เนื้อหาวันที่ : 2008-09-09 12:06:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9913 views

แผนการมาร์แชลกับธนาคารโลก การพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สงคราม จุดสิ้นสุดของลัทธิการล่าอาณานิคมทางการทหารและได้เปลี่ยนมาเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจแทน หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีประเทศเกิดขึ้นใหม่หลายประเทศ โดยประเทศส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรป ด้วยเหตุนี้เองการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้จึงเปรียบเสมือนแบบทดลองการพัฒนาของนักเศรษฐศาสตร์ไปโดยปริยาย

โลกเศรษฐกิจในทุกวันนี้ มีความสับสนวุ่นวายอยู่ไม่น้อยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่พุ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ราคาอาหารเฟ้อ (Agflation) รวมไปถึงปัญหาความยากจน (Poverty) ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลายที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในรูปของภาวะโลกร้อน (Global Warming)ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ คือผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สองครับ

. 

เหตุที่ผู้เขียนเอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่สองอยู่บ่อย ๆ นั้นเพราะสงครามดังกล่าว คือจุดสิ้นสุดของลัทธิการล่าอาณานิคมทางการทหารและได้เปลี่ยนมาเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจแทน หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีประเทศเกิดขึ้นใหม่หลายประเทศครับ โดยประเทศส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรป ด้วยเหตุนี้เองการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้จึงเปรียบเสมือนแบบทดลองการพัฒนาของนักเศรษฐศาสตร์ไปโดยปริยาย

 .
Marshall Plan กับแผนการฟื้นฟูยุโรป

แรกเริ่มเดิมทีนั้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาวะสงครามจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักครั้งใหญ่ หรือ Big Push ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศผู้ชนะสงครามอย่างสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มต้นเข้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปภายใต้แผนที่เรียกว่า European Recovery Program (ERP) หรือที่รู้จักในชื่อ "แผนการมาร์แชล" (Marshall Plan) ครับ

 .

แผนการมาร์แชล ถูกเรียกตามชื่อของนายพล "จอร์จ มาร์แชล" (General George Marshall) ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ( Secretary of State) ท่านนายพลมาร์แชลเชื่อว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่เผชิญภัยสงครามนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลอเมริกันจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น

.

เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงต้องเข้าไปช่วยยุโรป ? คำถามนี้น่าสนใจมากครับ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมองว่าการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวนอกจากจะเป็นเรื่องที่มิตรร่วมรบต้องช่วยกันแล้ว เงินช่วยเหลือหรือ Foreign Aid ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต ซึ่งลัทธิคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย

. 

 

นายพลจอร์จ มาร์แชล (George Marshall)

.อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงสหรัฐ

เจ้าของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพประกอบจาก wikipedia.org

. 

หลังสิ้นสุดสงคราม ปริมาณเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาบนแผ่นดินยุโรปนั้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญภัยสงครามเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ทั้งนี้ระหว่างปี ค..1948-1951 นั้นมีเม็ดเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกันสูงถึง 12,721 ล้านเหรียญสหรัฐครับ โดยประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ฝรั่งเศส และ เยอรมัน เงินเหล่านี้ถูกใช้ไปในการบูรณะบ้านเมืองรวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ เช่น เหล็ก เครื่องจักร จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

 .

สภาพบ้านเมืองในฮัมบูร์กที่ถูกทำลายย่อยยับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพประกอบจาก wikipedia.org

 .

ดังนั้น การลงทุน (Investment) จึงกลายเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการจะได้มาซึ่งเม็ดเงินลงทุนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยปริมาณการออมที่มากพอที่จะทำให้การลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาคือ แล้วประเทศที่เผชิญภัยสงครามเหล่านี้จะเอาเงินออมมาจากไหนล่ะครับ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศเหล่านี้จะสามารถระดมเงินออมจากประชาชนในประเทศเพราะหลังสงครามทุกคนล้วนตกอยู่ในชะตากรรมเดือดร้อนเหมือนกัน

 .

ด้วยเหตุนี้เมื่อไม่มีเงินออมจากข้างในก็จำเป็นต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ (Foreign Aid) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนเบื้องต้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่า "แผนการมาร์แชล" คือ ต้นแบบของการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากภายนอกประเทศ ซึ่งภายหลังได้เกิดองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank: IBRD) เป็นต้น

 .

เงินช่วยเหลือดังกล่าวได้ถูกนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนทางตรงก่อนครับ (Foreign Direct Investment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Basic Infrastructure) การลงทุนเหล่านี้เป็นการผลักดันครั้งใหญ่โดยรัฐ (Big Push) หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มฟื้นตัวแล้ว ประเทศเหล่านี้เริ่มหันมาร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (European Integration) ก่อนจะพัฒนามาเป็นสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union) ในที่สุดครับ

 .

