เนื้อหาวันที่ : 2008-09-23 08:52:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1109 views

พาณิชย์ มั่นใจปี 52 เห็นส่งออกโตหลังวิกฤติการเงินสหรัฐกระทบกำลังซื้อหดเล็กน้อยตลาดขยายตัวดี

ปัญหาวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐ(ซับไพร์ม) ส่งผลต่อกำลังซื้อที่อาจปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งย่อมกระเทือนถึงการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวได้ดี

ปัญหาวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐ(ซับไพร์ม) ส่งผลต่อกำลังซื้อที่อาจปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งย่อมกระเทือนถึงการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวได้ดี

.

นาย ราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐ(ซับไพร์ม) ส่งผลต่อกำลังซื้อที่อาจปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งย่อมกระเทือนถึงการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวได้ดี โดย 7 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-กรกฎาคม) การส่งออกขยายตัวถึง 8% ขณะที่สัดส่วนของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯอยู่ที่ 11% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด

.

"ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐหดตัว กำลังซื้อลดลง แต่ก็เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งไทยบริหารภาคการส่งออกได้ดี แต่ก็ยังต้องติดตามดูว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน"

.

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการในการผลักดันการส่งออก โดยการขยายฐานตลาดไปยังตลาดใหม่ รวมถึงเพิ่มช่องทางการขยายตลาดสินค้าให้กับตัวสินค้าที่มีความต้องการใช้ในชีวิตประจำวันสูง และมองหาลู่ทางการค้าสินค้าที่มีมูลค่าสูงทำตลาดด้วย

.

นาย ศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขยายตัวภาคการส่งออกไทยในปีหน้าน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าตัวเลข 2 หลัก ส่วนการส่งออกในปีนี้จะยังคงทำได้ตามเป้าหมายที่ทางรมว.พาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 20% ถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัวลงตาม ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดหลักที่ประเทศไทยได้มีการส่งออกสินค้า

.

"จากกรณีที่สหรัฐฯประสบกับปัญหาพายุเฮอริเคนพัดทำความเสียหายให้กับหลายมลรัฐส่งผลให้มีความต้องการสินค้าบางประเภท เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เข้ามาทดแทนสินค้าบางประเภทที่ชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติสินเชื่อ" นายศิริพล กล่าว

.

นายราเชนทร์  กล่าวว่า จากการพิจารณาตลาดหลักของไทยในปี 2552 ยังมีโอกาสขยายตัวได้เกือบทุกแห่ง ทั้งสหรัฐฯ  ยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ส่วนตลาดใหม่ คาดว่าจะมีโอกาสขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งตลาดจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ แอฟริกาใต้ และมั่นใจว่าสัดส่วนการส่งออกระหว่างตลาดหลักกับตลาดใหม่จะมีสัดส่วน 50/50 ได้ในปีหน้าแน่นอน โดยสัดส่วนการส่งออกตลาดหลักกับตลาดใหม่ในปี 2551 ขณะนี้อยู่ที่ 51.2% กับ 48.8%  

.

สำหรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างๆ มีการประเมินในเบื้องต้นแล้ว โดยตลาดสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ คาดว่าปี 2552 จะมีมูลค่าส่งออก 21,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% , ญี่ปุ่น มูลค่า 21,648 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% ,ยุโรป (15) มูลค่า 22,282 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7%  ,อาเซียน (5) มูลค่า 29,832 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.10%  ยุโรปตะวันออก  3,097.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30%, ตะวันออกกลาง  11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20%, แอฟริกา 8,083.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25%, อินเดีย 4,662.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25%และจีน 21,365 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20%