เนื้อหาวันที่ : 2008-09-30 14:45:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1407 views

นักวิชาการ แนะจับตาส่งออก-ท่องเที่ยว-ลงทุน รับผลกระทบวิกฤติศก.สหรัฐ

สมชาย ชี้วิกฤติภาคการเงินของสหรัฐขณะนี้ กำลังลุกลามไปถึงยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่จะตามมา และเชื่อว่า แผนการฟื้นฟูภาคการเงินของสหรัฐ ด้วยวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติโดยเร็ว

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า วิกฤติภาคการเงินของสหรัฐขณะนี้ กำลังลุกลามไปถึงยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่จะตามมา และเชื่อว่า แผนการฟื้นฟูภาคการเงินของสหรัฐ ด้วยวงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติโดยเร็ว แนวทางแก้ปัญหาคือประเทศขนาดใหญ่ในโลก ทั้ง สหรัฐ ยุโรป จีน ต้องมีความร่วมมือกันในการดูแลสภาพคล่องของโลก ออกกฎระเบียบที่เกื้อกูลต่อกัน

.

.

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

.

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย นายสมชาย กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบทันที และปัญหาที่จะตามมาต่อไป คือภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนโดยตรง ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมออกแผนฉุกเฉินรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อเข้าไปดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอ  การดูแลช่วยเหลือภาคสถาบันการเงิน หากเกิดปัญหา

 ..

"รัฐบาลต้องมีแผนที่จะอัดฉีดสภาพคล่องให้เพียงพอกับความต้องการ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีปัญหาก็ตาม  พร้อมใช้นโยบายการคลัง ส่วนนโยบายการเงิน อาจต้องคงดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลศก." นายสมชาย กล่าว

 ..

ด้านนายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาในสหรัฐขณะนี้ ได้เพิ่มความเสี่ยงแก่ไทยใน 2 ด้าน คือความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และภาคอสังริมทรัพย์ 

 ..

ภาคการส่งออกน่าจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/51 เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และการกู้เงินในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีความเข้มงวด และระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอล 

 ..

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์จะหดตัวลงตาม สถานการณ์โลก โดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ลดลง ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

 ..

นายสมภพ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเน้นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่าการเติบโต เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวเช่นกัน  กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องมีการประสานความร่วมมือในการกำหนดนโยบายการเงินการคลังที่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน

 ..

"ตอนนี้ต้องวิเคราะห์ตลาดโลกให้ดีว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมแผนรับมือ...มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะประชาสงเคราะห์ไม่จำเป็นต้องมีเพิ่มเติม แต่ควรเตรียมเงินไว้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ดูจากสหรัฐที่ขาดเงินจนต้องขอให้สภาคองเกรสอนุมัติเงินมาอัดฉีดสภาพคล่อง"นายสมภพ กล่าว