จะเห็นได้ว่าแผนการมาร์แชล คือ จุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ล้วนมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ หากประเทศที่เข้มแข็งยินดีสนับสนุนในเรื่องเงินช่วยเหลือ

 .

ทุกวันนี้แผนการมาร์แชลได้เป็นต้นแบบในการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศที่เผชิญภัยสงครามรวมไปถึงภัยอื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ แม้กระทั่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ว่าช่วงปี ค..1997-1998 นั้น ที่ประเทศของเราอยู่ในช่วงมรสุมวิกฤตการณ์ทางการเงินนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ชื่อ "แผนการมิยาซาว่า" (Miyazawa Plan) แผนดังกล่าวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยอาศัยเงินลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งหลักการของ Miyazawa Plan ก็คล้าย ๆ กับ Marshall Plan ครับ คือ เงินกู้เงินช่วยเหลือเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 .

ทั้งนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า "การลงทุน" คือ ปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การจะเกิดการลงทุนได้ต้องอาศัยการออมจากภายใน แต่หากไม่มีเงินออมภายในก็ต้องอาศัยเงินกู้จากภายนอกนั่นเองครับ แนวคิด (Concept) นี้จึงกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ซึ่งองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกองค์กร หนึ่ง ที่มีบทบาทในการจัดหาเงินทุนหรือเงินกู้เพื่อการพัฒนา คือ "ธนาคารโลก" หรือชื่อเต็ม ๆ คือ International Bank for Reconstruction and Development ครับ

 .

ธนาคารโลก: แหล่งเงินกู้เพื่อการพัฒนา

ธนาคารโลกหรือที่เรารู้จักในชื่อของ World Bank นั้นถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายปี ค..1945 ครับ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อต้องการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อย่างไรก็ตามเงินทุนส่วนใหญ่ถูกดึงไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรปก่อนพร้อม ๆ กับการสนับสนุนทางการเงินภายใต้แผนการมาร์แชล ด้วยเหตุนี้บทบาทของธนาคารโลกช่วงแรกจึงเน้นไปที่ช่วยเหลือภูมิภาคยุโรปก่อนครับ

 .

 

สัญลักษณ์ของธนาคารโลก

องค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดองค์กรหนึ่ง

ภาพประกอบจาก wikipedia.org

 .

ในช่วงทศวรรษที่ 50 ธนาคารโลกมีบทบาทในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยต่อต้านภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้เองธนาคารโลกจึงเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย (Less Developed Countries)  โดยเป้าหมายแรกอยู่ที่เอเชียครับ ซึ่งธนาคารโลกได้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ทางด้านวิชาการ พัฒนาการศึกษาและการวิจัยให้กับประเทศด้อยพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วยครับ

 .

สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารโลกมีส่วนสำคัญในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 .

เหตุผลสำคัญในการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คือ สาธารณูปโภคเหล่านี้ไม่มีเอกชนคนใดคิดอยากจะทำกันครับ เพราะใช้เงินลงทุนมากดังนั้นรัฐจึงควรมีบทบาทในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งนี้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Linkage หรือ การเชื่อมโยงของหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การมีถนนหนทางสะดวกทำให้เกิดการส่งสินค้าและเปิดตลาดได้กว้างขวางขึ้น การมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นสามารถผลิตแรงงานมีฝีมือในด้านต่าง ๆ มารองรับตลาดแรงงาน เป็นต้น

 .

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ แนวทางการพัฒนาของธนาคารโลกที่ช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนในการพัฒนาให้กับประเทศด้อยพัฒนา นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 เป็นต้นมา ธนาคารโลกเข้าไปมีส่วนในการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศทั้งในเอเชีย ลาตินอเมริกา รวมไปถึงแอฟริกา อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของธนาคารโลกได้รับการวิพากย์จากนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ

 .

ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกจึงถูกวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์สายต่อต้านทุนนิยมว่าเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่ต้องการล่าเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือทางการเงิน นอกจากนี้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเงินช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคอร์รัปชั่นเงินกู้ของรัฐบาลในประเทศแถบแอฟริกาทำให้ธนาคารโลกต้องหันมาต่อสู้เรื่องการคอร์รัปชั่นอีก

 .

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมานั้น ปัจจัยเรื่องทุน (Capital) นับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นการสะสมทุนทั้งทุนกายภาพ ทุนการเงินและที่สำคัญที่สุด คือ ทุนมนุษย์ (Human Capital) นั้น จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ครับพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

 .
เอกสารประกอบการเขียน
  1. FAQs - About the World Bank. จาก The World Bank official website, Worldbank.org.
  2. เนื้อหาและภาพประกอบจาก www.wikipedia.org
  3. Behrman, Greg, The Most Noble Adventure: The Marshall Plan and the Time When Helped Save Europe (Free Press, 2007)