เนื้อหาวันที่ : 2008-09-17 12:08:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 999 views

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ส.ค.อยู่ที่ 83.0 จาก 76.9 ใน ก.ค.

ส.อ.ท. เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ส.ค.51 อยู่ที่ 83.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากเดือน ก.ค.51 ที่อยู่ในระดับ 76.9

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ส.ค.51 อยู่ที่ 83.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากเดือน ก.ค.51 ที่อยู่ในระดับ 76.9

.

โดยได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นและการบริโภคภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนียอดคำสั่งซื้อยอดขายภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนตลาดต่างประเทศผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกที่สูงขึ้น 

.

ในส่วนของความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.9 เป็น 89.0 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่มั่นใจมากขึ้นและผู้ประกอบการมองว่าตลาดภายในประเทศจะมีการขยายตัวมากกว่าตลาดต่างประเทศ 

.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น  เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีอยู่  โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะไม่สดใสนักในปี 52 

.

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าภาครัฐควรเร่งสร้างเสถียรภาพทางด้านการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและนักลงทุนต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ประกอบหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน และชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ โดยคงระดับไว้ที่ 33-35 บาท และลดภาษีการนำเข้า รวมทั้งหามาตรการภาษีอื่นๆ ช่วยเหลือภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