เนื้อหาวันที่ : 2008-09-15 09:57:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1202 views

ทุนต่างชาติไม่เปลี่ยนใจจากไทยบีโอไอชูความพร้อมนโยบายส่งเสริมลงทุนต่อเนื่อง

บีโอไอ ย้ำภาพการเมืองไทย ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนระยะยาว เผยสัมพันธ์กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นยังเหนียวแน่น เจโทรไม่เปลี่ยนใจชูจุดยืนไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ มั่นใจศักยภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย

บีโอไอ ย้ำภาพการเมืองไทย ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนระยะยาว เผยสัมพันธ์กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นยังเหนียวแน่น เจโทรไม่เปลี่ยนใจชูจุดยืนไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ มั่นใจศักยภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย ด้านการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่เน้นกิจการเอสเอ็มอี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

.

นายสาธิต ชาญเชาว์นกุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการลงทุนของประเทศไทยในขณะนี้ว่า ภาวะการลงทุนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากการหารือร่วมกับตัวแทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้ทราบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่กังวล และไม่คิดว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง จะเป็นสาเหตุทำให้เปลี่ยนใจไม่ลงทุนในไทย

.

"นักลงทุนที่ไม่รู้จักประเทศไทย หรือไม่เคยเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อนอาจชะลอการตัดสินใจเข้ามาลงทุนบ้าง แต่สำหรับนักลงทุนที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี ไม่ได้แสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ โดยนักลงทุนยังเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายในด้านการส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับการเร่งสร้างความเข้าใจของบีโอไอ ในการเดินหน้าตามนโยบายปีแห่งการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนเพิ่มขึ้น" เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

.

นายสาธิต กล่าวว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองจบลงได้เร็ว ก็จะทำให้ภาวะการลงทุนของไทยเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลก็ยังมีแผนเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนตามมา

.

สำหรับภาวะการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2551) มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 548 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 179,088.3 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือปรับลดลง ประมาณ 0.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 553 โครงการ สำหรับมูลค่าการลงทุนปรับลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2550 ประมาณ 43.7% ที่มีมูลค่าเงินลงทุน 318,089.1 ล้านบาท

.

ทั้งนี้ขนาดของโครงการลงทุนจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนนี้ ประมาณ 61.9% เป็นโครงการขนาดเล็กด้านชิ้นส่วน และอุปกรณ์ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ (มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท) เข้ามาลงทุน เพื่อต่อยอดหรือเชื่อมโยงกับกิจการขนาดใหญ่ที่ได้เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2550 สำหรับกิจการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนสูงสุด เป็นกิจการบริการและสาธารณูปโภค รองลงมาคือ กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ และอุปกรณ์ขนส่ง เป็นต้น โดยเป็นการลงทุนในกิจการใหม่ 54.5% หรือมีมูลค่ากว่า 94,037 ล้านบาท และเป็นโครงการขยาย 45.5% มีมูลค่าเงินลงทุน 84,948.9 ล้านบาท