เนื้อหาวันที่ : 2008-09-22 15:00:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4741 views

วิกฤต Lehman Brothers และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย กระทบทางอ้อมตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก

ณ วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และทำให้เกิดสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ระยะ ในระยะสั้น ส่งผลกระทบทางตรงไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย อย่างไรก็ตามการล้มละลายของ Lehman Brothers อาจมีผลกระทบต่อสภาวะสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคตเนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน

.

ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมพบว่ามีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ขณะที่ในระยะยาว เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้ จากการที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกของไทยลดลงไปด้วย

.

สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive GlobalLiquidity) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime และลุกลามจนถึงปัจจุบัน โดย สศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับในระยะสั้นดังนี้ (1) หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอหากเศรษฐกิจไทยขาดสภาพคล่องตามตลาดโลก (2) เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน

.
ในขณะที่ระยะปานกลางและยาว ประเทศไทยควรจะ

(1) เร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลง

(2)นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession)

(3) นโยบายการค้าจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออกและ

(4) ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น

.

ในวันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกในตลาดการเงินทั่วโลกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย รวมทั้งทำให้สภาพคล่องทั่วโลกตึงตัวรุนแรง จนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล็งเห็นว่าวิกฤตดังกล่าวอาจยังไม่สิ้นสุดลงในระยะสั้นและอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงได้ทำการสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวสู่เศรษฐกิจไทย รวมถึงเสนอแนะแนวนโยบายของไทยในการรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้

.
1. สรุปสถานการณ์

วันที่ 15 กันยายน 2551 Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประกาศล้มละลาย หลังจากนั้นในวันที่ 15-17 กันยายน 2551 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4-5 ต่อวัน และยังคงความผันผวนต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ในขณะเดียวกันสภาพคล่องทั่วโลกได้ตึงตัวรุนแรง (Credit Crunch) และทำให้ดอกเบี้ยตลาด London Interbank Offer Rate (LIBOR) ซึ่งเป็นอัตรามาตรฐานในการกู้ยืมกันในตลาดลอนดอนปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2-3 ภายในวันเดียว

.

เพื่อแก้ปัญหา Credit Crunch ดังกล่าว ในวันที่ 16-18 กันยายน 2551 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบโดยรวมไม่ต่ำกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BOJ) และออสเตรเลีย (RBA) เป็นต้น ในขณะที่วันที่ 17 กันยายน 2551 Fed ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 เพื่อระงับความตื่นตระหนกของนักลงทุน นอกจากนั้นปัญหาดังกล่าวยังลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ทำให้ Fed ต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องซื้อหลักทรัพย์ AIG ถึงร้อยละ 89 เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น

.

อนึ่ง ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าวานิชธนกิจขนาดใหญ่ Morgan Stanley และ Goldman Sachs ก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน โดยในกรณีของ Morgan Stanley กำลังเจรจาควบรวมกับ Wachovia สถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกแห่ง นอกจากนั้นธนาคาร Halifax Bank of Scotland (HBOS) ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินก็มีกระแสข่าวว่ากำลังจะควบรวมกับ Lloyd TSB ของอังกฤษเช่นกัน ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวบ่งชี้ว่าวิกฤตการเงินในสหรัฐที่เป็นผลจากวิกฤต Sub-prime นั้นอาจไม่จบลงในระยะสั้นและมีท่าทีว่าจะลุกลามอย่างต่อเนื่อง

.
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
2.1 ในระยะสั้น วิกฤต Lehman Brothers มีผลกระทบต่อไทยใน 2 ด้าน อันได้แก่ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงนั้นสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
.

ผลกระทบทางตรง: ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยง (Exposure) กับ Lehman Brothers น้อย โดยแบ่งได้เป็น

.

(1) ความเสียหายจากสถาบันการเงินไทยที่ไปลงทุนใน Lehman Brothers โดยตรงซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4.8 พันล้านบาท (ตัวเลขจากคำสัมภาษณ์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)) ซึ่งมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของสินเชื่อสถาบันการเงินทั้งระบบที่อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาท ผลกระทบ: ในภาพรวมคงมีผลกระทบระบบสถาบันการเงินไม่มาก แต่ต้องเร่งตรวจสอบสถาบันการเงินที่เสียหายเฉพาะรายเพื่อรีบดูแลไม่ให้ปัญหาลุกลาม  

.

(2) ความเสียหายจากธุรกิจที่ Lehman Brothers ที่ลงทุนในไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ และปล่อยกู้ในบริษัทที่ Lehman Brothers ลงทุน)

.

ผลกระทบ: Lehman ต้องขายสินทรัพย์ในไทยทั้งหมดไปใช้หนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยบ้าง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ดี น่าจะมีนักลงทุนสนใจซื้อ ในขณะที่ความเสียหายของ Lehman Brothers แต่อาจมีผลลบกับบริษัทที่กู้เงินจาก Lehman Brothers เพราะ ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาแทน ซึ่งอาจจะกระทบสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคต   

.

(3) ความเสียหายจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers เช่น สัญญาการเงินต่างๆ และสัญญาค้ำประกันซึ่งจะมีปัญหาจากคู่สัญญาล้มละลาย (Counter-parties Risk)

.

