เนื้อหาวันที่ : 2008-09-30 09:51:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1198 views

พลังงาน ยันไทยไม่ขาดแคลนเอทานอล แต่ Q4 ของทุกปีจะเกิดภาวะตึงตัว

พลังงาน ระบุสถานการณ์การผลิตเอทานอลในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปีจะเกิดปัญหาตึงตัวแต่ไม่ถึงขั้นประสบภาวะขาดแคลน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูปิดหีบอ้อยส่งผลให้ราคาโมลาสสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตเอทานอลหันไปส่งออกแทน ซึ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนบริหารปริมาณวัตถุดิบให้ดีก็จะไม่มีปัญหาการขาดแคลน

ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุสถานการณ์การผลิตเอทานอลในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปีจะเกิดปัญหาตึงตัวแต่ไม่ถึงขั้นประสบภาวะขาดแคลน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูปิดหีบอ้อยส่งผลให้ราคาโมลาสสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตเอทานอลหันไปส่งออกแทน ซึ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนบริหารปริมาณวัตถุดิบให้ดีก็จะไม่มีปัญหาการขาดแคลน

.

"ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปีจะมีกระแสข่าวเรื่องการตึงตัวของปริมาณเอทานอล ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูปิดหีบอ้อยซึ่งเหมือนกันทั่วโลก แม้แต่บราซิลที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายและเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเป็นเช่นนี้ปริมาณโมลาสที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายและนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลก็จะถูกแย่งซื้อ" นาย พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

.

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ค้าน้ำมัน จะต้องวางแผนรองรับ หากวางแผนได้ดีก็จะไม่มีปัญหาขาดแคลน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และคิดว่าสูตรราคาเอทานอลในปัจจุบันที่อิงราคาตลาดโลกมีความเหมาะสมแล้ว

.

"การที่เชลล์ระบุว่าจะขาดแคลนเอทานอลก็เนื่องจากมีการจัดการบริหารที่ไม่ดีพอ เท่าที่ทราบมีการซื้อเอทานอลจากกลุ่มไทยแอลกอฮอล์ แต่จากที่ราคาโมลาสขยับขึ้น ไทยแอลกอฮอล์จึงหันไปส่งออกโมลาสแทน ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่ผู้ค้าทุกรายจะต้องปรับตัวรับภาวะที่เกิดขึ้น" นายพรชัย กล่าว

.

สำหรับราคาเอทานอลในช่วงฤดูกาลหีบอ้อยราคาจะอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ช่วงปลายปีหรือหลังปิดหีบอ้อยแล้วราคาจะสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาขยับขึ้นจาก 18 บาท/ลิตร เป็น 22 บาท/ลิตร และหลังเกิดปัญหาตึงตัวผู้ค้าได้ขายในราคาพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นอีก 2 บาท เป็น 24 บาท/ลิตร ขณะที่ช่วงล้นตลาดผู้ค้าเอทานอลส่วนใหญ่จะแย่งกันขายทำให้ราคาลดลงต่ำกว่าราคากลางที่ทางการประกาศ