เนื้อหาวันที่ : 2008-09-15 11:06:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2494 views

องค์กรผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการไม่เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

องค์กรผู้บริโภคเสนอให้บริษัทน้ำมันใช้ต้นทุนราคาน้ำจริง ๆ ในการขายน้ำมัน แทนราคาต้นทุนจากประเทศสิงคโปร์ พร้อมคัดค้านรัฐบาลในการลดอัตราภาษีน้ำมัน และเสนอให้ซื้อหุ้นปตท. คืนจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถลดราคาน้ำมันได้ทันที 5 บาท และรับประกันไม่ขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติอีก 10 ปี

องค์กรผู้บริโภคเสนอให้บริษัทน้ำมันใช้ต้นทุนราคาน้ำจริง ๆ ในการขายน้ำมัน แทนราคาต้นทุนจากประเทศสิงคโปร์ พร้อมคัดค้านรัฐบาลในการลดอัตราภาษีน้ำมัน และเสนอให้ซื้อหุ้นปตท. คืนจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถลดราคาน้ำมันได้ทันที 5 บาท และรับประกันไม่ขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติอีก 10 ปี

.

.

.

การลดภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลเป็นการช่วยบริษัทน้ำมันที่มีกำไรอยู่แล้วให้กำไรมากยิ่งขึ้น แทนที่จะคิดราคาน้ำมันให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค การคิดราคาน้ำมันต้องใช้ราคาต้นทุนที่แท้จริงของน้ำมัน ไม่ใช่ราคาน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทน้ำมันใช้น้ำมันจากประเทศแถบตะวันออกกลางและน้ำมันจากในประเทศถึงร้อยละ 21

.
นโยบายลดภาษีสรรพสามิต จึงเป็นเพียงนโยบาย ที่ช่วยสร้างความร่ำรวยให้บริษัทน้ำมันเพิ่มขึ้น และประเทศต้องสูญเสียงบประมาณ 25,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 6 เดือนโดยไม่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันประเทศใช้น้ำมันประมาณ 20,000 ล้านลิตรต่อปี
.

ในขณะที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบของราคาน้ำมัน ทั้งผู้บริโภคและภาคการผลิต แต่บริษัทน้ำมันที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศ สามารถทำกำไรได้อย่างมากมายมหาศาลระดับแสนล้าน ใช้เงินทำการตลาด การโฆษณา สร้างภาพองค์กร

.

ถึงแม้รัฐจะยังชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งโดยข้อเท็จจริง รัฐไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาก๊าซ LPG ที่ใช้ในประเทศได้ถึง 10 ปี และในปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ที่กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นยังเป็นราคาที่ไม่กำไรและไม่ได้อุดหนุนก๊าซ LPG แต่ประการใด (ดังข้อมูลที่ประกอบมาพร้อมกันนี้)

.
ปัจจุบันรัฐโดยกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของหุ้น ปตท. 51.8% ซึ่งมีจำนวนหุ้นประมาณ 1,460 ล้านหุ้น หุ้นที่เหลือของนิติบุคคลอื่นประมาณ 847 ล้านหุ้นๆ ละ 250 บาท ณ วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ดังนั้นจะต้องใช้เงินประมาณ 211,750 ล้านบาท แต่รัฐก็ควรจะลงทุน เพราะปตท.มีกำไรสุทธิประมาณ 100,000 ล้านบาท ลงทุนเพียง 2 ปีกว่าๆ ก็คืนทุน ปีที่ 3 สามารถนำกำไรทำโครงการหลักประกันสุขภาพหรือสร้างรถไฟฟ้าได้สบาย
.

องค์กรผู้บริโภค เสนอให้ประชาชนผู้บริโภค ร่วมมือกันซื้อหุ้นปตท.คืน โดยจ่ายเงินคนละไม่ถึง 3,370 บาท หากคิดจากจำนวนประชากร 63 ล้านคน หรืออาจจ่ายมากน้อยตามสัดส่วนการเสียภาษี ผู้ที่ขับรถยนต์ หรือ ยืมเงินจากกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ก็สามารถนำปตท.กลับมาเป็นของทุกคน ลดค่าน้ำมันได้ทันทีลิตรละ 5 บาท รัฐได้ภาษีสรรพสามิตทุกบาททุกสตางค์ไม่เหมือนกับการลดภาษีน้ำมันของนายกสมัคร สุนทรเวช รวมทั้งรับประกันไม่ขึ้นราคาก๊าซอีกอย่างน้อย 10 ปี

.
หากเราเป็นเจ้าของปตท.

