เนื้อหาวันที่ : 2008-09-25 09:20:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1289 views

ประธาน สรท.คาดวิกฤติการเงินสหรัฐฉุดยอดส่งออกของไทยปีหน้าหดลง 4%

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) คาดปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐส่งผลให้ความสามารถในการซื้อสินค้าของสหรัฐลดลงฉุดยอดส่งออกของไทยในปี 52 ร้องสายการเดินเรือชะลอเก็บค่าธรรมเนียมเอกสารเพิ่มกว่า 60%

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) คาดปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐส่งผลให้ความสามารถในการซื้อสินค้าของสหรัฐลดลงราว 20-30% ฉุดยอดส่งออกของไทยในปี 52 ลดลง 4% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท พร้อมเรียกร้องสายการเดินเรือชะลอเก็บค่าธรรมเนียมเอกสารเพิ่มกว่า 60%

.

"ปัญหาการเงินในสหรัฐจะทำให้ความสามารถในการซื้อสินค้าของสหรัฐอเมริกาลดลงประมาณ 20-30% เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวและเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า" นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธาน สรท.กล่าว

.

อีกทั้งส่งผลต่อเนื่องกับการส่งออกของไทยในปี 52 ที่คาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงประมาณ 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกปี 52 จะไม่เกิน 15% ขยายตัวลดลงจากปี 51 ที่มีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 20% ส่วนจีดีพีของประเทศในปีนี้อยู่ที่ 4-4.5% ซึ่งถือว่าดีแล้ว แต่ปี 52 จีดีพีของประเทศน่าจะอยู่ที่ 3-3.5%

.

สำหรับสินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่ไม่จำเป็น ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ขณะที่สินค้าประเภท อาหารยังคงอัตราการเติบโตใกล้เคียงเดิม ซึ่งผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการส่งออก โดยเน้นตลาดรองหรือตลาดใหม่แทนตลาดสหรัฐที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มาก

.

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศไทย โดยการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยได้จะช่วยให้การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนด้านต่างๆ เติบโตขึ้น

.

"รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น 3 เดือนต้องเริ่มลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เห็นผลงานภายใน 6 เดือน และให้ใช้เวลาในช่วงนี้เปิดใจคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เสนอระบบเลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 มาเป็นเลือกตั้ง 100% แต่มีรายละเอียดแตกต่างจากเดิมนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ภาคเอกชนยอมรับได้" นายสุชาติ กล่าว

.

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่สายการเดินเรือหลายแห่ง ได้แก่ CHENG LIE NAVIGATION, EVERGREEN SHIPPING AGENCY, NYK LINE, OOCL, REGIONAL CONTAINER LINES WAN HAI LINES ประกาศปรับขึ้นราคาค่าธรรมเนียมเอกสาร(DOCUMENT FEE) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการเรียกเก็บในอัตรา 500 บาทต่อชุด เป็น 800 บาทต่อชุด หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นกว่า 60% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่ง สรท.ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออก โดยคาดว่าผู้ส่งออกจะต้องแบกรับภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 1.3 พันล้านบาท

.

ทั้งนี้ สรท.ได้เรียกร้องให้สายการเดินเรือชะลอการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นก็ขอให้มีการปรับขึ้นในอัตราต่ำกว่านี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อผู้ส่งออกอย่างฉับพลัน และผู้ส่งออกรวมทั้งสายการเดินเรือควรจะมีการหารือร่วมกันในการเรียกเก็บค่าภาระเสริมเพิ่มหรือปรับขึ้นค่าภาระเสริมที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การส่งออกของไทยเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

.

โดยเบื้องต้น สรท.ได้หารือกับสายการเดินเรือแล้ว ซึ่งสายการเดินเรือรับปากจะทบทวนมาตรการดังกล่าว และจะยังไม่บังคับใช้อัตราใหม่ในระหว่างนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสายการเดินเรือยังมีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ กับผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มค่าระวางสินค้ามีทิศทางลดลง เนื่องจากปริมาณตู้สินค้าส่งออกมีน้อยกว่าระวางเรือ ซึ่งจะทำให้สายการเดินเรือมีรายได้ลดลง ดังนั้นจึงต้องการหารายได้เพิ่มจากการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออก

.

"ค่าระวางเรือที่ลดลงนั้นไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อผู้ส่งออกเพราะค่าขนส่งเป็นภาระของลูกค้า แต่ค่าธรรมเนียมที่สายเรือเก็บนั้นจะเรียกเก็บจากผู้ส่งออก ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการส่งออกโดยตรง" นายสุชาติ กล่าว