulletin โดยใช้ชื่อใหม่ว่า Journal of the National Research Council of Thailand มีการจัดตั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้น เพื่อดำเนินการในรูปของคณะกรรมาธิการ

 .

โดยมีสำนักงานอยู่ในกรมวิทยาศาสตร์ และเมื่อมีพ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 จึงได้จัดตั้งสำนักงานขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรม และย้ายออกจากกรมวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2505 มีการจัดตั้งองค์การสารส้มในปี พ.ศ. 2496 มีการก่อสร้างโรงงานสารส้มและผลิตสารส้มได้ในปีพ.ศ. 2498 โรงงานสารส้มได้โอนไปขึ้นตรงต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ในปีพ.ศ. 2520 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสารส้ม นอกจากนั้น งานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศซึ่งเป็นงานหนึ่งในกองวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ งานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งป็นงานที่ริเริ่มอยู่ในกองฟิสิกส์และวิศวกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานระดับกรมมีชื่อว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

 .

โดยได้รวมงานสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศไว้ด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา งานที่กรมวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญและพยายามปรับปรุงควบคู่ไปกับงานบริการวิเคราะห์วิจัย คือ งานบริการห้องสมุด ทั้งนี้เพราะตระหนักดีว่า การปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งที่จะสามารถศึกษาหาความรู้ได้ในขอบเขตที่กว้างขวางมาก ด้วยเหตุนี้ห้องสมุดของกรมวิทยาศาสตร์จึงมีความแตกต่างจากห้องสมุดของหน่วยงานอื่นๆ เป็นอันมาก อย่างเห็นได้ชัด และในปี 2521 งานห้องสมุดและเผยแพร่ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกองเพื่อให้เหมาะสมกับงานที่ได้ปฏิบัติอยู่ ได้ใช้ชื่อว่า กองสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

 .

 

พ.ศ. 2522 - ปัจจุบัน

พ.ศ. 2522 มีการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน กรมวิทยาศาสตร์ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในปี พ.ศ. 2535 ระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2540 งานด้านมาตรวิทยาแห่งชาติที่ริเริ่มและดำเนินการอยู่ในกองฟิสิกส์และวิศวกรรม ได้จัดตั้งเป็นสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ตามพ.ร.บ. พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ และจากการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการยังคงอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงที่เปลี่ยนชื่อใหม่

.

 .

.

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรที่มีความสามารถเป็นเลิศในการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้อย่างทันสมัย และยั่งยืน

 .

พันธกิจ

ดำเนินการ กำกับดูแล ส่งเสริม วิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย :

  • การบริการด้านวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ
  • การพัฒนาระบบงานด้านคุณภาพ และการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการ
  • การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การบริการหอสมุดและสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ  

แผนยุทธศาสตร์ปี 2548-2551

สืบเนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำคำเสนอแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

 .

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงฯ และแนวนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ตลอดจนวาระแห่งชาติ และความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งใช้เป็นกรอบในการพิจารณาประกอบการจัดทำ แผนยุทธศาสตร์นี้จะได้ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของกรมฯให้ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์รัฐบาลและยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ในอันที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

 .

บริการต่าง ๆ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ

บริการวิเคราะห์ทดสอบ

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์เชิงกล และวิทยาศาสตร์ชีวภาพของวัตถุ ให้แก่ส่วนราชการ เอกชนและประชาชนทั่วไป เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม การจัดพิกัดภาษีศุลกากร การประมูลซื้อขาย ตรวจรับสินค้า การขอขึ้นทะเบียนอาหาร การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ การควบคุม/ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค การป้องกันปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น การให้บริการด้านนี้ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทันเหตุการณ์ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

.

การวิจัยพัฒนา

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ดำเนินการศึกษาค้นคว้า ทดลองในสาขาที่หน่วยงานมีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีเซรามิก อาหาร เยื่อและกระดาษ และวัสดุ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และไปถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย การดำเนินการด้านนี้ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและอตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและชนบท เป็นผลให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศเจริญขึ้น

 .

การถ่ายทอดเทคโนโลยี

ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้สนใจนำไปประกอบอาชีพในการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำไปปรับปรุงการผลิตเดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ การดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่จะพัฒนาขึ้นในโอกาสต่อ ไป ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์

 .

ด้วยวิธีดำเนินงานที่เหมาะสมจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้านเทคโนโลยีการผลิตในระดับหนึ่ง และยังจะเป็นแนวทางให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ๆ ให้สูงขึ้นต่อไปด้วย จึงเห็นความจำเป็นที่จำต้องเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่กล่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า และอย่างเป็นรูปธรรม ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างอาชีพให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

 .

การให้บริการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ

สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีนโยบายให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และให้การรับรองผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญตาม ILACG13 และ ISO/IEC Guide 43-1 ยกเว้นห้องปฏิบัติการทดสอบและกลุ่มบริหารจัดการทดสอบความชำนาญของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อยึดหลักความเป็นกลางในการให้การรับรอง โดยมีขอบข่ายการรับรองห้องปฏิบัติการครอบคลุม ด้านฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

 .

เช่น น้ำตาลและผลิตภัณฑ์น้ำตาล อาหาร อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภาชนะบรรจุอาหารและวัสดุที่เกี่ยวข้อง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รองเท้าและเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เซรามิกและแก้ว เคมีภัณฑ์(เฉพาะที่ไม่ใช้ทำยา) ปิโตรเคมี(ขั้นกลางและขั้นปลาย) สิ่งแวดล้อม กระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและวัสดุที่เกี่ยวข้อง และอื่น ๆ และขอบข่ายการรับรองผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญครอบคลุม ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาการสอบเทียบ การทดสอบ และการทดสอบทางการแพทย์