เนื้อหาวันที่ : 2008-09-30 14:06:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2984 views

จับตา 7 เหมืองโปแตชในอีสาน

การทำเหมือแร่โปแตชในภาคอีสาน เป็น การทำเหมืองใต้ดิน โดยขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินเกิน 100 เมตร ไชเป็นอุโมงค์ใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน โดยเจาะอุโมงค์ลงไปสกัดเอาแร่ใต้ดินออกมาเป็นโพรงกว้าง เมื่อขุดลงไปก่อนจะถึงชั้นแร่โปแตช จะผ่านชั้นเกลือหินมหาศาลเขาก็จะขุดเกลือขึ้นมากองไว้บนดิน พอพบแร่ก็ขนขึ้นมาเพื่อแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมีในการแยกและแต่งแร่ซึ่งจะทำบนผิวดิน หรือโรงงานแต่งแร่

โดย : กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

.

ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจเพียงว่าโครงการเหมืองแร่โปแตช มีแต่ที่จังหวัดอุดรธานีเท่านั้นเพราะมีปัญหาความขัดแย้งออกตามสื่อต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมีความพยายามผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน 7 โครงการใน 6จังหวัดภาคอีสานซึ่งคนส่วนใหญ่แม้แต่อยู่ในจังหวัดนั้นก็ไม่รับรู้ข้อมูล

.

การทำเหมือแร่โปแตชในภาคอีสาน เป็น การทำเหมืองใต้ดิน โดยขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินเกิน 100 เมตร ไชเป็นอุโมงค์ใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน โดยเจาะอุโมงค์ลงไปสกัดเอาแร่ใต้ดินออกมาเป็นโพรงกว้าง เมื่อขุดลงไปก่อนจะถึงชั้นแร่โปแตช จะผ่านชั้นเกลือหินมหาศาลเขาก็จะขุดเกลือขึ้นมากองไว้บนดิน พอพบแร่ก็ขนขึ้นมาเพื่อแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมีในการแยกและแต่งแร่ซึ่งจะทำบนผิวดิน หรือโรงงานแต่งแร่ ตัวแทนบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีต รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม / ที่มา : เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตข จ.สกลนคร ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น

.

เหมืองแร่ใต้ดิน - เป็นสาระสำคัญในพรบ.แร่ ปี 2545 ที่คนไทยไม่รู้เลย ว่าในพรบ.แร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี2545 มาตรา 88/3 ว่า "การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินที่มิใช่ที่ว่างอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกิน 100 เมตร ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ว่าผู้ขอมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้"

.

นั่นหมายความว่ากฎหมายนี้ "อนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั่วประเทศ โดยผู้ได้สัมปทานได้สิทธิการทำเหมืองใต้ดินลึกกว่า100 เมตร และไม่ต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าของที่ดินข้างบนว่าจะทำเหมืองใต้ดินล่วงไปใต้ดินที่อยู่ในกรรมสิทธิของผู้อื่น"

.

ตัวแทนบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีต รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม

/ ที่มา : เอกสารประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตข จ.สกลนคร ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น

.

กฎหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ลงมติเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2543 รัฐสภาได้ลงมติให้ผ่านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แร่ เป็นเอกฉันท์เมื่อปี พ.ศ. 2545 เหตุผลเพื่อให้มีการทำเหมืองใต้ดินคลุมพื้นที่กว้างขึ้น โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการมีสิทธิการทำเหมืองในพื้นที่ขอประทานบัตร 

.

ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและพัฒนาแหล่งแร่ใต้ดิน ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อถกเถียงต่อความไม่ชอบมาพากลของการแก้ไขร่าง ว่าเจตนารมณ์ของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แร่ ยังคงเหมือนเดิมที่จะอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั่วประเทศไทยได้ โดยได้สิทธิการทำเหมืองใต้ดินลึกกว่า 100 เมตร และไม่ต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองใต้ดินล่วงแดนกรรมสิทธิของผู้อื่น ปัจจุบันโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน 6 โครงการกำลังยื่นขออนุญาตเปิดพื้นที่ตาม พรบ.แร่ ปี 2510 มาตรา 6 ทวิ ที่ระบุว่า

.

" เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัย เกี่ยวกับแร่ได้...."

.

การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน เกิดภายหลังการแก้ไขพรบ.แร่ ปี 2545 ซึ่งเดิมกฎหมายแร่ไทยไม่อนุญาตให้ทำเหมืองใต้ดิน แต่ฝ่ายนักการเมืองและฝ่านนายทุน ได้ผลักดันให้มีการแก้ไข พรบ.แร่ในปี 2545 ให้ทำเหมืองใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินได้ทั่วประเทศ แล้วจึงทำให้มีการยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในอีสาน ได้แก่

.
1. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ. นครราชสีมา 1

13 พฤษภาคม 2548 บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อ.คง อ.บัวใหญ่ อ.บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง จ. นครราชสีมา 28 แปลง เนื้อที่ 280,000 ไร่

.
2. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ. นครราชสีมา 2

12 กรกฎาคม 2548 บริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ ต.ด่านช้าง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 3 แปลง เนื้อที่ 30,000 ไร่

.
3. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ขอนแก่น

5 กรกฎาคม 2548 บริษัท กรุงเทพโยธาอุตสาหการ จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช 10 แปลง เนื้อที่ 100,000 ไร่ ในท้องที่ ต.บ้านทุ่ม ต.บ้านหว้า อ.เมือง และ ต.บ้านฝาง ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

.
4. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.มหาสารคาม

17 กุมภาพันธ์ 2548 บริษัทไทยสารคามอะโกร โปแตช จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช ในท้องที่ ต.หนองเม็ก และ ต.บ่อพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่

.
5. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร

ปี 2519 - 2520 กรมทรัพยากรธรณีเจาะสำรวจแร่ที่ อ.วานรนิวาส อ.พรรณานิคม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พบแร่โปแตชชนิด Carnallite และ Sylvite กุมภาพันธ์ 2522 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราชเป็นพื้นที่ เพื่อการสำรวจ ดลอง ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับแร่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพรบ.แร่ 2510 เมษายน 2540 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ไปเยือนจีน และชักชวนให้จีนมาลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในไทย โดยได้ลงนามบันททึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540

16 พฤษภาคม 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่

17 กันยายน 2547 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้เจ้าของโครงการและกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่โปแตชจังหวัดสกลนคร ตามแผนการให้ความรู้ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่

.
6. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ
กันยายน 2516 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มเจาะสำรวจแร่โปรแตช

กุมภาพันธ์ 2522 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510

ปี 2525 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มก่อสร้างอุโมงค์ที่ 1 เข้าสู่ชั้นแร่

มีนาคม 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้โครงการทำเหมืองแร่โปแตช ที่เภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน แทนโครงการอุตสาหกรรม ผลิตเกลือหินและโซดาแอช ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

กันยายน 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (บริษัท APMC) และให้บริษัทดังกล่าวเข้าไปดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการได้ในฐานะตัวแทนของกรมทรัพยากรธรณี

ปี 2541 - 2542 บริษัท APMC พัฒนาการทำเหมือง จนถึงชั้นแร่ ที่ระดับความลึก 180 เมตร จากผิวดิน
ตุลาคม 2545 - 2547 บริษัท APMC ประกาศเชิญชวนผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการ (Strategic Investor)

28 คุลาคม 2547 บริษัท APMC ยื่นคำขอประทานบัตรในการดำเนินโครงการฯ ในเขตท้องที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และ ต. ห้วยทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่จำนวน 9,708 ไร่

.

กระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดพื้นที่ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. แร่ 2510 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา เดิมโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอนุญาตให้ยื่นคำขอเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ จำนวน 2,500 ไร่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่บริษัทได้ขออุทธรณ์ขยายพื้นที่เป็น 10,000 ไร่ พร้อมส่วนขยายอีก 6,000 ไร่ ซึ่งตามกฎหมายแล้วบริษัทต้องขอมาทั้งหมด 16,000 ไร่

.

ปัจจุบันบริษัทได้ทบทวนพื้นที่แล้ว ทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อขอเสนอการประกาศเปิดพื้นที่ทั้งหมด 40,000 ไร่ โดยครอบคลุมเป็นพื้นที่ทำเหมืองเดิม และขยายขอบเขตการประกาศให้ควบคุมพื้นผิวดินที่สมบูรณ์ โดยระบุพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินจริงแล้ว 10,000 ไร่ นับรวมพื้นที่กองหางแร่จำนวน 6,000 ไร่ เข้าไปด้วย ซึ่งการทำเหมืองจะมีท่อส่งหางแร่จากจุดที่ทำเหมืองห่างออกไป 7 กิโลเมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกภายหลัง บริษัทจึงตีกรอบพื้นที่ที่มีการทำเหมือง ท่อส่งหางแร่ และพื้นที่เก็บหางแร่ออกเป็น 4 เหลี่ยม คิดเป็นพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 40,000 ไร่ อย่างไรก็ตามบริษัทมีปัญหาเรื่องภาวะการเงินแย่ โดยได้ขอกู้มาจากธนาคารออมสิน 20 ล้านบาทเมื่อกลางปี 2549 และใกล้จะหมดแล้ว

.

ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ เร่งขอเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมี นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะ ก.ก.พิจารณาอนุมัติเปิดพื้นที่สำรวจเหมืองแร่ มาตรา 6 ทวิ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้เปิดพื้นที่สำหรับสำรวจ ทดลอง ศึกษา หรือวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้กับเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรในพื้นที่ดังกล่าวได้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอเรื่องให้นายเกษม พิจารณาและลงนามอนุมัติอีกครั้ง หากมีการอนุมัติจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

.
7. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี

สำรวจแล้วเสร็จไปแล้วและขณะนี้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่ ในเขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่ ซึ่งปัจจุบันบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาซื้อกิจการดำเนินโครงการอยู่ และพยายามเร่งรัดขั้นตอนการรังวัดปักหมุดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและโรงงานแต่งแร่

.

รวมพื้นที่ทั้งสิ้นขณะนี้จะมีการพัฒนาเหมืองแร่ใต้ดินในอีสานประมาณ 654,145 ไร่ ซึ่งล้วนอยู่ท่ามกลางชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งที่ในต่างประเทศจะห้ามมิให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินในเขตชุมชนแล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีเป้าหมายจะพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีต่อเนื่องจากเกลือและโปแตชในพื้นที่ภาคอีสาน

.

ความเสี่ยงและผลกระทบจากการทำเหมืองใต้ดิน ที่เคยเกิดในต่างประเทศคือแผ่นดินถล่ม หรือทรุด หรือเพียงสูบน้ำบาดาลทำนาเกลือยังเกิดดินทรุดได้ กองเกลือที่เค็มมาก ๆ และกากหางแร่จะถูกขนขึ้นมากองเป็นภูเขากลางลานโล่งไม่มีหลังคาปกคลุม หากฝนตกหนัก หรือเกิดน้ำท่วม เกลือหลายล้านตันจะถูกชะไหลลงนาข้าว แหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านต้องดื่ม ต้องใช้ จะปนเปื้อนเกลือเค็ม ๆ และสารเคมี

.

ปกรณ์ สุวานิช นักธรณีวิทยาให้ความเห็นไว้ว่าการทำเหมืองใต้ดินแบบโครงการเหมืองแร่โปแตชในอีสานอาจก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาก เพราะพื้นที่ทำเหมืองแร่เป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่น และเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งต่างจากที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในอเมริกานั้นพื้นที่ทำเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดเป็นทะเลทราย ไม่มีประชากรอาศัยมากนัก ในแคนนาดาก็เช่นกันจะทำเหมืองแร่โปแตชกันในพื้นที่ทุ่งโล่ง หากเป็นการทำเหมืองที่ต้องการแร่ในชั้นเกือบทั้งหมด จะมีปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน ซึ่งจะไม่เกิดทันทีทันใดแต่ก็จะค่อยๆทรุดเป็นบริเวณกว้าง และหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน กองเกลือที่เก็บไว้บนผิวดินซึ่งไม่มีอะไรปกคลุม ก็จะละลายลงสู่ที่สาธารณะได้ง่าย การแต่งแร่และอบแร่ให้แห้ง หากไม่มีการปกปิดที่ดี ฝุ่นเกลือและโปแตชสามารถปลิวไปตกในบริเวณรอบๆ ได้ตามทิศทางลม

.

ในประเทศแคนาดาเริ่มพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในปี พ.ศ. 2486 หลังค้นพบแร่โปแตชโดยบังเอิญจากการขุดเจาะหาน้ำมันที่จังหวัดซัสคัสชีแวน (Saskatchewan : SK) ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่มีปริมาณสำรองมากและดีที่สุดในโลก สามารถใช้ได้นานถึง 200 - 300 ปี การทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศแคนาดาเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2505 โดยก่อสร้างเหมืองโพแตชใต้ดินแห่งแรกที่เรสวิลล์ (Rasville) เมืองเอสเทอฮาเซ (Esthehazy) จังหวัดซัสคัสชีแวน (Saskatchewan : SK) โดยบริษัทของสหรัฐอเมริกา ด้วยเทคนิคการทำเหมืองใต้ดินลึก 1,030 เมตร และขยายพื้นที่มากขึ้นใน10-20 ปี ต่อมาเพื่อผลิตแร่โปแตชป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี

.

.

