เนื้อหาวันที่ : 2008-09-17 18:32:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1422 views

รฟม.เล็งเจรจาเจบิคกู้สร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินแบบมีเงื่อนไขหวังดบ.ต่ำ 0.1%

รฟม.เผยเตรียมเจรจาต่อรองกับเจบิคเพื่อขอกู้เงินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบเงินกู้ที่มีเงื่อนไขใช้วัสดุก่อสร้าง-ผู้รับเหมาจากญี่ปุ่น แต่อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1% เชื่อได้ประโยชน์สูงสุด เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินแบบธรรมดากว่า 1 หมื่นล้านบาท

ประธานบอร์ด รฟม.เผยเตรียมเจรจาต่อรองกับเจบิคเพื่อขอกู้เงินในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบเงินกู้ที่มีเงื่อนไขใช้วัสดุก่อสร้าง-ผู้รับเหมาจากญี่ปุ่น แต่อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1% เชื่อได้ประโยชน์สูงสุด เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินแบบธรรมดากว่า 1 หมื่นล้านบาท

. 

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ผู้แทนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค), สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) และ รฟม.จะประชุมร่วมกันเพื่อเจรจาเงินกู้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 5.2 หมื่นล้านบาท และงานระบบรถไฟฟ้า 2.8 หมื่นล้านบาท

 . 

ทั้งนี้ รฟม.จะขอกู้เงินแบบมีเงื่อนไข คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.1% ต่อปี โดยกำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่นในอัตราส่วน 30% ของมูลค่าโครงการ รวมทั้งจะต้องมีผู้รับเหมาก่อสร้างจากญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการดำเนินงานก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม รฟม.มีแนวคิดที่จะขอเจรจาต่อรองเงื่อนไขดังกล่าว โดยขอให้ใช้วัสดุก่อสร้างจากญี่ปุ่นเฉพาะงานระบบรถไฟฟ้า เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟฟ้า และขอให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างไทยสามารถเป็นแกนนำในการดำเนินงานก่อสร้างได้

 . 

"เราต้องขอแยกการใช้วัสดุก่อสร้างจากญี่ปุ่นเฉพาะงานในส่วนของระบบรถไฟฟ้า ไม่รวมงานโยธา เพราะหากรวมงานโยธาจะทำให้ต้องนำเข้าหิน ทราย ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างจากญี่ปุ่น ซึ่งวัสดุดังกล่าวประเทศไทยสามารถผลิตได้อยู่แล้ว แต่งานรถไฟฟ้านั้นประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งหากเจบิคยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบอาณัติสัญญาณ และขบวนรถไฟฟ้าจากญี่ปุ่น แต่ราคาของญี่ปุ่นต้องสมเหตุสมผล ไม่สูงกว่าระบบรถไฟฟ้าของบริษัทอื่นมากนัก" นายสุพจน์ กล่าว

 . 

สำหรับสาเหตุที่ รฟม.เลือกรูปแบบเงินกู้แบบมีเงื่อนไข เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการกู้เงินแบบธรรมดาแล้วจะได้รับผลประโยชน์มากกว่า เนื่องจากการกู้เงินแบบธรรมดาจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ต่อปี ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยต่างกันเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่หากผู้แทนจากเจบิคไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขการต่อรองของไทย ก็เห็นว่าการใช้เงินกู้แบบธรรมดาจะได้ประโยชน์โดยรวมมากที่สุด เนื่องจากเมื่อเปิดประกวดราคาอย่างเสรีจะทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องราคาค่าก่อสร้าง

 . 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบรถไฟฟ้านั้น รฟม.ได้เน้นย้ำให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเดิมที่ให้บริการอยู่ด้วย โดยผู้ให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ จะต้องลงทุนติดตั้งตัวแปรระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อให้ขบวนรถไฟสามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า

 . 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเงินกู้จากเจบิคประมาณเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2551 จะสามารถประกาศประกวดราคาได้ ต่อจากนั้นจะลงนามสัญญาก่อสร้างประมาณกลางปี 2552

 . 

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจบิคยังมั่นใจในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศไทย ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็ยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับเร็วๆ นี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะสอดคล้องกับการขั้นตอนการพิจารณาเงินกู้ที่ใกล้จะแล้วเสร็จและสามารถลงนามสัญญากู้เงิน