1. ดำเนินการให้ปตท. ลดราคาน้ำมันจำนวน 5 บาท ต่อลิตรในน้ำมันทุกประเภท และหยุดใช้ราคาสิงคโปร์เป็นตัวกำหนดราคาน้ำมัน และหันมาใช้โครงสร้างราคาน้ำมันที่แท้จริงในการคิดราคาจำหน่ายในประเทศ

2. หยุดส่งออกก๊าซธรรมชาติ และหยุดขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติทุกประเภทไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามสัญญาสัมปทานก๊าซธรรมชาติ

3. ขายก๊าซธรรมชาติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในราคาที่เป็นธรรมเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้บริโภค

4. สนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติที่ยั่งยืน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในอนาคต

5. กระทรวงการคลังต้องเร่งตรวจสอบการคืนทรัพย์สินของปตท. ให้ครบถ้วน ในเบื้องต้นที่ยังไม่สามารถซื้อปตท.คืนได้

.
แล้วผู้บริโภคจะทำอะไรได้บ้าง

1. มีส่วนร่วมและสนับสนุนการเงินในการดำเนินการซื้อ ปตท. คืนจากตลาดหลักทรัพย์

2. พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคมนาคม ขนส่ง เช่น หยุดการใช้รถยนต์ส่วนตัวทุกครั้งที่สามารถทำได้ เบื้องต้นอาจเริ่มจากการขับรถวันเว้นวัน หากทำได้

3. ผู้บริโภค ต้องติดตามข้อเท็จจริงที่รอบด้าน เช่น การเพิ่มจำนวนปั๊มก๊าซ NGV ไม่สามารถทำได้หากไม่มีการวางท่อส่งก๊าซในบริเวณนั้น ๆ รัฐไม่ได้อุดหนุนกิจการก๊าซ LPG และก๊าซธรรมชาติ ทั้ง LPG และ NGV ต่างเป็นพลังงานสะอาด

.

ข้อมูลประกอบการแถลงข่าว

.
บริษัทน้ำมันมีกำไรจากการคิดราคาน้ำมัน

เริ่มต้นจากการกำหนดต้นทุนราคาน้ำมันของบริษัทน้ำมันที่สูงกว่าต้นทุนจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทน้ำมันอาศัยราคาน้ำมันที่ซื้อขายล่วงหน้าของประเทศสิงคโปร์มาเป็นราคาต้นทุนน้ำมัน เนื่องจากในอดีตต้องการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับโรงกลั่นน้ำมันในการลงทุน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงของบริษัท เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ซื้อน้ำมันจากประเทศแถบตะวันออกกลาง แล้วดำเนินการกลั่นน้ำมันเหล่านั้นออกจำหน่ายในประเทศ หรือเป็นน้ำมันในประเทศถึงะร้อยละ 21เช่น หากประเทศสิงคโปร์ กำหนดราคาซื้อขายที่ 34 บาท บริษัทน้ำมันก็จะกำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทยอยู่ที่ 35 บาทโดยอัติโนมัติเพราะบวกค่าขนส่ง 1 บาททันที เมื่อรวมกับค่าการตลาด ภาษีกองทุนน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 6 บาท ทำให้ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในท้องตลาดจะอยู่ที่ 41 บาท

.

แต่หากพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายประมาณ 140 เหรียญต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบก่อนการกลั่นของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ซึ่งหากรวมค่าขนส่งและค่าการกลั่นจำนวน 2 บาท ค่าการตลาดและภาษีทุกประเภทอีก 6 บาท ดังนั้นบริษัทน้ำมัน หรือปตท. ควรจะขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 36 บาทก็มีกำไรแล้ว ทั้งที่ๆ ในทางกลับกัน หากปตท.กลั่นน้ำมันส่งออกไปขายที่สิงคโปร์ จะขายได้ในราคาเพียง 33 บาทเท่านั้น เพราะต้องหักต้นทุน 1 บาทสำหรับค่าขนส่งน้ำมัน

.