ในปัจจุบันมีการผลิตแร่โปแตชอยู่ 2 แห่ง คือพื้นที่ K1 และ K2 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท IMC มีกำลังการผลิต 4.2 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2514 แคนาดายังได้ค้นพบแหล่งแร่โปแตชเพิ่มเติมที่เมืองเอทเลนติก(Atlantic) จังหวัด นิวบรุนวิค (New Brunswick) ซึ่งได้มีการทำเหมืองขึ้น 2 แห่งในปี พ.ศ. 2526 - 2527 (James Beaton. Efficient Fertilizer Use-Fertilizer Use...A Historical Perspective) ปัจจุบันแคนาดาเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกแร่โปแตชเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยปี ค.ศ. 2000 มีปริมาณการส่งออกประมาณ 43% ของโปแตชในตลาดโลก (Gary Pearse. Potash. อ้างถึงใน www.nrcan.gc.ca/mms/cms/cmg/content/2000/46.pdf) มูลค่าการส่งออกประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีการทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินจำนวน 9 แห่งและเหมืองแร่โปแตชแบบเหมืองละลายจำนวน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดซัสคัสชีแวน (Suskatchewan) และนิวบรุนวิค (New Berunswick)

.

ซัสคัสชีแวน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคนาดา ทำเหมืองแร่โปแตชมากที่สุดในแคนาดาและมากที่สุดในโลก มีพื้นที่ ประมาณ 651,900 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 996,194 คน ความหนาแน่นของประชากรประมาณ 1.52 คน/ตร.กม. ใหญ่กว่าอุดรฯ 55 เท่า พื้นที่ครึ่งหนึ่งเป็นป่าไม้ หนึ่งในสามเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และหนึ่งในแปดเป็นแหล่งน้ำ (จ.อุดรฯ มีพื้นที่ 11,943.80 ตารางกิโลเมตร อุดรฯมีประชากร 1,539,348 คน ความหนาแน่นของประชากร 129 คน/ตร.กม.หรืออุดรฯ มีความหนาแน่ของประชากรมากกว่าซัสคัสชีแวน 85 เท่า) เหมืองแร่โปแตช

.

ส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของซัสคัสชีแวนมีกำลังการผลิตกว่า 30% ของโลก ทั้งนี้ประมาณ 5 %ขายในประเทศ ประมาณ 50 % ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา (แร่โพแทชในสหรัฐประมาณ 70 - 80% มาจากซัสคัสชีแวน) รวมถึงส่งขายแถบฝั่งทะเลแปซิฟิค เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลี และอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2547 ซัสคัสชีแวนมีมูลค่าการผลิตแร่โปแตชถึง 2.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 17 ล้านตัน

.

จิม แฮดี (Jim Headry) ผู้เชียวชาญทางธรณีเคมี (geochemical) มหาวิทยาลัยซัสคัสชีแวน ได้ศึกษาติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองใต้ดินต่อระบบน้ำใต้ดินนานกว่า 20 ปี โดยได้ศึกษาชั้นน้ำใต้ดินที่ระดับความลึกประมาณ 2-3 เมตร ในจังหวัดซัสคัสวชีแวน พบว่ามีการแพร่กระจายของสารเคมีปนเปื้อนลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินถึงแม้ว่าจะไม่มีทางน้ำ หรือ ลำห้วยอยู่บนผิวดิน ทั้งนี้สารเคมีได้แพร่กระจายสู่สายน้ำใต้ดินทั้งสาย ทั้งนี้เขาได้ระบุถึงสาเหตุการปนเปื้อนนั้นว่าเกิดจากพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เช่น บ่อเก็บหางแร่โปแตช และโรงเก็บแร่ขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนชั้นน้ำใต้ดิน (aquitard) ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนสู่น้ำใต้ดิน (Keith Solomon. Prof. find 'aquitards' thwart contamination. http://www.crsng.ca/science/spark/hendry_e.htm)

.

ผลกระทบที่รุนแรงอีกอย่างหนึ่งของการทำเหมืองใต้ดินโดยเฉพาะในเขตชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่ คือการทรุดตัวของผิวดิน ทั้งนี้ Mr. William O. Mackasey (W.O. Mackasey. Mining Operation Under Residential Areas. 2002 อ้างถึงใน www.miningwatch.ca) นักธรณีวิทยาชาวแคนาดา ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่มากว่า 40 ปี ได้ทำการศึกษาการทรุดตัวของดินจากการทำเหมืองใต้ดินในเขตพื้นที่ชุมชน สรุปว่าผลกระทบที่เกิดจากการทรุดตัวของเหมืองค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองใต้ชุมชนเมืองมีมากมาย เช่น ทำให้บ้านแตกร้าวหรือถูกทำลาย เกิดรอยแยกใกล้กับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือใต้ถนน ประชาชนอยู่ในภาวะเสี่ยงจึงมีประชาชนจำนวนมากต้องย้ายบ้าน บ้างก็ต้องรื้อถอน หลังจากตรวจทางธรณีวิทยาพบว่ามีการทรุดตัวของเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อชุนชนที่ตั้งอยู่บนเหมือง

.

ภาพจำลองพื้นที่ตั้งโรงแต่งแร่เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี

ที่มาของภาพ : บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี)

.

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น