ผลกระทบ: คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับ Lehman Brothers โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนธุรกรรมที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากเงินลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) ของไทยที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.0 ของสินทรัพย์รวม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์การตั้งสำรองของทางการที่อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์รวมค่อนข้างมาก ดังนั้นผลกระทบต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัด

.
ผลกระทบทางอ้อม: วิกฤต Lehman Brothers อาจมีผลกระทบสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยแบ่งได้เป็น
(1) ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน:

- ในช่วง 3-4 วันแรก ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงมากเหมือนตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงไปวันละประมาณร้อยละ 4-5 ขณะที่ในระหว่างวันมีความผันผวนมาก โดยในช่วงเช้าวันที่ 18 กันยายน 2551 ปรับลดลงถึงประมาณ 30 จุดหรือร้อยละ 5 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นในช่วงบ่าย ทำให้ปิดตลาดลบเพียงเล็กน้อย) เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องขายหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งหลักทรัพย์ไทย เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่ขาดแคลนรุนแรง

.

- แต่ในระยะต่อไป เมื่อสภาพคล่องกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ นักลงทุนต่างชาติอาจจะแห่ถอนเงินออกจากสินทรัพย์รูปดอลลาร์ที่มีแนวโน้มด้อยค่าลง มาถือสินทรัพย์ในสกุลอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นได้

.
(2) สภาพคล่องในประเทศอาจตึงตัวตามตลาดโลก

- ในช่วงแรกที่สภาพคล่องในตลาดโลกตึงตัว ได้ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินในรูปดอลลาร์สูงขึ้นมาก โดยสามารถพิจารณาได้จากอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 เป็นร้อยละ 3.8 ในช่วงสั้น ดังนั้น บริษัทไทย (หรือรัฐบาลไทย) จะมีต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศแพงมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านการขาดสภาพคล่องทั่วโลกได้ส่งผลให้ Risk Premium ของเอเชียและไทย ซึ่งสามารถวัดได้จาก Credit Default Swap หรือ CDS ดอกเบี้ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 1.7 (หรือ 170 Basis Points: bps) ทำให้ต้องหันมากู้เงินภายในประเทศแทน ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในประเทศตึงตัวอย่างเร็ว จนดึงให้ต้นทุนดอกเบี้ยกู้ในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

.
 (3) ค่าเงินบาทจะผันผวนมาก

- ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา หลังจากที่ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างเร็ว(โดยแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 1.05 จาก 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายใน 3 วัน) และแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค (โดยเมื่อเทียบค่าเงินวันที่ 18 กันยายนกับค่าเงินสัปดาห์ก่อนหน้าพบว่า บาทแข็งขึ้นถึงร้อยละ 0.84 ขณะที่ดอลลาร์สิงค์โปร์แข็งขึ้นเพียงร้อยละ 0.42 เปโซฟิลิปปินส์อ่อนลงร้อยละ -0.66 และอินโดรูเปียห์อ่อนลงร้อยละ 0.73) เนื่องจากดอลลาร์อ่อนลงเร็วมากและเงินทุนไหลออกจากไทยยังน้อยกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค

.

- อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ค่าเงินบาทอาจกลับมาอ่อนเร็วได้ โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนไหลออกจากไทยจริง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นจากรายได้ส่งออกและท่องเทียวทีลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ)

.
2.2 ในระยะปานกลางถึงยาว: เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต Lehman Brothers ในวงกว้างได้เนื่องจาก
(1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยลดลง

- เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2551 และปี 2552 และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินใกล้ชิดกับสหรัฐ ขยายตัวชะลอลงมากด้วย นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอลง จะส่งผลตามมายังเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ในระยะต่อไป

.
(2) เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากจะชะลอตามไปด้วย

- ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการถึงประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ชะลอตามไปด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการลงทุนและการบริโภคให้เร่งตัวขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวลง และต้องเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มาก เช่น ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา อินเดีย และจีน เป็นต้น

.
3. แนวนโยบายเศรษฐกิจไทย

สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤต Lehman Brothers ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก (Excessive Global Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา1 ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime ในสหรัฐ และลามสืบเนื่องทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนจนถึงปัจจุบัน โดยสศค. คาดว่า ความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น โดยอาจจะนำไปสู่การควบรวมกิจการของวานิชธนกิจ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันอื่น ๆ อีก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับดังนี้

.
ในระยะสั้น

1. เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก และการระดมเงินกู้ในประเทศแทนการกู้ต่างประเทศที่มีปัญหา หน่วยงานภาครัฐจึงควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว (Capital Account Reversal) และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างรวดเร็ว (Current Account Reversal)

.

2. เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนเกินไป ซึ่งจะกระทบภาคเศรษฐกิจจริง (การส่งออก นำเข้า และการลงทุน)

.
ในระยะปานกลางถึงยาว

1. เพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลงรัฐบาลควรจะเร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐต้องเป็นตัวนำ เช่น เร่งผลักดัน Mega-Project ให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

.

2.นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว (Recession) ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางของจีน (PBOC) เริ่มปรับตัวก่อน โดยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี) ในวันที่ 16 กันยายน 2551 จากร้อยละ 7.47 เหลือ 7.29 หลังจากเงินเฟ้อในจีนเดือนสิงหาคม 2551 ปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 8.7 และร้อยละ 6.3 ในสองเดือนก่อนหน้า

.

3. นโยบายในระยะยาวจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออก โดยกระจายไปสู่ตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากเช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา นอกจากนั้นเพิ่มระดับการค้าขายกันในภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการลดลงของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น

.

4. ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในเอเชีย โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนธันวาคมนี้เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางการลงทุนระหว่างภูมิภาคในสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลเอเชียมากขึ้น เพราะในระยะยาวสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐอาจมีโอกาสด้อยค่าลงมาก ตามเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอลง นอกจากนั้น ควรเร่งความร่วมมือในการประสานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการแข่งขันการแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า (Competitive Devaluation or Beggar-thy-neighbor Policy)

.

กระทรวงการคลัง

ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office 

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th