.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน น่าจะทราบปัญหาการคิดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคนี้ดี เลยได้มีมติเสนอให้บริษัทน้ำมันลดราคาเพื่อลดภาระของประชาชนจำนวน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งบริษัทก็ยังคงมีกำไรมากมาย แต่บริษัทน้ำมันได้สร้างภาพร่วมกันโดยการลดราคาน้ำมันครั้งใหญ่มากกว่าที่รัฐมนตรีขอความร่วมมือถึง 3 บาทต่อลิตร แต่ใครจะรู้บ้างบริษัทเหล่านี้ลดราคาให้เพียง 700 ล้านลิตรเท่านั้น หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 10 ที่รัฐมนตรีเสนอ เพราะประเทศไทยใช้น้ำมันโดยรวมประมาณ 20,000 ล้านลิตรต่อปี

.
ปัญหาขาดแคลนก๊าซ LPG

ปกติก๊าซ LPG ที่ใช้ในประเทศจะได้มาจากสองสามแหล่งที่สำคัญ คือ การแยกจากก๊าซธรรมชาติ ผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี นับตั้งแต่ปี 2000-2007 ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้ทุกปี แต่ในจำนวนที่มากน้อยต่างกัน แต่พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2008 ไม่มีการผลิตก๊าซ LPG จากปิโตรเคมี อาจจะเนื่องมาจากเหตุอื่นใดไม่ทราบได้ ซึ่งน่าจะมีการหาข้อมูลต่อไป

.

ขณะที่ปริมาณการใช้ พบว่า มีการนำก๊าซ LPG ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต (Feed Stock) และโรงงานอุตสาหกรรม ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.8 และ 23.4 ขณะที่ปริมาณการใช้ในการคมนาคม ขนส่ง รถยนต์ และก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 18.2 และ12.2 เท่านั้น แล้วทำไมจึงเกิดภาวะขาดแคลนก๊าซ LPG ในช่วงนี้ ทั้งที่ก๊าซ LPG มีปริมาณเหลือหากพิจารณาจากกำลังการผลิต

.

ตารางแสดงความต้องการและศักยภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติ ((ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน)

.

 

 

 

.
เส้นทางการทำกำไรในธุรกิจก๊าซ
กำไรจากระบบสัมปทานก๊าซธรรมชาติ รัฐได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะได้

บริษัทยูโนแคล เป็นผู้ขุดเจาะและได้รับการสัมปทานจากรัฐบาลหลายสมัย อย่างไร้คู่แข่ง ซึ่งทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลขิงแก่โดยอดีตรัฐมนตรีปิยสวัสดิ์ ได้อนุญาตให้ต่ออายุสัมปทานทั้งที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานเลยด้วยซ้ำ มักมีการเอ่ยทวงบุญคุณกับผู้บริโภคว่า สามารถต่อรองลดราคาค่าก๊าซให้กับผู้บริโภคได้ ทั้งๆ ที่เปรียบเสมือนการสอยมะม่วงหลังบ้านแล้วบอกว่า "เราจะขายมะม่วงลดราคาให้กับเจ้าของบ้าน"

.

เมื่อยูโนแคลขายทรัพย์สินให้แชพลอนเป็นจำนวนเงิน 8 แสนล้าน สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ เกือบ 50% ของทรัพย์สินของยูโนแคลเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

.

ข้อน่าสังเกต ในระบบสัมปทานก๊าซธรรมชาตินี้ประเทศไทยได้เก็บค่าภาคหลวงเพียง 12.5 % และมีการแบ่งผลกำไร แต่รวมแล้วไม่เกิน 50% ของรายได้ ขณะที่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่างแบ่งกำไรให้รัฐบาลโบลิเวียไปถึง 82 %

.
ต้นทุนจริงของก๊าซ LPG ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ

ขณะนี้ราคาก๊าซ LPG ที่รัฐบาลกำหนด ณ โรงแยกก๊าซ ยังมีกำไรและไม่ได้เป็นราคาที่มีการอุ้มก๊าซ LPG แต่อย่างใด เมื่อเทียบกับต้นทุนจริงของการผลิต LPG จากก๊าซธรรมชาติ

.

.

กำไรจากการคิดราคาก๊าซ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปัจจุบัน ได้ตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุด ดูแลปัญหาก๊าซแอลพีจี (LPG) แบบบูรณาการในทุกด้าน โดยเฉพาะการขึ้นราคาเพราะอ้างว่า ขณะนี้ประเทศแบกรับภาระก๊าซ LPG ไว้มาก (หนังสือพิมห์หลายฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม นี้) หากไม่คิดว่ารัฐมนตรีถูกหลอกจากปตท. รัฐมนตรีต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกข้อครหาอุ้มบริษัทก๊าซได้ แถมผู้บริโภค ภาคการผลิตต้องทนทุกข์ เหมือนการคิดราคาน้ำมัน ที่ทำกำไรและไม่ได้คิดจากราคาต้นทุนจริง เพราะทุกคนกำลังถูกหลอก หรือเพียงเพราะบริษัทต่าง ๆ เพียง ต้องการให้ยกเลิกการกำหนดราคา 330 เหรียญต่อบาเรล มาใช้ราคาท้องตลาดในปัจจุบัน และต้องการส่งออกก๊าซเพื่อทำกำไรสูงสุด แต่ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรในประเทศ

.
กำไรจากการผูกขาดท่อก๊าซโดยปตท. เพราะเป็นผู้ใช้ประโยชน์เพียงผู้เดียว

"ความสำคัญของระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่ได้มีเพียงแค่รายได้จากค่าผ่านท่อจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท/ปี แต่ยังหมายถึงกิจการท่อก๊าซฯ ซึ่งผูกขาดตามธรรมชาติ

1. ปัจจุบัน ปตท. เป็นพ่อค้าคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ และผูกขาดการจำหน่ายให้ผู้ใช้ก๊าซ โดยคิดค่าตอบแทนในการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ โดยบวก "ค่าหัวคิว" ในอัตราร้อยละ 1.75% - 9-33% ของราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย ดังนั้นหากผู้ใช้ก๊าซ และผู้ขุดเจาะก๊าซสามารถซื้อขายโดยตรงได้ จะทำให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าขั้นต่ำได้ถึงปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท

.

2. การเลือกปฏิบัติในการขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในราคาถูก ในขณะที่ขายให้โรงไฟฟ้าในราคาแพง ปตท. ขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซฯ จำนวน 5 โรงของตัวเองในราคาประมาณ 150 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) ในขณะที่ขายให้ กฟผ. ในราคา 180 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องร่วมกันแบก โรงแยกก๊าซฯของ ปตท. ไม่ได้แค่ผลิตก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกนอกประเทศ ทำกำไรให้กับบริษัท ปตท.ได้สูงถึง 15,000 ล้านบาท/ปี สูงกว่ากำไรจากท่อส่งก๊าซ ทั้งๆ ที่วงเงินลงทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว

.

3. การเอื้อประโยชน์ให้ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ในการรับซื้อก๊าซจากหลุมราคาที่แพงกว่าก๊าซที่รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซรายอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคู่สัญญารายใหญ่ขายก๊าซให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซ ปตท. แทนที่จะทำหน้าที่เจรจาราคาสัญญาซื้อขายก๊าซให้มีความเป็นธรรม กลับมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหากปตท.สผ. ยิ่งกำไรมาก จากการขายก๊าซแพง ปตท. ก็ได้รับผลพลอยได้จากกำไรของปตท.สผ. ไปด้วยเนื่องจากถือหุ้นอยู่ถึง 66.4%

.

ส่วนภาระค่าก๊าซราคาแพง ปตท.ก็เพียงแค่ส่งผ่านต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซ (และผู้ใช้ไฟในที่สุด) แถมยังบวกค่าหัวคิวเพื่อฟันกำไรอีกต่อด้วย ผลที่ปรากฏก็คือ ก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากแหล่งในอ่าวไทยที่ปตท.สผ. ร่วมทุนมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่นๆ ถึง 28% และก๊าซที่ซื้อจากแหล่งในพม่าที่ ปตท.สผ. ร่วมทุนมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่นๆ ถึง 72% ส่งผลให้ปตท.สผ. มีกำไรถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น โดยรายได้กว่า 90% ของปตท.สผ. มาจากการหากำไรจากคนไทย"

.

"กำไรผูกขาด" อีกส่วนหนึ่งของ ปตท. ยังมาจาก "ค่าผ่านท่อ" (ค่าให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ) ซึ่งคำนวณจากฐานอัตราผลตอบแทนการลงทุนในการวางท่อส่งก๊าซ ซึ่งอดีต ปตท. ได้รับการันตีโดยมติ ครม. สมัยรัฐบาลทักษิณ สูงถึง 16-18%

.

เนื่องจากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% ในแต่ละปีจะถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า อำนาจผูกขาดของ ปตท. โดยเฉพาะในรูป "ค่าหัวคิว" และ "ค่าผ่านท่อ" จึงส่งผลให้ ปตท. มีรายได้มากมายและส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าแพงเกินเหตุ โดยมีการประเมินว่า เงินค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายแต่ละ 100 บาท จะไปตกอยู่กับ ปตท. ถึง 42.90 บาท ในขณะที่ กฟผ. ได้รับเพียง 27.10 บาทเท่านั้น ถ้ารัฐจัดการกับ "กำไรผูกขาด" ทั้งหมดของ ปตท. ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ก็น่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ 13,000 -14,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นส่วนลดค่าไฟ 9.30 -10 สตางค์ต่อหน่วย

.

โดย : องค์กรผู้บริโภค

www.thaingo.org