เนื้อหาวันที่ : 2008-09-17 18:42:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1179 views

อุตฯ ชี้กรณีเลห์แมนประสบภาวะล้มละลายไม่กระทบการส่งออกของไทย

เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯประสบภาวะล้มละลาย มีผลในทางจิตวิทยากระทบทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย คาดว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ 8% และปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยคือการเมืองมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ

.

เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯประสบภาวะล้มละลาย มีผลในทางจิตวิทยากระทบทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย คาดว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ 8% และปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยคือการเมืองมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ

.

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุกรณีที่บริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯประสบภาวะล้มละลายได้ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยา ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นว่าจะมีสถาบันการเงินอื่นเกิดปัญหา และการที่รัฐบาลสหรัฐฯไม่เข้าไปดูแลเนื่องจากเป็นเอกชนต่างจาก 2 สถาบันการเงินที่เข้าไปช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เพราะเปรียบเสมือนรัฐวิสาหกิจ หากรัฐบาลสหรัฐเข้าไปอุ้มเลห์แมนฯ ก็จะมีสถาบันการเงินอื่นเกิดความสงสัยว่ามีการเลือกปฏิบัติ

.

นอกจากจะมีผลในทางจิตวิทยาแล้วในที่สุดจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก โดยในส่วนของการส่งออกรถปิกอัพไม่ได้มีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐ โดยเฉพาะตลาดละตินอเมริกามียอดส่งออกโตถึง 300% และยังมีสินค้าหลักอีกอย่าง คือ ฮาร์ดดิสก์ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

.

ปัจจุบันอุตสาหกรรมส่งออกของไทยในภาพรวมใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงถึง 75% แถมยังทำงานเป็น 2 กะ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทยจะชะลอใช้กำลังการผลิต โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ 8% และปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยคือการเมืองมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ

.

ทั้งนี้ เลห์แมนฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากที่เศรษฐกิจโลกถดถอยตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดปลายปีนี้ จากนั้นจะทรงตัวต่อเนื่องไปจนกว่าปัญหาซับไพร์มจะจบสิ้นลงแล้วเศรษฐกิจจะดีได้ สำหรับสิ่งที่เป็นห่วงคือด้านจิตวิทยาที่จะส่งผลกระทบตามมาหลังจากนี้

.

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะออกมาตรการการเงินใดๆ ว่า ทาง กนง.ไม่จำเป็นต้องทำตาม เพราะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐปัจจุบันถือว่าต่ำมาก ขณะที่สหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ สูงกว่า ยกเว้นญี่ปุ่นที่ต่ำ แต่ถือเป็นกรณีพิเศษ และหากเฟดจะลดดอกเบี้ยลงก็ไม่จำเป็นต้องลดตาม เพราะมีหลายปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารก็ไม่ใช่หัวใจหลักอีกต่อไป ดังนั้นเรื่องดอกเบี้ยจึงไม่มีผลมากต่อระบบเศรษฐกิจ